ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เวทีขับเคลื่อนพัฒนาเด็กปฐมวัยฯ เผยข้อมูลเด็กไทยพัฒนาการล่าช้าด้านภาษา 30% แต่อาจไม่ใช่โรคจริง มักมาจากกลุ่มติดสื่อมีเดีย ขณะที่รองอธิบดีกรมอนามัย ขอความร่วมมือ อบจ.ต้นสังกัดรพ.สต.ถ่ายโอน ส่งข้อมูลพัฒนาการเด็ก เหตุยังแตกต่างจากสธ. พร้อมพลิกวิกฤติเป็นโอกาสกรณี เด็กเกิดน้อย 

 

ข้อมูลพัฒนาเด็ก รพ.สต.ถ่ายโอนและสธ.ยังแตกต่าง

นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงสถานการณ์พัฒนาการของเด็กปฐมวัยไทย ภายในงานประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 3 ประจำปี พ.ศ. 2567 เรื่อง การขับเคลื่อนและพัฒนาการเด็กปฐมวัย "3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม เสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยไทย"  ที่โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น   เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า การส่งข้อมูลผลตรวจพัฒนาการเด็กเล็กในหน่วยบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยังมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องภายในระบบ HDC แต่ในกลุ่มของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) หลังจากถ่ายโอนไปยัง อบจ.พบว่า ไม่ได้มีการส่งข้อมูลเข้ามามากเท่าไรนัก ทำให้ไม่ทราบว่า มีการตรวจพัฒนาการหรือไม่ หรือตรวจแต่ไม่ได้มีการรายงาน จึงจะขอความร่วมมือไปยัง อบจ.ที่เป็นต้นสังกัดของ รพ.สต.ให้ช่วยเร่งตรวจพัฒนาการเด็กและลงข้อมูล เป็นความร่วมมือระหว่าง สธ.และกระทรวงมหาดไทย (มท.) เพื่อจะได้ทราบข้อมูลจริงๆ เป็นอย่างไร เนื่องจากข้อมูลที่ได้มาจาก รพ.สต.ที่ถ่ายโอนไปแล้วรายงานมาแตกต่างกันเยอะกับของ สธ.

"ข้อมูลพัฒนาการเด็กสมวัยของ สธ.พบประมาณ 85-89% แต่ของ อบจ.อยู่ที่ประมาณ 70% ถือว่าห่างกันมาก 15-20% เข้าใจว่าน่าจะมีการตรวจ แต่ระบบรายงานอาจจะยังไม่ได้รายงานมาทั้งหมด กรมอนามัยมีศูนย์อนามัยในพื้นที่ 12 ศูนย์ ก็จะประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ให้ช่วยทำงานร่วมกับ รพ.สต.ในการส่งข้อมูลเข้ามา หรือทาง อบจ.มีระบบลงข้อมูลอะไรหรือไม่ ก็อาจจะเชื่อมโยงข้อมูลเข้ามา" นพ.เอกชัยกล่าว

พลิกวิกฤติเป็นโอกาสกรณี เด็กเกิดน้อย  

นพ.เอกชัยกล่าวว่า การที่เด็กเกิดน้อยเป็นโอกาสดีที่เราจะสามารถดูแลเชิงคุณภาพได้มากขึ้น ว่าเด็กเกิดน้อยทำอย่างไรให้มีคุณภาพ ถือเป็นวิกฤติที่ต้องพลิกเป็นโอกาสที่บุคลากรที่ภาคส่วนและพ่อแม่ผู้ปกครองจะหันมาดูแลเด็กมากขึ้น แต่เท่าที่ดูในกลุ่มเด็กพัฒนาการสงสัยล่าช้า 5 ด้าน ด้านที่มีปัญหามากที่สุด คือ พัฒนาการด้านภาษา ตรงนี้พ่อแม่จะมีส่วนช่วยกระตุ้นพัฒนาการด้านนี้ได้ โดยใช้สมุดบันทึกสุขภาพการตรวจพัฒนาการเด็กด้วยตนเอง (DSPM) พ่อแม่จะต้องตระหนักมากขึ้นในการประเมินพัฒนาการลูกด้วยตนเองผ่านสมุดดังกล่าว และเมื่อถึงเวลาไปพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไม่ว่าสังกัดไหน ให้ได้ตรวจพัฒนาการเป็นระยะตั้งแต่ 9 เดือน ถึง 60 เดือน ซึ่งจะตรวจประมาณ 5 ครั้ง จะได้ช่วยกันดูแต่เนิ่น หากพัฒนาการล่าช้าจะได้ช่วยกันกระตุ้นให้พัฒนาการสมวัย

