สสส.เปิดปมเด็กไทยยุค 4.0 จาก 7 ผลวิจัย พบเครียด เรียนแน่น เกินครึ่งกวดวิชา เวลาเล่นน้อยทำความสุขหดหาย ระดมนักวิชาการกลั่นแนวทางแก้ปัญหา-พัฒนาทักษะเด็กรุ่นใหม่ ให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงผันผวน
น.ส.ณัฐยา บุญภักดี
เมื่อวันที่ 21 ก.พ. ที่โรงแรมเดอะ สุโกศล น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ชาติตั้งความหวังว่าอยากเห็นคนรุ่นใหม่ได้รับการพัฒนาทุกมิติและในทุกช่วงวัยให้เป็นคนดี เก่ง และมีคุณภาพ โดยมีทักษะที่จําเป็นในศตวรรษที่ 21 ดังนั้น จึงต้องมีความรู้ที่ชัดเจนว่าปัจจุบันเราอยู่จุดไหนและจะต้องทำอะไร อย่างไร เพื่อไปให้ถึงภาพที่มุ่งหวัง ในปีที่ผ่านมา สสส. จึงสนับสนุนให้มีการศึกษาสถานการณ์ที่เด็กไทยกำลังเผชิญ ตลอดจนศึกษาปัจจัยที่เป็นอุปสรรคและปัจจัยส่งเสริมต่อการพัฒนาของเด็กและเยาวชน ภายใต้ชุดโครงการ“การศึกษาเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนเพื่อก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกศตวรรษที่ 21” ซึ่งมีโครงการวิจัยย่อยจํานวน 7 โครงการ ครอบคลุมหลายบริบทและหลายมิติของชีวิตเด็ก โดย ศ.ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ หัวหน้าโครงการฯ ได้สังเคราะห์ผลการศึกษาทั้ง 7 โครงการวิจัยย่อยและวิเคราะห์เพื่อเสนอแนวทางต่อทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
“จากผลการวิจัยชัดเจนมากว่า เม็ดเงินในการลงทุนกับเด็กปฐมวัยของเรายังน้อยเกินไป ความสุขเด็กไทยในวัยเรียนเหลือน้อย วัยรุ่นมีปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้นซึ่งเป็นผลมาจากการสะสมความเครียดตั้งแต่วัยเด็ก จากโครงสร้างครอบครัวที่มีความพร้อมแตกต่างกัน ความเหลื่อมล้ำของคุณภาพสถานศึกษา การแข่งขันในระบบการศึกษา เด็กแถวหลังที่ถูกละเลยจนเกิดเป็นกลุ่มที่อยู่เฉย ๆ ไม่เรียนและไม่ทำงาน ปรากฎการณ์เหล่านี้พบทั้งเด็กจากครอบครัวฐานะดีและครอบครัวที่ยากไร้ ซึ่งเราไม่ควรปล่อยให้สถานการณ์ดำเนินไปแบบนี้ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคมจะต้องหารือกันว่าในท่ามกลางสิ่งที่เด็กไทยต้องเผชิญนี้ เราจะหนุนเสริมกลไกที่ช่วยเด็กได้อย่างไร ใครต้องมีบทบาทที่เปลี่ยนไปอย่างไร เพราะเราคิดแบบเดิมทำแบบเดิมไม่ได้แน่นอนหากต้องการบรรลุเป้าหมายด้านการพัฒนาคนตามยุทธศาสตร์ชาติ” น.ส.ณัฐยา กล่าว
ศ.ดร. พิริยะ ผลพิรุฬห์
ด้าน ศ.ดร. พิริยะ ผลพิรุฬห์ หัวหน้าโครงการ “การศึกษาเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนเพื่อก้าวทัน การเปลี่ยนแปลงของโลกศตวรรษที่ 21” จากศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่า ผลจากโครงการย่อยทั้ง 7 โครงการ ได้แก่
1. การศึกษางบประมาณรายจ่ายภาครัฐเพื่อการพัฒนาเด็กในช่วงอายุ 0 - 3 ปี ในประเทศไทย ยังมีไม่เพียงพอ
2. การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างครอบครัวประเภทต่าง ๆ บทบาทของบิดาและมารดากับการดูแลทางสาธารณสุขและพัฒนาการของเด็กช่วงอายุปฐมวัยในประเทศไทย พบว่าผู้ดูแลเด็กในครอบครัวแต่ละประเภทต้องการการหนุนเสริมจากภาครัฐแตกต่างกัน เช่น ครัวเรือนที่พ่อแม่อยู่ครบแต่ทำงานนอกบ้านทั้งคู่ ครัวเรือนที่เด็กเล็กถูกเลี้ยงดูโดยญาติผู้ใหญ่ หรือครัวเรือนพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว เป็นต้น ทั้งนี้พบว่าศูนย์เด็กเล็กเป็นตัวช่วยที่สำคัญและภาครัฐควรขยายอายุในการรับเด็กเล็กเข้าสู่ศูนย์เด็กเล็กก่อนอายุ 2 ปี เพิ่มจำนวนศูนย์เลี้ยงเด็กให้เพียงพอเป็นต้น
3. ความสุขของเด็กไทยในวัยเรียน: เด็กประถมศึกษา (6 – 12 ปี) พบว่า เด็กประถมศึกษามีความสุขในระดับปานกลาง โดยปัจจัยความสุขที่เพิ่มขึ้น ขึ้นอยู่ 4 ปัจจัยคือ ครอบครัว โรงเรียน โภชนการและการเล่น ซึ่งพบว่า เด็กต้องการชั่วโมงเรียนต่อวันน้อยกว่า 6 ชั่วโมง การใช้เวลาทำการบ้านน้อยกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน การเรียนเวลาเรียนพิเศษเชิงวิชาการน้อยกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน การได้รับความรักและการยอมรับฟังความคิดเห็นจากครู
4. การกวดวิชาในบริบทของระบบการศึกษาไทย ณ ศตวรรษที่ 21 พบว่านักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ร้อยละ 67.02 และ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ร้อยละ 52.70 กวดวิชานอกเวลาเรียนปกติ และนักเรียนที่กวดวิชามีความสามารถด้านคิดวิเคราะห์ดีกว่านักเรียนที่ไม่ได้กวดวิชา และยังพบว่าครูในโรงเรียนร้อยละ 35 มีรายได้อื่นนอกจากอาชีพครู โดยร้อยละ 52.05 ของครูที่มีรายได้อื่นมาจากการสอนพิเศษของโรงเรียน และร้อยละ 15.38 ของครูที่มีรายได้อื่น มาจากการเป็นติวเตอร์
5. การศึกษาการเล่นเกมของเด็กไทย นักเรียน ป.5-6 และ ม.1-3 พบว่า นักเรียนใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง 21 นาทีต่อวันในการเล่นเกม โดยผู้ชายเล่นเกมโดยเฉลี่ยต่อวันสูงกว่าผู้หญิง นอกจากนี้ พบว่า ผู้ชายที่ติดเกมจะเล่นเกมโดยเฉลี่ยต่อวันสูงที่สุด โดยเท่ากับ 4 ชั่วโมง 40 นาที
6. การพัฒนาความฉลาดรู้ด้านสเตมศึกษาของเด็กไทยเพื่อให้ก้าวไกลทันยุค 4.0 ในเด็กอายุ 15 ปี/ นักเรียนมัธยม เป็นสิ่งที่จะช่วยเสริมศักยภาพเด็กให้มีความพร้อมได้เป็นอย่างดี
และ 7. การพัฒนาองค์ความรู้และขับเคลื่อนการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเยาวชนที่ไม่ได้อยู่ในการจ้างงาน การศึกษา หรือการฝึกอบรมและเยาวชนที่ไม่ได้อยู่ในกิจกรรมการสะสมทุนมนุษย์ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพเยาวชนให้เข้าสู่ตลาดแรงงานอย่างเหมาะสม ในเยาวชนอายุ 15-24 ปี พบว่า กลุ่มเยาวชนที่ไม่ได้อยู่ในการจ้างงาน การศึกษาหรือการฝึกอบรมมีระดับการพัฒนาทักษะชีวิตต่ำกว่าเยาวชนอื่น ๆ ในทุกด้าน รวมถึงมีมุมมองและแนวคิดในการทำงานหรือการเรียนที่แตกต่างไป
สำหรับผลการศึกษาจะทำให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ การสังเคราะห์เชิงนโยบาย และสร้างโมเดลระดับพื้นที่เพื่อช่วยในการส่งเสริมการพัฒนาเด็กที่เชื่อมโยงจากบ้าน สู่ระบบการศึกษาและการเข้าสู่ภาคแรงงานของเยาวชนไทยต่อไป
- 1312 views