ผอ.ศูนย์คุณธรรม ชี้การจัดกิจกรรมแก้ผ้าเด็ก ไม่ใช่เสริมการเรียนรู้ แต่เป็นการละเมิดสิทธิเด็กชัดเจน สร้างบาดแผลในจิตใจ แนะทุกฝ่ายหยุดเผยแพร่ภาพกิจกรรม โรงเรียน ครูต้องตระหนักควรคิดกิจกรรมที่สร้างสรรค์จริงๆ
เมื่อวันที่ 11 มีนาคม รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม และอดีตผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงกรณี มีการจัดกิจกรรมโรงเรียนแห่งหนึ่งในภาคอีสาน และให้เด็กเปลื้องผ้า ว่า กรณีที่บอกว่า แม่ของเด็กอนุญาตแล้วนั้น จริงๆ ตนมองว่า เนื่องจากผู้ปกครอง อาจเป็นเพียงชาวบ้าน บางคนจึงอาจให้ความร่วมมือไม่ได้ขัดแย้งต่อกิจกรรมที่โรงเรียนจัดขึ้น
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ตนกังวลนอกเหนือจากพ่อแม่แล้ว ครูอาจารย์ก็จะต้องคิด ว่ากิจกรรมหรือการทำเกมการแข่งขัน ที่อ้างว่าเสริมสร้างพัฒนาการเด็ก เรื่องของการช่วยเหลือตัวเองนั้น เป็นสิ่งที่เหมาะสมหรือไม่ ซึ่งตนยังยืนยันในหลักการว่า เกมการแข่งขันจะเกิดขึ้นในเด็กอนุบาลไม่ได้ แต่สิ่งที่โรงเรียนอนุบาลทั่วประเทศกำลังทำอยู่นั้น ท่านอาจจะสนุกของท่าน แต่เด็กเขาไม่ได้สนุกด้วย อย่ามาบอกว่าอย่าคิดมากกับเรื่องนี้เพราะเป็นเพียงเรื่องสนุกสนานเท่านั้น
“สิ่งนี้จะส่งผลกระทบต่อเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่เป็นผู้แพ้ ยิ่งถ้าเกิดมีการนำมาพูดจาล้อเลียน จะยิ่งทำให้เกิดปัญหา ขณะที่ครูหรือผู้อื่นก็ไปชื่นชมกับเด็กที่ชนะ ลักษณะเช่นนี้เรากำลังสร้างค่านิยม การแข่งขันแพ้ชนะให้เกิดขึ้นในจิตใจของเด็กตั้งแต่ยังเล็ก ซึ่งตาม พ.ร.บ.เด็กปฐมวัย มาตรา 5 เขียนเอาไว้อยู่แล้ว ถ้าการพัฒนาใดๆ ทำให้เกิดผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจ โรงเรียนจะกระทำไม่ได้ ซึ่งรวมถึงกิจกรรม ที่ต้องมีการแข่งขันต่างๆ ไม่เข้าใจในเมื่อเด็ก เขาไม่ได้รู้จักการแพ้ชนะ เขารู้เพียงว่าจะถูกล้อหรือไม่ถูกล้อแล้วจะทำทำไม ดังนั้นสิ่งที่ทำอยู่ผิดหลักจิตวิทยาพัฒนาการ” รศ.นพ.สุริยเดว กล่าว
ดังนั้น หลักการเกณฑ์การแข่งขันไม่ควรทำแล้ว ยิ่งถ้าดูในเนื้อหาเกมแล้ว ตกลงเราจะสอนอะไรกับเด็ก จะสอนสาระการเรียนรู้ผ่านการเล่น หรือที่เรียกว่า learning to play ฉะนั้นจะต้องมีการออกแบบกิจกรรมที่สร้างสรรค์ การที่จะบอกว่า Self help หรือการช่วยเหลือตัวเองเป็นพัฒนาการ เพื่อให้เด็กสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ สามารถติดกระดุมเสื้อได้อย่างรวดเร็ว ก็ต้องถามกลับว่า หากอยากจะทำเช่นนี้จริงๆ ทำไมต้องถอดเสื้อผ้าออกทั้งหมด ให้เหลือเสื้อกล้ามได้หรือไม่ หรือให้ติดเพียงกระดุมเสื้อได้หรือไม่ ทำไมต้องถอดเกลี้ยงล่อนจ้อน ซึ่งตนไม่เข้าใจตรงนี้แม้กระทั่งตอนที่เด็กต้องเปลือยอาบน้ำ ทาแป้งเพื่อรอส่งคืนผู้ปกครองตอนเย็นก็ยังต้องทำในที่มิดชิด
