รมว.สาธารณสุข เผยร่างกฎหมายแยกตัวออกจาก ก.พ. ใกล้ความจริง!  ยกเป็นร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการสาธารณสุขและบุคลากรสาธารณสุข พ.ศ...ชี้ขั้นตอนต้องผ่านสภาฯ เห็นชอบ ตั้งเป้าปี 68 หากสำเร็จเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงช่วยแก้ปัญหาคาราคาซังอัตรากำลังไม่สอดคล้องภาระงาน ลั่น! ไม่คิดตามกระแสข้อกังวลว่า ก.พ.จะยื้อไม่ให้ออกจากระบบ เหตุคนสาธารณสุขอยู่ระบบราชการมากกว่า 50%  

 

หลังจาก นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เข้ารับตำแหน่ง และได้ประกาศนโยบายเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2566 หนึ่งในหลายนโยบายมีเรื่องการสร้างขวัญกำลังใจบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยเฉพาะการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล อัตรากำลัง  เป็นปัญหาคาราคาซังมานาน โดยชูนโยบายเดินหน้ายกร่างระเบียบบริหารราชการบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข มีกฎหมายมารองรับ หรือพูดง่ายๆว่า เสนอแยกตัวออกจาก ก.พ.นั่นเอง

คืบหน้าร่างกฎหมายแยกตัวออกจาก ก.พ.

ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 มีนาคม นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้ากรณีการทำร่างกฎหมายเพื่อแยกตัวออกจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ ก.พ. ว่า ขณะนี้คณะทำงานอยู่ระหว่างดำเนินการเรื่องแผนพัฒนากำลังคนภาพรวม ซึ่งหนึ่งในนั้นมีเรื่องการเตรียมร่างกฎหมายเพื่อขอแยกตัวออกจาก ก.พ. เรียกว่า เป็นร่างพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการสาธารณสุขและบุคลากรสาธารณสุข พ.ศ.. มีการประชุมไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายดังกล่าวใกล้จะแล้วเสร็จ ตั้งเป้าให้แล้วเสร็จภายในปี 2568  

ผู้สื่อข่าวถามว่า ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ยึดตามร่างเดิมที่เคยทำกันมาก่อน หรือยกร่างใหม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ตนยังไม่เคยเห็นร่างเก่า แต่ไม่ว่าอย่างไรเสียต้องเริ่มใหม่ ปรับปรุงให้สอดคล้องกับปัจจุบัน เนื่องจากมีหลายเรื่อง

หากสำเร็จ จะเป็นผลงานรัฐบาลแก้ปัญหาบุคลากร

เมื่อถามว่า หากสามารถแยกตัวออกจาก ก.พ.ได้สำเร็จ ถือเป็นงานชิ้นโบว์แดงของรัฐบาลเพื่อไทยได้หรือไม่ เพราะปัญหาบุคลากรสาธารณสุข อัตรากำลังค้างคามานานมาก นพ.ชลน่าน  กล่าวว่า หากรัฐบาลเห็นชอบ จะเป็นผลงานสำคัญ  เนื่องจากเรื่องกำลังคน หากยังสังกัด ก.พ. ก็ต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบของ ก.พ. ไม่ว่าจะต้องดำเนินการลดกำลังคนภาครัฐ แผนลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็ต้องทำทั้งหมด  แต่หากกระทรวงสาธารณสุข มีกฎหมายในการบริหารงานบุคคลเป็นการเฉพาะ เราจะสามารถดูความจำเป็นเรื่องของกำลังคน แต่ก็ต้องยึดความจำเป็นค่าใช้จ่ายของภาครัฐเป็นหลักเช่นกัน ไม่ใช่ว่าจะทำตามอำเภอใจ เพียงแต่เราจะวางแนวทางอัตรากำลังให้สอดคล้องกับภารกิจงานได้

แยกตัวออกจาก ก.พ.ทางออกบุคลากร

ถามว่าหากแยกตัวออกมาได้ ภาพรวมสาธารณสุขของประเทศจะดีขึ้นหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เป็นเหตุผลหนึ่งที่เราพยายามให้มีการยกร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว เนื่องจากหากเป็นระบบบริการแบบเดิม ก็จะเป็นแพคเทิร์นที่อาจไม่ทันการ กลไกการให้บริการประชาชนจะต้องผ่านกระบวนการต่างๆมากเกินไป ดังนั้น หากเราสามารถลดข้อจำกัด ลดโครงสร้างการทำงาน เพื่อให้ทำงาน ให้บริการประชาชนอย่างรวดเร็วขึ้น เช่น ในพื้นที่กระทรวงฯ มี 12 เขตบริการ หากเราวางองค์กรมารองรับหน่วยบริการนั้นๆ ให้เทียบเท่าส่วนกลางได้ก็จะคล่องตัวขึ้น เป็นการกระจายงานให้สอดรับการบริการประชาชนในพื้นที่นั้นๆ เพราะแต่ละพื้นที่การดูแลสุขภาพไม่เหมือนกัน แค่จังหวัดเดียวยังไม่เหมือนกัน ซึ่งตนพยายามยกตัวอย่างว่า ไม่ควรตัดเสื้อโหล อย่างจังหวัดตาก 4 อำเภอหน้าเขา กับ 5 อำเภอหลังเขาจะใช้มาตราการเดียวกันไม่ได้ โดยขณะนี้เราก็พยายามแก้ปัญหาด้วยมีนโยบายการดูแลพื้นที่เฉพาะขึ้นมาภายใต้ข้อจำกัดที่มี เพื่อให้ดูแลประชาชนให้ได้ครอบคลุมมากที่สุด

“การร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว สิ่งสำคัญเราต้องพูดคุยกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ(คปร.) คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) ซึ่งที่ผ่านมาก็พูดคุยกันมาเรื่อยๆ แนวโน้มถือว่าดี มีความเป็นไปได้” รมว.สาธารณสุข กล่าว

อย่ากังวลปม ก.พ.อาจยื้อ เหตุอัตรากำลังสธ.จำนวนมาก

ผู้สื่อข่าวถามกรณีมีกระแสข้อกังวลในภาคบุคลากรสธ.ว่าจำนวนคนเรามีมากกว่า 4-5 แสนคน จากที่สำนักงาน ก.พ.ดูแลถึง 9 แสนคน จะเป็นการลดอำนาจของเขาหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า อย่าไปคิดเช่นนั้น และเชื่อว่า ก.พ.ไม่ได้คิดมุมนั้น เพราะสิ่งสำคัญต้องคิดว่า จะทำอย่างไรให้เอื้อต่อระบบการดูแลประชาชนจริงๆ มากกว่า

เมื่อถามว่าถือเป็นเรื่องท้าทายหรือไม่ เพราะทุกยุคที่เสนอจะมาติดปัญหาตรงเสนอร่างกฎหมายตลอดจนไม่สามารถแยกตัวออกมาได้ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ท้าทาย เพราะเป็นการปรับโครงสร้างที่ใหญ่ และการปรับเปลี่ยนโครงสร้างต้องอาศัยหลายภาคส่วน ทั้งการมีส่วนร่วม นโยบายต้องชัดเจน ซึ่งเมื่อทำกฎหมายก็ต้องผ่านสภาฯ เห็นชอบด้วย