กรมควบคุมโรค คาดผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่พบสูงสุดช่วง ส.ค.ถึง พ.ย.นี้ เป็นฤดูกาลระบาดของโรคช่วงหน้าฝน รณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันฟรี ในประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง เริ่มให้บริการ 1 พ.ค. 67 สามารถขอรับวัคซีนได้ที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ และเอกชนใกล้บ้านที่เข้าร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
คาด “ไข้หวัดใหญ่” พบสูงสุดช่วง ส.ค.-พ.ย.
เมื่อวันที่ 30 เมษายน นพ.ธงชัย กีรติหัตยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึง สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 29 เมษายน 2567 ว่าได้รับรายงานผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่จำนวน 123,739 ราย อัตราป่วย 190.63 ต่อประชากรแสนคนผู้ป่วยเสียชีวิต 5 ราย อัตราป่วยตาย 0.004 ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ 0-4 ปี เท่ากับ 694.46 ต่อประชากรแสนคน รองลงมาคือ อายุ 5-14 ปี (567.15) และอายุ 15-24 ปี (164.88) โดยเมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ปี 2566 คาดว่าจำนวนผู้ป่วยจะเริ่มสูงขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายน และจะพบผู้ป่วยสูงสุดในช่วงเดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายน ซึ่งเป็นฤดูกาลระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ในช่วงฤดูฝน เนื่องจากในช่วงนี้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง และกำลังจะเข้าสู่ช่วงฤดูฝนที่ เป็นฤดูกาลระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่
เริ่มฉีดวัคซีนหวัดใหญ่ 1 พ.ค.ใน 7 กลุ่มเสี่ยง
อย่างไรก็ตาม โรคนี้มีวัคซีนป้องกันแนะนำให้ฉีดปีละ 1 ครั้งช่วงก่อนฤดูกาลระบาด โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง จะช่วยลดความรุนแรงของการป่วย การนอนโรงพยาบาล และการเสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อนของโรคไข้หวัดใหญ่ สำหรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลในปีนี้ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคได้ดำเนินการร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เตรียมการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ประจำปีงบประมาณ 2567 จำนวน 4.51 ล้านโดส โดยจะเริ่มรณรงค์ฉีดวัคซีนระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคมถึง 31 สิงหาคม 2567 หรือจนกว่าวัคซีนจะหมด
ทั้งนี้ประชาชนคนไทยทุกสิทธิการรักษาที่อยู่ใน 7 กลุ่มเสี่ยง สามารถเข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ประจำปี 2567 ได้แก่ 1.หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป (ให้บริการตลอดทั้งปี) 2.เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี 3.ผู้มีโรคเรื้อรัง ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน 4.ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป 5.ผู้ที่เป็นโรคธาลัสซีเมีย และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ) 6.โรคอ้วน (น้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัมหรือมี ดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร) และ 7.ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ นอกจากนี้ยังเตรียมวัคซีนสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่มีความเสี่ยงต่อการสัมผัสโรคไข้หวัดใหญ่ในการทำงานด้วย
นพ.ธงชัย กล่าวอีกว่า องค์การอนามัยโรค แนะนำให้มีการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี เนื่องจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์การระบาดทุกปี ประชาชนกลุ่มเสี่ยงควรรับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี ในช่วงก่อนฤดูกาลระบาดเพื่อลดความรุนแรงของโรคและลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนได้ จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว เข้ารับวัคซีนไข้หวัดใหญ่โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายได้ที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ และสถานพยาบาลเอกชนใกล้บ้านที่เข้าร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และเพื่อความสะดวก ประชาชนกลุ่มเสี่ยง สามารถโทรนัดหมายกับหน่วยบริการล่วงหน้า เพื่อทราบวันเวลาเข้ารับบริการที่แน่นอน พร้อมกันนี้ขอความร่วมมือประชาชนให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด เน้นการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ เพื่อป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
- 2455 views