กุมารแพทย์แนะอ่านออกเสียงให้เด็กฟัง แก้ปัญหาพัฒนาการภาษาช้า เชียร์ คุย-อ่าน ให้ลูกฟังตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ทำเป็นกิจวัตร ย้ำต่ำกว่า 2 ขวบไม่ควรยุ่ง “จอใส” อย่าปล่อยลูกอยู่กับ “พี่เลี้ยงยูทูป”
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักพิมพ์ bookscape จัดกิจกรรม Read-Aloud Workshop: พลังแห่งการอ่านออกเสียง ในโครงการขับเคลื่อนความรู้ด้านการสร้างเสริมสุขภาวะเด็กและครอบครัว และการพัฒนาศักยภาพเยาวชน พร้อมเปิดตัวหนังสือ "Jim Trelease’s Read-Aloud Handbook" (8th Edition) ฉบับภาษาไทย หนังสือสุดคลาสสิกที่ว่าด้วยการอ่านออกเสียงให้เด็กซึ่งโด่งดังไปทั่วโลก
นางสาวณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ของสสส. พบว่าพัฒนาการด้านภาษาล่าช้าในกลุ่มเด็กปฐมวัยเป็นปัญหาที่เริ่มขยายวงกว้าง ข้อมูลจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) ระบุว่าครอบครัวในยุคนี้ให้เด็กใช้สื่อดิจิทัลตั้งแต่อายุน้อยเพราะคิดว่าเป็นเรื่องที่ดี โดยเด็กมักจะดูรายการต่าง ๆ ทางช่องยูทูปและพูดเป็นภาษายูทูปแต่ไม่สามารถสื่อสารกับครูและเพื่อนได้อย่างเข้าใจ และมักมีปัญหาสมาธิสั้น เพราะการเสพสื่อดิจิทัลมีลักษณะของการเปลี่ยนไปมาอย่างรวดเร็วหรือบางครั้งดูหลายแพลตฟอร์มในเวลาเดียวกัน สอดคล้องกับผลการวิจัย “ยุวชนนิเวศน์ของประชากรเจเนอเรชันซี-อัลฟ่าในประเทศไทย (Child Ecology of Thai Generation Z-Alpha)” ที่ระบุว่า “ยูทูป” เข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมากในการเรียนรู้ของเด็กยุคใหม่ โดยคลิปที่เด็กนิยมมากที่สุด อันดับ 1 เป็นแคสเกมและคลิปเกมกว่า 27% ถัดมาคือ การ์ตูน 20% ฟังเพลง 14.3% และวาไรตี้ 9% รวมถึงสารคดี เกมโชว์ รีวิว กีฬา และอื่น ๆ
“ปัญหาเหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้และการพัฒนาทักษะสมองซึ่งวัยแรกเกิดถึง 3 ขวบเป็นช่วงที่สมองมีการพัฒนาสูงสุด ซึ่งเราไม่ควรให้เด็กเล็กใช้สื่อดิจิทัล หรือสื่อจอใส หรือปล่อยเด็กไว้กับสื่อเหล่านี้ โดยสหรัฐอเมริกามีไกด์ไลน์เป็นแนวปฏิบัติเกี่ยวกับจอใสทุกประเภท เด็กไม่ถึง 2 ขวบ พ่อแม่ต้องดูแลไม่ให้เด็กเล่นโทรศัพท์มือถือ และเด็ก 2 ขวบเล่นมือถือได้ไม่เกิน 15 นาที ให้เพียงการสัมผัส สิ่งสำคัญคือควรเน้นให้เด็กดูหนังสือภาพ การอ่านหรือเล่าหนังสือนิทานให้ฟัง การเล่นอย่างอิสระ เป็นต้น กิจกรรมเหล่านี้จะช่วยสร้างเสริมพัฒนาการให้เด็กปฐมวัยได้ดี เปรียบเสมือนการลงเสาเข็มที่แข็งแรง และเมื่อเริ่มโตขึ้นจึงเริ่มใช้สื่อดิจิทัลเพื่อต่อยอดการเรียนรู้ ถ้าทุกบ้านทำได้แบบนี้เราจะกลุ้มใจน้อยลงกับปัญหาต่าง ๆ ที่จะทยอยตามมาเมื่อเด็กโตขึ้นตามวัย แต่หากจำเป็นต้องให้เด็กเล็กใช้สื่อสื่อจอใสก็ควรจำกัดเวลาการใช้แต่ละครั้ง เลือกสิ่งที่ให้ดูโดยเน้นรายการด้านการศึกษา และไม่ควรดูตามลำพังแต่ดูกับคนเลี้ยงเพื่อให้เด็กดูและพูดคุยกับผู้ใหญ่ไปด้วย” นางสาวณัฐยา กล่าว
นางสุดใจ พรหมเกิด
นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้อำนวยการโครงการหนังสือ 'ฝึกอ่าน' ตามระดับ ชุด 'อ่าน อาน อ๊าน' และผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. กล่าวว่า การแก้ไขวิกฤติพัฒนาการด้านภาษาที่ล่าช้าในเด็กปฐมวัยของไทย โดยเฉพาะเด็กอายุ 2-3 ปี ยังพูดและสื่อสารไม่ได้ ต้องใช้ยุทธศาสตร์เชิงรุกเพื่อสร้างปัจจัยบวกด้านสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้คนในชุมชนและสังคมเข้าถึงสุขภาวะ โดยเน้นไปที่กลุ่มปฐมวัยเพื่อให้คนที่เลี้ยงดูเด็กเข้าใจกระบวนการอ่านเพื่อพัฒนาเด็ก เช่น แนะนำให้คุณครูและแกนนำชุมชนอ่านหนังสือให้เด็กฟัง โดยออกเสียงซ้ำ ๆ เหมือนเป็นการย้ำร่องรอยการจดจำชุดคำ และพัฒนาต่อเนื่องจากการอ่าน โดยมีหนังสือเป็นเส้นกลางบูรณาการกับชีวิตประจำวัน เช่น การกิน การกอด การนอน การร้องเพลง หรือออกแบบท่าทาง รวมทั้งทักษะชีวิตพื้นฐานของเด็ก ๆ ซึ่งพบว่า คุณครูแกนนำใช้วิธีอ่านกับเด็ก 3 ขวบที่สื่อสารไม่ได้ เพียง 7-8 เดือน ทำให้เด็กอ่านหนังสือได้เอง
“การอ่านออกเสียงให้เด็กฟังแล้วค่อย ๆ ชี้ตามตัวอักษรให้เด็กเห็น ใช้เวลาไม่นานก็พัฒนาทักษะเขาได้ เราเชียร์ให้แม่ทำเรื่องนี้ตั้งแต่อยู่ในท้อง เสียงที่นุ่มนวล อ่อนโยนของแม่ เด็กได้ยินแล้วจะเข้าถึงหนังสือได้ง่าย ไม่ต้องใช้เวลามาก แค่อ่านออกเสียงให้ฟัง อุ้ม กอดลูก วันละ 10-15 นาที” นางสุดใจ กล่าว
พญ.ปุษยบรรพ์ สุวรรณคีรี
ด้าน พญ.ปุษยบรรพ์ สุวรรณคีรี กุมารแพทย์ สาขาโรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤติในเด็ก เจ้าของเพจ ‘หมอแพมชวนอ่าน’ กล่าวว่า การอ่านหนังสือให้ลูกฟังต้องเริ่มจากมุมมองของพ่อแม่ที่ต้องรู้สึกว่าการอ่านหนังสือให้ลูกฟังคือกิจวัตรที่ต้องทำ ไม่ใช่ภาระ เมื่อมองเห็นเรื่องพื้นฐานแล้วก็ทำการเซ็ตเวลาเพราะความสม่ำเสมอสำคัญที่สุด ซึ่งช่วงเวลาก่อนนอนนับเป็นช่วงเวลาที่ดี เพราะเป็นสัญญาณของการพักผ่อน พ่อแม่ผ่อนคลาย คลื่นสมองเด็กช้าลง และได้ฝึกเรื่องการหลับลึก เป็นการฝึกฝนการทำอะไรเป็นเวลา
“การอ่านหนังสือเป็นเหมือนเครื่องมือเชื่อมความสัมพันธ์ เป็นสื่ออย่างหนึ่ง ทำได้ทุกเวลาที่เราสะดวก แต่อย่างน้อยที่สุดต้องมีเวลาที่สม่ำเสมอทุกวัน เพราะเป็นสิ่งที่ต้องทำเป็นกิจวัตร เวลาอ่านออกเสียงพ่อแม่ไม่ต้องคาดหวังว่าลูกจะนอนฟังนั่งนิ่ง เพราะเด็กต้องเป็นไปตามพัฒนาการ ค่อย ๆ สั่งสมทักษะ ดังนั้น ยิ่งเริ่มเร็วยิ่งดี ในช่วงแรกเกิด ถึง 3 เดือน สายตาของเด็กยังไม่โฟกัส แต่ทักษะที่เด่นมากคือการฟัง การอ่านออกเสียงทำให้เด็กได้เรียนรู้เสียงแม่ รู้จังหวะภาษา ซึ่งแม่จะเลือกหนังสืออะไรหรือภาษาใดก็ได้ที่ตนเองชื่นชอบ ในช่วงที่เด็กอายุ 4-6 เดือน สายตาของเด็กเริ่มมองเห็นชัดขึ้น คอเริ่มแข็งและชอบจับของเข้าปาก หนังสือที่เหมาะกับเด็กวัยนี้ต้องเป็นภาพที่มีสีสัน มีขนาดใหญ่ อาจจะเป็นบอร์ดบุ๊ค หรือหนังสือผ้าที่มีคำบรรยายสั้นๆ หมวดแรกที่เด็กมักสนใจคือสัตว์ ซึ่งกระตุ้นความสนใจได้ดี และแม่ต้องอ่านหนังสือออกเสียงและชี้ตามตัวอักษรให้เด็กกวาดตาตามจากซ้ายไปขวา พร้อมกับการฟัง เป็นการเก็บข้อมูล และคลังภาษาของเด็ก จากนั้นจะเป็นไปตามพัฒนาการ โดยเด็ก 1-2 ขวบจะเริ่มมีความสนใจพิเศษ ช่วงนี้เด็กจะขอร้องให้พ่อแม่อ่านหนังสือเรื่องเดิมให้ฟังซ้ำ ๆ มากกว่าหนึ่งรอบเพื่อเก็บข้อมูลเพิ่มเติม ดังนั้นพ่อแม่หรือคนที่อ่านหนังสือให้เด็กฟัง ต้องไม่เบื่อที่จะอ่าน” พ.ญ.ปุษยบรรพ์ กล่าว
- 1115 views