ปัจจัยทำพัฒนาการด้านภาษาเด็กล่าช้า  

นพ.เอกชัยกล่าวว่า สำหรับปัจจัยที่ทำให้พัฒนาการด้านภาษาล่าช้า เกิดจากการเลี้ยงลูกด้วยหน้าจอมากเกินไป พ่อแม่จึงควรลดละเลิกปล่อยให้เด็กจมกับหน้าจอทีวี มือถือ แท็บเล็ตมากเกินไป ให้เวลามีปฏิสัมพันธ์กับลูก โดยมีการเล่นกับลูก ซึ่ง สธ.เคยมีนโยบายเรื่อง Family Free Fun โดย Family คือ ครอบครัวต้องมอบความอบอุ่นใกล้ชิดแก่ลูกๆ Free คือ ให้เด็กได้เล่นอย่างอิสระตามธรรมชาติ ไม่ใช้อุปกรณ์ไฮเทคมากเกินไป ลดการอยู่โลกส่วนตัวของตัวเอง และ Fun คือการเล่นอย่างสนุกสนาน ซึ่งก็มาเสริมกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการเรื่อง 3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม ที่ให้ลดการใช้สื่อหน้าจอในเด็กปฐมวัยก่อนวัย 2 ขวบ เพิ่มกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ผ่านการเล่นหลากหลาย เพิ่มการเล่าและอ่านนิทานสม่ำเสมอ และเพิ่มความรัก ความใส่ใจ เป็นต้น กรณีที่พ่อแม่ไม่มีเวลาดูแลลูกต้องไปทำงาน ซึ่งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจะรับดูแลช่วง 3-6 ขวบ เราพยายามสนับสนุนให้ศูนย์เด็กเล็กขยายลงมาตั้งแต่ 0-3 ขวบมากขึ้น

นโยบาย 4D for Health ช่วยได้

"ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเป็นหัวใจสำคัญ กรมอนามัยจึงเน้นนโยบาย 4D for Health ยกระดับเป็นมาตรฐานของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก คือ Development and Play พัฒนาการเด็กและการเล่น  Diet คือ เรื่องโภชนาการ โดยเฉพาะเนื้อนมไข่ให้เจริญเติบโตสมวัย  ได้นอนหลับอย่างเต็มที่ ซึ่งจะทำไเด็กเติบโตสูงใหญ่ Dental คือช่องปากและฟัน ดูแลตั้งแต่ฟันน้ำนมอย่าให้ผุ ฟันแท้จะได้ขึ้นมาอย่างมีสภาพที่ดี และ Disease ด้านสิ่งแวดล้อมความปลอดภัยและการป้องกันควบคุมโรค อย่างการล้างมือ เด็กป่วยต้องมีการแยกตัว เป็นต้น" นพ.เอกชัยกล่าว

