เผยผลสำรวจหญิงไทย 34% ไม่มีความคิดรับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ราว 5 ล้านคนไม่มีความรู้เรื่องความเสี่ยง สาเหตุสำคัญที่ไม่ตรวจ เพราะกลัวเจ็บ กลัวอาย โรช ไดแอกโนสติกส์-สมาคมมะเร็งนรีเวชไทย-มูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง ร่วมสร้างแคมเปญ “สัปดาห์ตรวจสุขภาพสตรีแห่งชาติ” 12-19 สิงหาคม กระตุ้นหญิงไทยตระหนักถึงความเสี่ยง เข้ารับการตรวจสุขภาพในโรงพยาบาล 60 แห่งทั่วประเทศ ที่ร่วมโครงการ
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับ สมาคมมะเร็งนรีเวชไทย มูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เบทเตอร์เวย์ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท นิวซิตี้ (กรุงเทพฯ) จำกัด (มหาชน) ร่วมแถลงข่าวจัดแคมเปญ “สัปดาห์การตรวจสุขภาพสตรีแห่งชาติ หรือ National Women’s Check-up Week” ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพ
รศ.พญ.อาบอรุณ เลิศขจรสุข อุปนายกสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย กล่าวว่า สถานการณ์โรคมะเร็งปากมดลูกในประเทศไทย พบผู้ป่วยรายใหม่กว่า 8,000 คนต่อปี หรือ 24 คนต่อวัน และมีผู้เสียชีวิตประมาณครึ่งหนึ่งหรือ 12 คนต่อวัน โดยแคมเปญสัปดาห์การตรวจสุขภาพสตรีแห่งชาติ จัดขึ้นเพื่อ รณรงค์ให้ผู้หญิงเห็นความสำคัญของการตรวจสุขภาพสตรี ภายใต้แนวคิด เลิกเดี๋ยว เปลี่ยนเป็นฤกษ์ดี ถึงเวลาสตรีหันมารักตัวเอง และเข้ารับการตรวจสุขภาพระหว่างช่วงสัปดาห์วันแม่แห่งชาติ 12 – 19 สิงหาคม 2567 ณ โรงพยาบาลที่ร่วมโครงการกว่า 60 แห่งทั่วประเทศ
"มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งอันดับ 2 ที่ทำให้หญิงไทยเสียชีวิต และยังเป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับที่ 2 ในผู้หญิงอายุ 15 – 44 ปี การตรวจคัดกรองจึงสำคัญมาก เพราะมะเร็งปากมดลูกสามารถรักษาหายได้ ถ้าพบเจอในระยะต้น ๆ อีกทั้งยังสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV (Human Papilloma Virus) ปัจจัยสำคัญในการเกิดมะเร็งปากมดลูก" รศ.พญ.อาบอรุณ กล่าว
รศ.พญ.อาบอรุณ เสริมว่า คนชอบเข้าใจผิด รอให้มีอาการก่อนค่อยตรวจ หากรอให้เกิดอาการจะเข้าสู่ระยะที่ 2-3 ขึ้นไป ทำให้การรักษายากขึ้น จึงควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทุก 3-5 ปี อีกทั้งต้องสร้างโซเชียลวัคซีน ให้คนตื่นรู้ เข้าใจให้ถูกต้อง และเลิกความเชื่อผิด ๆ เช่น การตรวจภายใน ไม่ได้หมายความว่ามีคู่นอนหลายคน เพราะเชื้อมะเร็งสามารถได้รับเชื้อมาจากทางอื่น การตรวจสุขภาพสตรีจึงเป็นการใส่ใจและดูแลตัวเอง
ด้าน น.ส.ศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์ ประธานกรรมการ มูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง กล่าวว่า จากข้อมูลการสำรวจความตระหนักรู้และทัศนคติต่อการตรวจสุขภาพของสตรีกว่า 3,000 คนในเอเชียแปซิฟิกจากโรช พบว่าผู้หญิงไม่ให้ความสำคัญกับการตรวจสุขภาพของตนเอง สอดคล้องกับความเชื่อที่ว่า กลัวเจ็บ กลัวอาย ไม่กล้าตรวจ ทำให้เสียโอกาสการเข้าถึงสิทธิ์การรักษาตั้งแต่ช่วงแรก ที่ช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพ ซึ่งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้สิทธิประโยชน์ หญิงไทยสามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้ฟรี หากตรวจพบก็สามารถรับการรักษาตามสิทธิ์ของตนเองต่อไป
