บอร์ด สปสช. เห็นชอบข้อเสนอการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล 30 บาทอัปเกรด “บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่”  4 จังหวัดนำร่อง  และอนุมัติขยายประเภทบริการนวัตกรรมเป็น 8 ประเภท พร้อมจัดสรรงบประมาณสนับสนุน สสจ. และ สสอ. ติดตามขับเคลื่อน 3.65 ล้านบาท รวมกรอบวงเงินดำเนินการทั้งหมด 366.57 ล้านบาท

 

เมื่อวันที่ 3 มกราคม นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบข้อเสนอการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล 30 บาทอัปเกรด “บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่” รวมทั้งเห็นชอบกรอบงบประมาณสำหรับการขยายประเภทบริการนวัตกรรมจาก 4 ประเภทเป็น 8 ประเภทในพื้นที่ 4 จังหวัดนำร่อง คือ จ.แพร่ จ.ร้อยเอ็ด จ.เพชรบุรี และ จ.นราธิวาส รวมวงเงินจำนวน 366.57 ล้านบาท

 

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า การขับเคลื่อนนโยบาย 30 บาทอัปเกรด “บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่” นั้น มีหลักการสำคัญคือ เน้นการเพิ่มเข้าถึงบริการ โดยพัฒนาระบบการบริหารการจ่าย การติดตามประเมินผลให้มีประสิทธิภาพ โดยมีรายละเอียด คือ

 

1. คงรายการและรูปแบบการจ่ายแบบเดิม สำหรับรายการปฐมภูมิไปที่ไหนก็ได้ (OP anywhere) และหน่วยนวัตกรรม โดยมีการปรับระบบการเบิกจ่ายในพื้นที่นำร่อง 4 จังหวัด ใช้ระบบแสดงตนยืนยันสิทธิเมื่อสิ้นสุดการรับบริการเช่นเดียวกับสวัสดิการข้าราชการ เพื่อความมั่นใจการเข้ารับบริการของประชาชนและให้เบิกจ่ายรวดเร็ว

 

2. เน้นการจัดระบบเพื่อควบคุมการบริหารการเบิกจ่ายให้มีประสิทธิภาพ ในหน่วยบริการและรายการบริการที่มีอยู่ เช่น คลินิกเอกชน, คลินิกการพยาบาลฯ, ค่าบริการไตวายเรื้องรัง, ค่าอุปกรณ์ (Instrument), ปฐมภูมิไปที่ไหนก็ได้, เจ็บป่วยฉุกเฉินข้ามจังหวัด (OPAE) โดยพิจารณาการออกแบบการจ่ายให้มีประสิทธิภาพ และเอื้อต่อการตรวจสอบ

 

3. เพิ่มการทำงานแบบมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน ทำงานร่วมสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) หน่วยบริการ และ สปสช.เขต โดยให้ สสจ. และ สสอ. มีบทบาทเป็นหน่วยกำกับดูแล เพื่อจัดกลไกการกำกับการเข้าถึงบริการ คุณภาพและมาตรฐานบริการ การประเมินผลและตรวจสอบการเบิกจ่ายค่าชดเชยบริการของหน่วยบริการในพื้นที่

 

 นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ในส่วนการขยายประเภทบริการนวัตกรรมจาก 4 ประเภท เป็น 8 ประเภท ในพื้นที่ 4 จังหวัดนำร่องจะเพิ่มหน่วยบริการจากเดิมที่มี ร้านยาที่ให้บริการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย, คลินิกการพยาบาลฯ ให้บริการทำแผล ตรวจรักษาโรคเบื้องต้น การพยาบาลพื้นฐานและการบริหารยาตามแผนการรักษาของหน่วยบริการประจำ การพยาบาลที่บ้าน, คลินิกเทคนิคการแพทย์ บริการเจาะเลือดที่บ้าน และคลินิกกายภาพบำบัด บริการฟื้นฟูผู้ป่วยระยะกลาง 4 กลุ่มโรค โดยจะเพิ่มเติมหน่วยบริการอีก 4 ประเภท คือ 1.คลินิกเวชกรรม ให้บริการตรวจรักษาโรคเฉียบพลัน (Acute) หรือโรคเรื้อรัง (Chronic) ใน 42 กลุ่มโรค 2.คลินิกทันตกรรม ให้บริการขูด อุด ถอน เคลือบหลุ่มร่องฟัน และเคลือบฟลูออไรด์ 3.รถทันตกรรมเคลื่อนที่ ให้บริการขูด อุด ถอน เคลือบหลุมร่องฟัน และเคลือบฟลูออไรด์ แก่กลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้ต้องขังและเด็กในสถานพินิจ และ 4.คลินิกแพทย์แผนไทย ให้บริการ นวด ประคบ อบสมุนไพร เพื่อการรักษา

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนงบประมาณดำเนินการนั้น ตามที่ สปสช. ได้รับมอบให้ดำเนินการในนโยบายนี้ จึงได้ทำการจัดสรรกรอบงบประมาณในระบบเพื่อสนับสนุนและรองรับการดำเนินงาน เมื่อรวมกับงบบริการปฐมภูมิไปที่ไหนก็ได้และบริการต่างๆ ในหน่วยบริการนวัตกรรมแล้วจะมีกรอบการวงเงินประมาณรวมทั้งสิ้น 366.57 ล้านบาท นอกจากนี้เพื่อให้มีการกำกับติดตามประเมินผลในพื้นที่ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมใน 4 จังหวัดนำร่อง สปสช. จึงได้มีการจัดสรรงบประมาณสำหรับบริหารจัดการ ให้กับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) เพื่อกำกับติดตามการขับเคลื่อนนโยบายการใช้บัตรประชาชนใบเดียวไปได้ทุกที่อีก 3.65 ล้านบาท ซึ่งรวมอยู่ในกรอบงบประมาณจำนวนดังกล่าวนี้ด้วย