ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองเลขาฯสปสช.ลงพื้นที่ติดโลโก้ใหม่ 30 บาทรักษาทุกที่ คลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น-ร้านยาคุณภาพ ย้ำให้ยืนยันสิทธิผู้ป่วยด้วยบัตรประชาชนเสียบในเครื่องอ่านบัตร ไม่ต้องกรอกข้อมูลเอง และส่งเบิกค่ารักษาแบบวันต่อวัน เผยภาพรวมการบริการและเบิกจ่ายนวัตกรรม 7 ประเภท ให้บริการ 3,338,948 ครั้ง จ่ายแล้ว 700,567,594 บาท 

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย ทพญ.ปาริชาติ ลุนทา ผู้อำนวยการกลุ่มจังหวัด สปสช.เขต 1 เชียงใหม่ ลงพื้นที่เยี่ยมชมหน่วยนวัตกรรม คลินิกทันตกรรมกู๊ด ฟ.ฟัน ที่เข้าร่วมโครงการ 30 บาท รักษาทุกที่ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคมที่ผ่านมา 

ทพญ.อัญชลี เวียงคำ เจ้าของคลินิกทันตกรรมกู๊ด ฟ.ฟัน กล่าวว่า โครงการคลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น 30 บาทรักษาทุกที่ เป็นโครงการที่ดี โดยได้เข้าร่วมโครงการเฟส 3 มาแล้วเกือบ 3 เดือน ตอนนี้ประชาชนได้ทราบข่าวจากการประชาสัมพันธ์ จึงเริ่มมีประชาชนในอำเภอเชียงดาว มาใช้บริการมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้เข้ารับบริการทั้งที่เป็นคนไทยและกลุ่มชาติพันธุ์จำนวนเท่า ๆ กัน เฉลี่ยต่อวันผู้ป่วยใช้สิทธิบัตรทองเข้ารับบริการประมาณ 10 คน แต่กลุ่มชาติพันธุ์ต้องมีบัตรประชาชนจึงจะสามารถเข้ารับบริการได้ ผู้ป่วยที่ไม่มีบัตรประชาชนก็จะแนะนำให้ไปใช้สิทธิที่โรงพยาบาล 

"หลังเข้าร่วมโครงการ มีผู้ใช้สิทธิบัตรทอง ทั้งกลุ่มคนพื้นเมือง และกลุ่มชาติพันธุ์ มาใช้บริการ ขูด อุด ถอน และเคลือบหลุมร่องฟัน เพิ่มขึ้นถึง 20% หรือเฉลี่ยวันละ 10 คน โครงการนี้นอกจากช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงการรักษาแล้ว ยังช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล ลดการรอคิวนานในโรงพยาบาล อย่างที่รพ.เชียงดาว ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองมาใช้บริการ เช่น ขูดหินปูน ปกติผู้ป่วยต้องรอคิวนานถึง 3 เดือน ตอนนี้คิวสั้นลงเหลือเพียง 1 เดือนเท่านั้น"    

ด้านทพ.อรรถพร กล่าวว่า อยากให้มีคลินิกทันตกรรมเข้าร่วมโครงการเยอะ ๆ กระจายไปยังพื้นที่ห่างไกล ให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้ง่าย เพื่อช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล 

ทั้งนี้ ขอเน้นย้ำให้คลินิกที่เข้าร่วมโครงการยืนยันข้อมูลผู้ป่วย ด้วยการเสียบบัตรประชาชนกับเครื่องอ่านบัตร และคีย์ใบแจ้งหนี้ เพื่อเบิกค่ารักษาจาก สปสช.แบบวันต่อวัน จะได้ไม่ถูกปฏิเสธการจ่าย และได้รับเงินภายใน 3 วัน เนื่องจากพบว่า คลินิกไม่ได้เสียบบัตร แต่ใช้การคีย์ข้อมูลจากบัตรประชาชน จึงไม่อาจรู้ได้ว่า ประชาชนมาใช้บริการจริงหรือไม่ ยกเว้นเด็กเล็ก ๆ ที่ให้ใส่ข้อมูลได้ หรือบางคลินิกคีย์ข้อมูลเรียบร้อยแล้ว แต่ไม่ได้กดบันทึกภายในวันนั้น สปสช.จะปฏิเสธการจ่าย  

