ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

งานวิจัยเผยเด็กปฐมวัย 64% จากครัวเรือนยากจนพบเหลื่อมล้ำหลายด้าน ทั้งปัญหาฝากครรภ์ต่ำกว่ากลุ่มอื่น น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ เตี้ยแคระแกร็น รับการดูแลสั่นสอนแบบใช้ความรุนแรงทางกาย-ใจ เหตุระบบสวัสดิการไม่เพียงพอ ชงรัฐจ่ายเงินอุดหนุนเด็ก 0-2 ปี ให้สิทธิพ่อแม่ที่ลาออก มาเลี้ยงลูกเข้าระบบได้ประกันสังคม ม.33 ฝึก-ฟื้นทักษะอาชีพก่อนกลับไปทำงาน หนุน อปท.ทำศูนย์ชั่วคราว มีอาสาสมัครชุมชน อุดรอยต่อดูแลเด็กหลัง 4 โมงจนพ่อแม่มารับ

 

จากกรณีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายเตรียมสนับสนุนสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยหรือศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ที่ตามปกติจะรับดูแลเด็กอายุ 2-3 ขวบขึ้นไป ให้ขยายการดูแลมายังกลุ่มอายุต่ำกว่า 3 ปีด้วยนั้น เนื่องจากยังเป็นช่องว่างในการดูแล จากการที่พ่อแม่ต้องออกไปทำงาน แต่ไม่มีหน่วยงานดูแลโดยเฉพาะนั้น

(ข่าว : เด็กไทยพัฒนาการล่าช้าด้านภาษา 30% แต่อาจไม่ใช่โรคจริง เหตุโยงจากกลุ่มติดสื่อมีเดีย)

เด็กปฐมวัย 64% ในครัวเรือนยากจนพบเหลื่อมล้ำหลายด้าน  

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ภายในงานเสวนา Research Roundup 2024 "เปิดเส้นทางใหม่ นโยบายเด็กและครอบครัวไทย" เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม2567 ที่ผ่านมา จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง (101 Public Policy Think Tank, 101PUB) มีการเสนองานวิจัยที่เกี่ยวกับนโยบายสวัสดิการเด็ก

โดย ดร.สัณห์สิรี โฆษินทร์เดชา คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนองานวิจัยเรื่อง "ระบบสวัสดิการเด็กเล็กเพื่ออนาคต" ว่า สถานการณ์ของเด็กปฐมวัย พบว่า ได้รับความเหลื่อมล้ำในการดูแลเอาใจใส่อย่างรอบด้าน ทั้งสุขภาพที่ดี สารอาหารที่เพียงพอ สวัสดิภาพและความปลอดภัย การเลี้ยงดูอย่างตอบสนอง รวมถึงโอกาสการเรียนรู้ในช่วงเริ่มต้น โดยเด็กปฐมวัย 64% ที่อาศัยในครัวเรือนยากจนที่สุด ยิ่งมีปัญหามากกว่ากลุ่มอื่น เช่น ฝากครรภ์ต่ำกว่ากลุ่มอื่น น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ เตี้ยแคระแกร็น ผอมแห้งมากกว่า อ่านออกรู้จักตัวเลขน้อยกว่า ได้รับการดูแลสั่งสอนแบบที่ใช้ความรุนแรงทางกายหรือใจ เป็นต้น

เปิดปัจจัยสำคัญของความเหลื่อมล้ำ

ดร.สัณห์สิรีกล่าวว่า ปัจจัยสำคัญของความเหลื่อมล้ำมาจาก 1.ระบบสวัสดิการยังไม่ครอบคลุมถ้วนหน้า ไม่ยืดหยุ่น ไม่สะดวก และไม่เพียงพอ เช่น เงินอุดหนุนเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด 600 บาท/คน/เดือนกำหนดเฉพาะกลุ่มคนจนที่มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่า 1 แสนบาท/คน/ปี ทำให้เกิดปัญหาตกหล่น มีช่องโหว่ในการดูแลเด็กเล็ก 0-2 ปี ที่ไม่มีหน่วยงานดูแลมากนัก การส่งเสริมให้เด็กกินนมแม่อย่างน้อย 1 ปีค่อนข้างล้มเหลว เพราะขาดสวัสดิการลาคลอดที่เพียงพอ ขณะที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของรัฐอยู่ไกลที่พัก ไม่สอดคล้องเวลาทำงานพ่อแม่ กระบวนการรับเข้ามีหลายขั้นตอน ขาดแคลนครูและพี่เลี้ยงเด็ก ศูนย์เด็กเล็กเอกชนในระบบมีราคาแพง ส่วนนอกระบบก็ไม่ถูกรับรองตามกฎหมาย

2.วาระเด็กเล็กเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง แต่กลายเป็นเรื่องไม่เร่งด่วน โดยพบว่า งบประมาณด้านการศึกษาของไทยลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 ในส่วนของการศึกษาระดับก่อนวัยเรียน ประถมและมัธยม และ  3.ระบบราชการด้านเด็กปฐมวัย บูรณาการแต่ยากที่จะขับเคลื่อน แม้จะมีการขับเคลื่อนภายใต้คณะกรรมการนโยบายพัฒนาการเด็กปฐมวัย ที่มีสัดส่วนทั้งศึกษาธิการ สาธารณสุข พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และมหาดไทย แต่ไม่มีเจ้าของปัญหา ขาดหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับเด็กปฐมวัยเฉพาะเจาะจง การแก้ไขปัญหาทันท่วงทีต้องขอบูรณาการหลายหน่วยงาน ปัจจัยสำคัญอุปสรรคดูแลเด็กเล็ก

