สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ เตือนภัยกลุ่มวัยรุ่น และผู้ที่คิดจะใช้ยาไดคลาซีแพมในทางที่ผิด อันตรายอาจถึงเสียชีวิต แนะผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมของบุตรหลานอย่างใกล้ชิด
นพ.ภาสกร ชัยวานิชศิริ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ไดคลาซีแพม (Diclazepam) เป็นยาคลายเครียดในกลุ่มเบนโซไดอาซีปีน (Benzodiazepine) เช่นเดียวกับไดอาซีแพม (Diazepam) ซึ่งเป็นยาที่แพทย์ใช้เพื่อรักษาภาวะวิตกกังวลผิดปกติรวมถึงโรควิตกกังวลชนิดทั่วไป
ทั้งนี้ไดคลาซีแพม ออกฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง โดยมีความรุนแรงกว่า ไดอาซีแพม 10 เท่า และไม่ได้นำมาใช้เป็นยาในทางการแพทย์ เนื่องจากไม่มีการศึกษาถึงประสิทธิภาพของตัวยารวมถึงความปลอดภัยในมนุษย์ โดยพบว่าเสพติดได้ง่ายแม้ใช้ในขนาดปกติ เมื่อยาไดคลาซีแพมเข้าสู่ร่างกายจะถูกขับออกทางปัสสาวะ ซึ่งสามารถตรวจพบในตัวอย่างปัสสาวะได้นานถึง 10 วัน หลังจากการใช้ยาชนิดนี้ ในต่างประเทศพบรายงานผู้เสียชีวิตจำนวนมากจากการใช้ยาไดคลาซีแพมเกินขนาด เนื่องจากมีการใช้ร่วมกับยาเสพติดชนิดอื่นๆ เช่น มอร์ฟีน เฮโรอีน หรือใช้ร่วมกับการดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งจะทำให้เสริมฤทธิ์การกดระบบประสาท หายใจลำบาก และอาจเสียชีวิตได้
นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กล่าวว่า ในประเทศไทย ไดคลาซีแพม ยังไม่ได้มีกฎหมายควบคุม จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ชนิดใหม่ มีการแพร่ระบาดมากในต่างประเทศมักจะลักลอบจำหน่ายทางอินเตอร์เน็ต ยาชนิดนี้ไม่ได้ใช้ในทางการแพทย์แต่พบแนวโน้มนำมาใช้ในทางที่ผิดสูง จึงขอย้ำเตือนกลุ่มวัยรุ่นรวมถึงผู้ที่จะนำยาไดคลาซีแพมมาใช้ในทางที่ผิดให้ตระหนักถึงอันตรายและผลกระทบต่อตนเองและสังคมให้มาก ซึ่งการใช้ยานี้ติดต่อกันในปริมาณมากทำให้เกิดอันตรายจากการใช้ยาเกินขนาดได้ง่าย ดังนั้นผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมของบุตรหลานรวมถึงบุคคลใกล้ชิด หากพบมีพฤติกรรมเสี่ยงควรพูดคุย บอกกล่าวถึงอันตรายและผลกระทบที่จะตามมา ทั้
ทั้งนี้หากประสบปัญหาเกี่ยวกับยาและสารเสพติดสามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนยาเสพติด 1165 หรือที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ขอนแก่น อุดรธานี สงขลา และปัตตานี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmindat.go.th
- 1420 views