ทพ.อรรถพร เพิ่มเติมว่า สปสช.ได้ร่วมกับธนาคารกรุงไทย มีระบบเครื่องอ่านบัตร สามารถเสียบบัตรประชาชนเข้าไปก็จะขึ้นข้อมูลทันที คลินิกไม่ต้องกรอกข้อมูลเอง สปสช.จะไปอ่านข้อมูลจากบัตรประชาชน พอรู้ว่าประชาชนมาใช้บริการจริง สามารถตอบสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ว่ามาจริง จะทำการบันทึกการรักษา เสร็จแล้วส่งเบิกภายในวัน ขอให้ยืนยันตัวตนและส่งเบิกภายในวันที่ให้บริการ เพื่อให้จ่ายเงินได้ ไม่ถูกปฏิเสธการจ่าย ทั้งนี้ ตามกติกาของ สปสช.จ่ายเงินทุก 3 วัน แต่หลายคลินิกอยากให้กำหนดว่าจ่ายสัปดาห์ละกี่วัน เพื่อให้มีรอบการทำงานที่ชัดเจน สปสช.จึงทำแบบสอบถามไปยังคลินิกนวัตกรรมทั่วประเทศ เพื่อรวบรวมข้อมูลและปรับรูปแบบการจ่ายต่อไป

"ขอย้ำว่าคลินิกที่เข้าร่วมโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ ที่มีป้ายสัญลักษณ์ ไม่เสียเงิน ถ้าถูกเรียกเก็บเงินสามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน 1330 ข้อมูลที่ส่งมาจะเป็นความลับ มีคณะกรรมการ สปสช.ตรวจสอบเรื่องนี้ ถ้าเก็บเงินนอกเหนือจากที่ตกลงกันไว้ ผิดกฎหมาย" ทพ.อรรถพร กล่าว

นอกจากนี้ ในช่วงบ่าย คณะลงเยี่ยมชมพร้อมรับฟังและดูระบบการเบิกจ่ายที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ร้านยา “ริญญ์เภสัช“ ต.ริมใต้ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ที่เข้าร่วมโครงการร้านยาคุณภาพ และโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ เพื่อคนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้า

ภญ.ชญานิศ นิธิโกเมศ เจ้าของร้านยา ริญญ์เภสัช กล่าวว่า ขณะนี้เข้าร่วมโครงการมาได้ประมาณ 1 เดือน ที่เข้าร่วมเพราะกลุ่มลูกค้าจะเป็นชาวบ้าน ชุมชนโดยรอบ ส่วนใหญ่ใช้สิทธิบัตรทอง จึงอยากให้ประชาชนใช้สิทธิบัตรทองได้เข้าถึงการบริการด้านสุขภาพมากขึ้น ส่วนเรื่องการเบิกจ่ายยังไม่ค่อยพบปัญหา ได้รับเงินเร็ว จึงอยากเชิญชวนร้านยาให้ร่วมเข้าร่วมโครงการฯ และไม่ต้องกังวลเรื่องการเบิกจ่ายเงินชดเชย หากมีปัญหาติดขัดสามารถโทรปรึกษา 1330 ก็ได้

ร้านยา ริญญ์เภสัช ดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการ ให้แก่ผู้มีสิทธิบัตรทอง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ละวันมีผู้มาใช้บริการ 5-8 คน เพราะสะดวก เข้าถึงง่าย และไม่ต้องไปรอคิวนานที่โรงพยาบาล

ทั้งนี้ ทพ.อรรถพร ได้ติดตราสัญลักษณ์ใหม่ 30 บาทรักษาทุกที่ ให้กับทางคลินิกทันตกรรมกู๊ด ฟ.ฟัน และร้านยา “ริญญ์เภสัช” เพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้มาใช้สิทธิรักษาได้ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและไม่ต้องมีใบส่งตัว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูล Dashboard สปสช.(เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม) ภาพรวมการบริการและเบิกจ่ายนวัตกรรม 7 ประเภท ประกอบด้วย คลินิก  Lap คลินิกเวชกรรม  คลินิกทันตกรรม  คลินิกกายภาพบำบัด คลินิกแพทย์แผนไทย คลินิกเภสัชกรรม(ร้านยา) และคลินิกการพยาบาล พบว่า มีจำนวนที่ขึ้นทะเบียนแล้ว 9,048 แห่ง มีจำนวนหน่วยที่ให้บริการ 3,997 แห่ง มีผู้ใช้สิทธิบัตรทอง 1,683,529 คน ให้บริการ 3,338,948 ครั้ง สปสช.จ่ายแล้ว 700,567,594 บาท 
 
สำหรับการให้บริการและเบิกจ่ายคลินิกทันตกรรมใน สปสช.เขต 1 เชียงใหม่ มีจำนวนคลินิกทันตกรรมขึ้นทะเบียนแล้ว 190 แห่ง หน่วยให้บริการ 140 แห่ง มีผู้ใช้สิทธิ 21,139 คน ใช้บริการแล้ว 36,304 ครั้ง สปสช. จ่ายแล้ว 24,918, 000 บาท ทางด้านการให้บริการเภสัชกรรม (ร้านยา) ในพื้นที่ สปสช.เขต 1 เชียงใหม่ มีจำนวน 463 แห่ง มีหน่วยให่บริการ 254 แห่ง มีผู้ใช้สิทธิ 109,124 คน ใช้บริการแล้ว 246,448 ครั้ง จ่ายแล้ว 42,380,480 บาท