ข้อเสนอระบบสวัสดิการเด็กเล็ก

ด้าน ผศ.ดร.ภาวิน ศิริประภานุกูล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ข้อเสนอระบบสวัสดิการเด็กเล็กเพื่ออนาคตของงานวิจัย คือ 1.ต้องมีระบบแกนกลางตามแนวทางของออสเตรเลีย โดยรัฐบาลอนุมัติและจ่ายเงินอุดหนุนให้กับผู้ให้บริการที่ดูแลเด็กจริงๆ ตามที่พ่อแม่หรือผู้ดูแลเด็กร้องขอ ให้สิทธิแก่เด็กเล็กอายุ 0-2 ปีทุกคนในประเทศไทย ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้ออกใบอนุญาตและกำกับดูแลผู้ให้บริการ กำหนดเป้าหมายและบริหารทรัพยากรในพื้นที่เพื่อใช้ดูแลและพัฒนาเด็กเล็ก 2.เพิ่มผู้ดูแลเด็กในระบบ ซึ่งกลุ่มเด็กเล็กครัวเรือนฐานะไม่ดีมี 1 ล้านคน หากเอาตามมาตรฐานต้องมีผู้ดูแลสัดส่วนเด็ก 3 คนต่อดูแล 1 คน จึงต้องการครูผู้ดูแลเด็กเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2 แสนคนหรือ 1 เท่าตัว การจะหามาระยะเวลาสั้นๆ เป็นไปไม่ได้ ขณะที่พ่อแม่คนใดคนหนึ่งมีการลาออกมาดูแลลูก โดยมาทำงานนอกระบบหรือกิจการอิสระ เพื่อสามารถมีเวลา ก็เสนอว่า ให้สิทธิประโยชน์พ่อแม่/ผู้ดูแลที่ต้องลาออกจากงานประจำมาให้การดูแลเด็กเล็กด้วยตนเอง โดยจ่ายเงินให้พ่อแม่ที่ทำหน้าที่ดูแลเด็ก ให้สวัสดิการประกันสังคมมาตรา 33 พอเด็กอายุ 3-4 ขวบ เข้าโรงเรียนอนุบาลได้ ก็มีสวัสดิการช่วยฝึกทักษะการทำงาน รื้อฟื้นทักษะอาชีพและหางานให้พ่อแม่ทำ

 

"มาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติต้องเพิ่มความยืดหยุ่น อย่างศูนย์เด็กเล็กนอกระบบที่ไม่เข้าเกณฑ์มาตรฐาน ไม่สามารถจดทะเบียนรับสวัสดิการต่างๆ ก็เอาศูนย์เหล่านี้เข้าระบบ โดยเพิ่มลักษณะของบุคลากรไม่ใช่เฉพาะครูที่ต้องจบปฐมวัยอย่างเดียว ขณะที่การเอาศูนย์นอกระบบเข้าระบบ ก็จะสนับสนุนสร้างแรงจูงใจให้ศูนย์พัฒนามีมาตรฐานสูงขึ้นเรื่อยๆ แทนที่จะอยู่นอกระบบแล้วไม่มีการพัฒนา" ผศ.ดร.ภาวินกล่าว

 

ผศ.ดร.ภาวินกล่าวอีกว่า 3.การเพิ่มงบประมาณให้กับระบบ โดยจัดตั้งคณะกรรมาธิการเด็กปฐมวัยในรัฐสภา เพื่อเพิ่มน้ำหนักประเด็นการดูแลเด็กปฐมวัยให้มากขึ้นกับสมาชิกรัฐสภา และจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการการพัฒนาเด็กปฐมวัย เพื่อเพิ่มความชัดเจนให้กับภาพรวมของงบประมาณในการดูแลและพัฒนาเด็กปฐมวัย เป็นแขนขาให้กับคณะกรรมการนโยบายฯ รวมไปถึงขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยของประเทศ  4.จัดทำระบบสนับสนุนการดูแลเด็ก เพิ่มการให้ความรู้ในการดูแลเด็กปฐมวัยเชิงรุกผ่านช่องทางที่หลากหลาย เช่น พัฒนาการเลี้ยงดูเด็กผ่านการเยี่ยมบ้าน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการดูแลและพัฒนาเด็กปฐมวัยให้กับพ่อแม่ผู้ดูแล ให้ อปท.อบรมเพื่อกำหนดวุฒิปฐมวัย เพื่อให้กระจายการกำหนดวุฒิมากขึ้น และ 5.ลดช่องว่างการดูแลเด็กในช่วงรอยต่อเวลาเลิกงาน เสนอจัดทำระบบอาสาสมัครในชุมชนเพื่อให้การดูแลเด็กในช่วงหลังเวลาศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เช่น หลัง 4 โมงเย็น จนถึงช่วงเวลาที่ผู้ปกครองมารับ เพื่อเชื่อมรอยต่อที่ขาดไป และให้ อปท.ผลักดันให้เกิดศูนย์ดูแลเด็กปฐมวัยชั่วคราวในชุมชน