สธ. ปรับระบบให้หน่วยบริการในสังกัดสำนักงานปลัดฯ 902 แห่ง ใช้ระบบ Financial Data Hub (FDH) เป็นช่องทางในการเบิกจ่ายค่าบริการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เริ่ม 1 เม.ย.นี้ เป็นต้นไป

 

หลังประเมินผลการเบิกจ่าย30 บาทรักษาทุกที่ฯ ใน 4 จังหวัดนำร่อง พบได้ผลดี สะดวกกับทางโรงพยาบาล เดินหน้าสู่ Digital Transformation เต็มรูปแบบช่วยเบิกจ่ายรวดเร็ว โปร่งใส ตรวจสอบได้ พร้อมมาตรฐานรักษาควาปลอดภัยไซเบอร์ เตรียมขยายสู่สิทธิข้าราชการและประกันสังคมต่อไป

 

เมื่อวันที่ 1 เมษายน นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข  เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้พัฒนาระบบศูนย์กลางข้อมูลด้านการเงิน กระทรวงสาธารณสุข (Financial Data Hub : FDH)เพื่อขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพดิจิทัล เชื่อมโยงข้อมูลด้านการรักษาพยาบาลและการเงิน สนับสนุนการเบิกจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ และสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์วางแผนนโยบายด้านสาธารณสุขได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

โดยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา หน่วยบริการในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขทั้ง 902 แห่ง มีการส่งข้อมูลบริการมายัง FDH ครบทุกแห่ง และเมื่อเริ่มนำร่อง 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2567 ได้ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พัฒนาระบบเพื่อสนับสนุนการเบิกจ่ายการค่าบริการของหน่วยบริการ 49 แห่ง ใน 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ แพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด และนราธิวาส พบว่า สามารถส่งข้อมูลได้ครบทุกแห่ง สปสช. รับข้อมูลไปพิจารณาและโอนจ่ายให้หน่วยบริการได้สำเร็จ รวมทั้งมีการขยายไปยังหน่วยบริการอื่นที่พร้อมส่งข้อมูลเพื่อขอรับค่าใช้จ่ายผ่านระบบ FDH ด้วย

 

นพ.สุรโชคกล่าวต่อว่า จากความสำเร็จดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. จึงได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยความร่วมมือการดำเนินการพัฒนาระบบข้อมูลการเบิกค่าบริการสาธารณสุข เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2567 เพื่อพัฒนาระบบข้อมูลการเบิกจ่ายบนระบบคลังข้อมูลสุขภาพของทั้ง 2 หน่วยงาน รองรับการเบิกจ่ายเงินค่าบริการสาธารณสุขกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของหน่วยบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุขผ่าน FDH ได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วน และทันเวลา เพิ่มประสิทธิภาพ ความโปร่งใส และตรวจสอบได้ โดยกำหนดให้วันที่ 1 เมษายน 2567เป็นต้นไป หน่วยบริการในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขทั้ง 902 แห่ง ส่งข้อมูลขอรับค่าใช้จ่ายสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผ่านระบบ FDH เพียงช่องทางเดียว เป็นการเปลี่ยนวิธีส่งข้อมูลจากการบันทึกในระบบเป็นการส่งข้อมูลด้วย"เทคโนโลยีดิจิทัล" แทน โดยระบบ FDH จะเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยบริการและ สปสช. ด้วย API และทำหน้าที่เสมือนเป็นไปรษณีย์ รับและส่งข้อมูลขอรับค่าใช้จ่ายสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

"เรื่องการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) จะมีการให้สิทธิและตรวจสอบสิทธิก่อนเข้าใช้งานระบบ FDH สิทธิการแก้ไขข้อมูล มีการเข้ารหัสข้อมูลส่วนบุคคลจากระบบสารสนเทศโรงพยาบาลก่อนส่งเข้าระบบ FDH ข้อมูลจะถูกจัดเก็บในระบบคลาวด์ ที่มีมาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล ISO/IEC 27001 และ ISO 27799 โดยศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ทำการเจาะระบบหาช่องโหว่ เพื่อนำไปสู่การรักษาความมั่นคงทางไซเบอร์ให้เป็นไปตามมาตรฐาน" นพ.สุรโชคกล่าว

 

นพ.สุรโชคกล่าวอีกว่า สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ยังได้พัฒนาบุคลากรของหน่วยบริการให้สามารถส่งข้อมูลและเรียกเก็บค่าใช้จ่ายได้ถูกต้อง ครบถ้วน ผ่านการประชุมชี้แจงและอบรมผู้ใช้งาน โดยร่วมกับ สปสช. ผู้พัฒนาระบบสารสนเทศโรงพยาบาล และบุคลากรจาก 4 จังหวัดนำร่อง ถ่ายทอดประสบการณ์ ปัญหา อุปสรรค และปัจจัยความสำเร็จในการเบิกจ่ายค่าบริการสาธารณสุขจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รวมถึงสนับสนุนผู้บริหารแต่ละระดับ ในการควบคุม กำกับ ติดตาม การปฏิบัติงานของบุคลากร โดยในระยะต่อไป กระทรวงสาธารณสุขจะดำเนินการให้ระบบ FDH สามารถทำงานร่วมกับระบบสารสนเทศของกรมบัญชีกลางที่ดูแลสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และระบบสารสนเทศของกองทุนประกันสังคม และสิทธิการรักษาพยาบาลอื่นๆ ต่อไป