แฟ้มภาพ

ข้อสังเกตเรื่องพัฒนาการล่าช้า

นพ.ธีรชัย บุญยะลีพรรณ หัวหน้ากลุ่มแม่และเด็ก สำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย กล่าวว่า จุดสังเกตเรื่องพัฒนาการล่าช้าด้านภาษา คือ 1.อาการหูไม่ดี ซึ่งเราร่วมมือกับแพทย์หู คอ จมูก ในการตรวจหูเด็กทั่วประเทศ ขณะนี้ตรวจได้ประมาณ 50%  2.เจอว่าเป็นเด็กออทิสติก 1-3% 3.การใช้สื่อมีเดีย ให้เด็กดูโทรทัศน์ ทำให้ล่าช้า ซึ่งอาการของพัฒนาการล่าช้าจะมีระดับตามวัย เช่น เด็ก 1 ขวบ ต้องพูด 1 คำได้ ที่ไม่ใช่คำว่าพ่อแม่ หรือเด็ก 3 ขวบพูด 3 คำได้เป็นประโยคได้ เราต้องรีบวินิจฉันตั้งแต่แรกเกิด ยิ่งเล็กยิ่งดี ส่วนการแยกเด็กพัฒนาการล่าช้าและออทิสติกที่มีอาการคล้ายกันนั้น ยิ่งเล็กยิ่งแยกยาก แต่คนที่ชัดก็จะเป็นโรคที่รุนแรง แต่จริงๆ แล้วถือว่าไม่ยากมากนัก เช่น เราเริ่มต้นเด็กแรกเกิดก็รีบพาลูกเล่านิทานอ่านหนังสือ อย่ามัวแต่ให้มองโทรทัศน์หรือเล่นมือถือ แล้วเด็กต้องมีปฏิสัมพันธ์กับเราดีๆ มองสบตาพ่อแม่ดีๆ

"จริงๆ เด็ก 1 ขวบต้องมองสบตาพ่อแม่เวลาเล่นแล้ว เท่านี้ก็เท่ากับตัดออทิสติกไปแล้ว แต่ถ้าคนเลี้ยงลูกเอาแต่เล่นมือถือ หรือให้ลูกนั่งมองมือถือ มันก็บอกไม่ได้ว่าออทิสติกหรือไม่ใช่ ที่ชอบเรียกว่าออทิสติกเทียม" นพ.ธีรชัยกล่าว

 

ถามถึงกรณีเด็กรุ่นใหม่สื่อสารไม่ค่อยเป็นหรือมีปัญหาเรื่องปฏิสัมพันธ์ นพ.ธีรชัยกล่าวว่า ที่เราพบเด็กกลุ่มที่มองสบตาไม่ได้ เดี๋ยวนี้หลายคนเล่นแชตพิมพ์โต้ตอบได้ พอเจอหน้าไม่กล้าคุยกัน บางอาชีพที่ต้องการทักษะสังคมสูงก็อาจจะหายไป เช่น สื่อสารมวลชน เด็กจะไม่ยอมเป็นเพราะต้องการทักษะสังคมค่อนข้างมาก อย่างหมอก็ต้องคุยกับคนไข้

ถามถึงกรณีเด็กที่เข้าวัยเรียนแล้วแต่ยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ทำการบ้านไม่ได้ เข้าข่ายพัฒนาการล่าช้าด้วยหรือไม่  นพ.ธีรชัยกล่าวว่า ตรงนี้เป็นแขนงย่อย เช่น ทักษะการเขียนคือเขียนไม่ได้ แต่ปัจจุบันเรามีการพิมพ์ในมือถือแทนได้ ซึ่งเราพบไม่มาก

เด็ก 5 ขวบพบพัฒนาล่าช้าด้านภาษา 30%  

ถามว่าปัญหาพัฒนาการล่าช้าจะลดลงไปตามวัยด้วยหรือไม่  นพ.ธีรชัยกล่าวว่า ก็ลดลง แต่ปัญหาที่เรากลัวคือ เด็กบางคนเมื่อพัฒนาการอะไรล่าช้า เมื่อตอนที่เข้าสู่สังคมซึ่งส่วนใหญ่คือ ป.1 ถ้าถูกเพื่อนล้อหรือบูลลี่ เด็กคนนั้นจะตกต่ำลงอย่างมาก ทั้งนี้ เด็กประมาณ 5 ขวบ เราเจอพัฒนาการล่าช้าด้านภาษา 30% จากเด็กพัฒนาการล่าช้าทั้งหมด  แต่เราเชื่อว่าการล่าช้าภาษาไม่ใช่ล่าช้าจริง ส่วนใหญ่เป็นพวกเด็กติดสื่อมีเดีย ตามตัวเลขทั่วโลกจะเจอเด็กที่พัฒนาการล่าช้าจริงๆ เป็นโรคของจริง 9%