คมชัดลึก - สสส.เปิดแอพพลิเคชั่น "ME SEX" ให้ความรู้เพศ-เซ็กส์วัยรุ่น ใช้ภาษาโจ๋เข้าใจง่าย เหมาะสมกับวัย หลังยอดวิวเว็บไซต์ "ทอล์ก อะเบาท์ เซ็กส์" ทะลุ 6 หมื่นต่อเดือน
น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้จัดการแผนสุขภาวะทางเพศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า แผนงานได้จัดทำเว็บไซต์ชื่อ "ทอล์ก อะเบาท์ เซ็กส์" http://talkaboutsex.thaihealth.or.th ตั้งแต่ปี 2552 เพื่อให้วัยรุ่นเข้ามาหาข้อมูลและถามคำถามเกี่ยวกับเพศศึกษา โดยสามารถใช้ทั้งชื่อจริงหรือชื่อสมมุติ เนื่องจากทุกอย่างจะถูกปิดเป็นความลับ ซึ่งทุกคำถามจะมีทีมงานมาตอบ และหากต้องการข้อมูลทางการแพทย์ สสส.ที่มีภาคีเครือข่ายแพทย์ นักจิตวิทยา ก็จะจัดหามาช่วยตอบด้วย ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ดูจากยอดวิวจากไอดีที่ไม่ซ้ำกัน จากปีแรกมียอดวิวแค่หลักพันต่อเดือน แต่ขณะนี้มียอดวิวสูงถึง 6 หมื่นวิวเดือน
"ส่วนใหญ่คำถามมักจะเป็นเรื่องการป้องกันการมีเพศสัมพันธ์ ประจำเดือนไม่มาทำอย่างไร การใช้ยาคุมฉุกเฉิน ส่วนคำถามแปลกๆ เช่น น้ำอสุจิกินได้หรือไม่ เอามาทาหน้าผิวจะดีมั้ย ถุงยางแตกทำอย่างไร ใส่ 2 ชั้นได้มั้ย ยังพบมีคู่รักแต่งงานใหม่ปรึกษาการคุมกำเนิดยังไม่พร้อมมีเด็ก" น.ส.ณัฐยากล่าว
น.ส.ณัฐยา กล่าวอีกว่า ล่าสุดแผนงานได้พัฒนาทำเป็นแอพพลิเคชั่นด้วยชื่อว่า "ME SEX" ซึ่งเหมาะสำหรับวัยรุ่นตอนต้นจนถึงวัยรุ่นตอนปลายระดับมหาวิทยาลัย เมื่อเปิดแอพจะพบกับซิปพร้อมตัวอักษร ME SEX เมื่อลากนิ้วรูดซิปเปิดก็จะเข้าสู่เมนูหลัก จะเน้นเป็นภาพวาดลายเส้นสวยงาม แบ่งหัวข้อออกเป็นหมวดๆ คือ ชาย หญิง โรค รักกับเซ็กส์ ฉุกเฉิน และเว็บบอร์ด แต่ละหัวข้อมีหัวข้อย่อยที่เป็นความรู้ที่เหมาะสมกับวัยรุ่น ใช้ภาษาแบบวัยรุ่นสื่อสารให้เข้าใจง่าย ชัดเจน เช่น ทำไมจู๋ดำ ดูแลน้องจิ๋มอย่างอ่อนโยน ช่วยตัวเองก็ง่ายจัง ทำไมนมเพื่อนไม่เท่านมเรา ฯลฯ ส่วนเว็บบอร์ดจะเชื่อมโยงกลับไปยังเว็บไซต์เพื่อให้สมัครสมาชิกในการถามคำถามต่างๆ ได้ด้วย
น.ส.ณัฐยา กล่าวต่อว่า เนื้อหาแอพจะรวบรวมมาจากคำถามที่วัยรุ่นนิยมเข้ามาถามในเว็บไซต์ ซึ่งแอพมีการพัฒนามาโดยตลอด ล่าสุดเป็นเวอร์ชั่น 1.0.3 ซึ่งยอดดาวน์โหลดยังไม่ถือว่ามาก แค่ประมาณหลักพัน เนื่องจากขณะนี้เปิดให้ดาวน์โหลดฟรีเฉพาะระบบไอโอเอส ส่วนระบบแอนดรอยด์กำลังพัฒนา คาดว่าไม่เกินกลางปีจะเปิดให้โหลดฟรีได้ ซึ่งจะสามารถตอบโจทย์ได้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังไม่มีการโหมโปรโมทโฆษณาตามสื่อหลัก มีเพียงแต่โปรโมทขณะตอนไปจัดกิจกรรมต่างๆ ในสถานศึกษา
"ขอแนะนำว่า ควรเป็นเว็บไซต์ที่เป็นลักษณะเป็นองค์กรหรือหน่วยงาน เช่น โรงพยาบาล คลินิกวัยรุ่น กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มากกว่าเว็บไซต์ที่เขียนโดยชื่อคนแต่ไม่รู้ว่าเป็นใคร แต่ยังมีช่องว่าง เพราะเนื้อหาวิชาการทำให้วัยรุ่นไม่นิยมเข้ามาอ่าน" น.ส.ณัฐยากล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2557
- 361 views