ทุกๆ 2 ชั่วโมง หญิงไทย 1 คนเสียชีวิตด้วย "มะเร็งปากมดลูก" ผู้ป่วยรายใหม่ปีละเกือบ 1 หมื่นคน สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ชวนฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV
เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2566 มูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชน และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ร่วมกับหน่วยงานเครือข่าย จัดงานบรรยายพิเศษเนื่องในวันแห่งการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคโลก 2566 (World Immunization Day 2023) ภายใต้แนวคิด “รวมพลังสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันโรค: การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคตลอดชีวิต (Lifetime immunization) เมื่อวัคซีนสำคัญสำหรับทุกช่วงวัย”
ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ ที่ปรึกษาสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล และนายกสมาคมโรคติดต่อในเด็กแห่งประเทศไทย บรรยายในหัวข้อ วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก HPV ว่า โรคมะเร็งปากมดลูก พบมากเป็นอันดับ 2 ของมะเร็งในสตรีไทย รองจากมะเร็งเต้านม ทุกๆ 2 ชั่วโมง หญิงไทย 1 คนเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปากมดลูก ซึ่งเป็นโรคมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม โดยเสียชีวิตปีละ 4,705 คน หรือ 13 คนต่อวัน และมีผู้ป่วยรายใหม่ปีละ 9,158 คน หรือ 25 คนต่อวัน ด้านความสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์ ค่าใช้จ่ายในการรักษามะเร็งปากมดลูก 1 คนอยู่ที่ 3 แสนถึง 2.4 ล้านบาท ขึ้นกับระยะของโรคและวิธีการรักษา
ศ.พญ.กุลกัญญา กล่าวถึงสาเหตุสำคัญของโรคมะเร็งปากมดลูก ว่า มะเร็งปากมดลูก เกิดจากเชื้อไวรัส HPV (Human Papilloma Virus) ซึ่งมีทั้งหมดมากกว่า 200 สายพันธุ์ อย่างน้อย 40 สายพันธุ์ติดเชื้อที่อวัยวะเพศ โดยมีอย่างน้อย 13 สายพันธุ์ ต้นเหตุของโรคมะเร็ง และอีกหลายสายพันธุ์ ทำให้เกิดหูดหงอนไก่ ติดต่อด้วยการสัมผัสโดยตรงบริเวณอวัยวะเพศ หรือจากเพศสัมพันธ์เท่านั้น ถุงยางอนามัยก็ยังไม่สามารถป้องกันไวรัส HPV ได้อย่างสมบูรณ์ ภายหลังจากการติดเชื้อจะยังไม่มีอาการ เชื้อสามารถซ่อนตัวในร่างกายได้นานกว่า 10 ปี แต่จะไปทำให้เกิดเซลล์ผิดปกติและก่อมะเร็ง และโรคต่าง ๆ เช่น
- เนื้องอกที่กล่องเสียงและระบบทางเดินหายใจ
- หูดอวัยวะเพศ
- เซลล์ปากมดลูกผิดปกติ
- มะเร็งช่องปากและลำคอ
- มะเร็งองคชาติ
- มะเร็งทวารหนัก
- มะเร็งปากมดลูก
- มะเร็งอวัยวะเพศหญิง
สำหรับการป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก ศ.พญ.กุลกัญญา กล่าวว่า มีอยู่ 2 วิธี 1.ฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อ HPV และ 2.ตรวจภายในเป็นระยะ ทำแปปสเมียร์ ถ้าพบรอยโรคระยะต้น รีบทำลาย ทั้งนี้ วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกจากสายพันธุ์ที่บรรจุในวัคซีน มีด้วยกัน 3 แบบ
- วัคซีน 2 สายพันธุ์ (16, 18) ป้องกันมะเร็งได้ 70 เปอร์เซนต์
- วัคซีน 4 สายพันธุ์ (6, 11, 16, 18) ป้องกันมะเร็งได้ 70 เปอร์เซนต์ และป้องกันหูดหงอนไก่ได้ 90 เปอร์เซนต์
- วัคซีน 9 สายพันธุ์ (6, 11, 16, 18, 31, 33, 45, 52, 58) ป้องกันมะเร็งได้ 95 เปอร์เซนต์ และป้องกันหูดหงอนไก่ได้ 90 เปอร์เซนต์
"วัคซีน HPV มีความปลอดภัย และมีการใช้ 500 ล้านโดสทั่วโลก ควรฉีดก่อนเริ่มมีเพศสัมพันธุ์จึงให้ผลดีที่สุด เด็กอายุ 9-26 ปี ควรได้รับวัคซีนนี้ เน้นช่วงอายุ 11-12 ปี และควรฉีดทุกเพศ เพราะตอนอายุน้อยจะตอบสนองภูมิคุ้มกันสูง หลังจากฉีดแล้วก็ยังต้องตรวจคัดกรองมะเร็งตามมาตรฐาน" ศ.พญ.กุลกัญญา ย้ำ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
คิกออฟฉีดวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก 1 ล้านโดสใน 100 วัน
ทำไมผู้ชายถึงควรฉีดวัคซีน HPV? ไวรัสตัวนี้ไม่ใช่แค่สาเหตุมะเร็งปากมดลูก
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 687 views