กรณีแบบนี้จะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ว่าสรีระเช่นนี้ไม่ใช่สิ่งที่จะต้องไปเที่ยวโชว์ให้คนอื่นเห็น ผู้ใหญ่ต้องไม่ลืมว่าเด็กจะมีกระบวนการเรียนรู้ หากผู้ใหญ่พาเด็กเปลือยกาย ต่อหน้าผู้อื่นหรือที่สาธารณะ อาจทำให้เด็กบางคนเกิดการเรียนรู้ว่า สามารถโชว์ร่างกายตามที่ต่างๆได้ แล้วถ้าเป็นเด็กเลี้ยงยากเกิดภาวะเช่นนี้เขาจะรู้สึกอย่างไร หากบอกว่าผู้ปกครองยินยอม เรื่องนี้ก็ต้องบอกว่าในภาวะของความยินยอมนั้น หากไม่ใช่เกมที่สร้างสรรค์ แล้วยิ่งเป็นประเด็นที่สุ่มเสี่ยงทำให้เด็กเกิดความรู้สึกที่ไม่ดี ก็ไม่ควรจะทำอยู่ดี ขอยืนยันว่าลูกไม่ใช่ทรัพย์สมบัติของพ่อแม่ ที่คิดอยากจะทำอะไรก็ทำ
"อันนี้มันสุดโต่งเกินไปตรงที่ไปแก้ผ้าเด็กล่อนจ้อน แล้วยังไปแข่งขันกันไม่พอยังไปในพื้นที่สาธารณะ ที่ยากต่อการควบคุม แล้วไม่คิดหรือว่าจะมีคนยกโทรศัพท์ขึ้นมาถ่ายภาพเอาไว้ แล้วไม่คิดหรือว่าบางคนอาจจะนำไปเผยแพร่ผ่านโซเชียลมีเดีย ถ้าลงในลักษณะอย่างนี้มันจะกลายเป็น Boomerang กลับมาหาคนที่เขาตกอยู่ในประเด็นนั้น เพราะฉะนั้นจะต้องระมัดระวัง และขอย้ำว่าเรื่องของพัฒนาการไม่ได้มีเอาไว้ให้แข่งขัน ทุกฝ่ายก็โปรดเข้าใจเอาไว้ด้วย ถ้าต้องแข่งขันให้ได้เหรียญเงินเหรียญทองผู้ปกครองก็เข้าใจผิดครูก็เข้าใจผิดหมด"รศ.นพ.สุริยเดว กล่าว
เมื่อถามว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะต้องดำเนินการอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับเด็กทั้งในวันนี้และอนาคต นพ.สุริยเดว กล่าวว่า ทุกฝ่ายจะต้องระมัดระวังในการนำเสนอเรื่องนี้ รวมถึงตัวสื่อมวลชนเอง จะต้องไม่มีการชี้เป้าสถานที่ หรือลงลึกในกระบวนการมากนัก ตรงนี้เป็นหน้าที่ของต้นสังกัดที่จะต้องเข้าไปดูแล ส่วนภาพใหญ่ของสังคมก็จะต้องร่วมกันเรียนรู้เรื่องสิทธิเด็กเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำขึ้นอีก โรงเรียนที่เกิดเหตุการณ์ รวมถึงโรงเรียน อื่นๆ จะต้องเรียนรู้และพัฒนากิจกรรมที่สร้างสรรค์ ระมัดระวังและเข้าใจเรื่องสิทธิเด็กให้มากขึ้น ว่าอะไรควรทำหรืออะไรไม่ควรทำ ถ้ามีสิ่งใดที่ถูกเผยแพร่ออกไปก็ขอให้ช่วยกันลบทิ้ง ไม่ให้เกิดการเผยแพร่ซ้ำๆทางโซเชียลมีเดีย ผู้เกี่ยวข้องให้อภัยซึ่งกันและกันและเดินหน้าไปสู่การแก้ไขปัญหา พัฒนาลูกหลาน แทนที่จะคุยกันเฉพาะประเด็นที่ตอกย้ำปัญหา ซึ่งจะทำให้เกิดการบาดเจ็บซ้ำสองซ้ำสาม
- 185 views