นพ.โอฬาริก มุสิกวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้าน สูตินรีเวช (เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์) และแพทย์นักสื่อสารเจ้าของช่อง “การแพทย์แปดนาที” กล่าวว่า การตรวจคัดกรองในปัจจุบันทำได้อย่างรวดเร็ว ด้วยเอชพีวี ดีเอ็นเอ เทสต์ (HPV DNA test) แทนการตรวจด้วยแปปสเมียร์ ซึ่งเป็นการตรวจหาดีเอ็นเอของเชื้อไวรัสเอชพีวี ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก เชื้อ HPV ทำให้เซลล์ของบริเวณปากมดลูกค่อย ๆ เปลี่ยนไป และกลายเป็นมะเร็งได้ แต่การติดเชื้อไวรัสเอชพีวี ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนจะต้องเป็นมะเร็ง แต่เชื้อนี้ยังส่งผลต่อภัยสุขภาพอื่น ๆ ด้วย การป้องกันที่ดี คือ การฉีดวัคซีน HPV และหมั่นตรวจคัดกรอง ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข
"ความท้าทายในปัจจุบัน คนชายขอบหรือในต่างจังหวัด ยังไม่ให้ความสำคัญในการตรวจคัดกรอง ทำอย่างไรให้คนสนใจ ต้องลบความเชื่อเดิม ใส่ความรู้ใหม่เข้าไป ทำให้คนทุกกลุ่มใส่ใจตนเอง และตรวสุขภาพเป็นประจำ ซึ่งการตรวจในตอนนี้ทำได้อย่างรวดเร็ว เจ็บน้อย และยังมีชุดตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เก็บสิ่งส่งตรวจด้วยตนเอง (HPV Self Sampling) ให้ตรวจเบื้องต้นเองได้ด้วย" นพ.โอฬาริก กล่าว
นายมิไฮ อีริเมสซู กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด เสริมว่า ผลการสำรวจครั้งใหม่ของโรชจากผู้หญิงเกือบ 3,000 คนใน เอเชีย แปซิฟิก รวมทั้งประเทศไทย พบว่าผู้หญิงไม่ให้ความสำคัญกับการตรวจสุขภาพของตนเอง รวมทั้งการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก อุปสรรคสำคัญ ได้แก่ ความกลัว ขาดการรับรู้ และขาดการสนับสนุน
ผู้หญิงในเอเชียแปซิฟิกมากกว่า 1 ใน 3 มีความรู้ในเรื่องการตรวจสุขภาพสตรี รวมทั้งการตรวจคัดกรองในสตรีน้อย มีผู้หญิงถึง 17% รู้สึกกังวลเมื่อต้องตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก กลัวความเจ็บและรู้สึกไม่สะดวกใจ 17% กังวลเรื่องผลการตรวจ หรือรู้สึกเขินอาย ในประเทศไทย มีผู้หญิงเกือบ 10 ล้านคนที่เชื่อว่าการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นเรื่องน่าอาย โดย 1 ใน 4 กังวลเรื่องความเจ็บจากการตรวจคัดกรอง 14% รู้สึกอายที่ต้องเข้ารับการตรวจคัดกรอง จึงรอให้มีอาการก่อน ซึ่งมักจะสายเกินไปและเป็นสาเหตุให้เสียชีวิต
ผลสำรวจพบด้วยว่า ผู้หญิงเกินครึ่ง หรือ 66% ในเอเชียแปซิปิก มีความรู้ในเรื่องการตรวจน้อย เห็นได้จากจำนวนคนเข้ารับการตรวจคัดกรอง ในประเทศไทย และพบว่า หญิงไทยมากถึง 5 ล้านคนที่ไม่มีความรู้เรื่องความเสี่ยงของโรคมะเร็งปากมดลูก
นอกจากนี้ ผลสำรวจชี้ว่า ผู้หญิงกว่า 71% รู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับความสำคัญ อีกทั้งยังไม่ให้ความสำคัญกับโรคสตรี ส่วนผู้หญิงไทยเกือบ 70% รู้สึกว่าไม่ได้รับความสำคัญเท่าที่ควร เนื่องจากระบบสุขภาพ และ 34% ของผู้หญิงไทยไม่มีความคิดที่จะเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเลย
"แคมเปญ สัปดาห์ตรวจสุขภาพสตรีแห่งชาติ นี้ไม่ใช่เป็นเพียงแคมเปญ แต่เป็นความตั้งใจลงมือสร้างให้เกิดความตระหนักรู้ ให้ความรู้ สนับสนุนการตรวจคัดกรองให้ผู้หญิงในประเทศไทย สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและร่วมแคมเปญได้ที่เว็บไซต์ www.tgcs.or.th" นายมิไฮ กล่าว4
- 256 views