ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ชลน่าน” นำทีมผู้บริหาร สธ. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ สร้างความเข้าใจบุคลากรรัฐ-เอกชน เตรียมพร้อมระบบ “บัตรประชาชนใบเดียวรักษา ได้ทุกที่” นำร่อง 4 จังหวัด “แพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด นราธิวาส” ใช้ได้ทุกสิทธิ ทุกสถานพยาบาล และ 4 เขตสุขภาพใช้ได้ทุกรพ.ในสังกัดกระทรวงฯ ก่อนขยายผลครอบคลุมทั่วประเทศใน 1 ปี

 

เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ที่โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ท จังหวัดปทุมธานี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลสุขภาพ “บัตรประชาชนใบเดียว รักษาได้ทุกที่” ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมี พญ.นวลสกุล บำรุงพงษ์ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ โรงพยาบาลรัฐนอกสังกัด โรงพยาบาลเอกชน และสภาวิชาชีพทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 500 คน ร่วมงาน

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการทุกภาคส่วน ทั้งรัฐและเอกชน ใน 4 จังหวัดนำร่อง มีแพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด และนราธิวาส รวมทั้งในเขตสุขภาพ เพื่อเตรียมพร้อมโยบายยกระดับ 30 บาท “บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่” เป็นหนึ่งใน Quick Win ที่กระทรวงสาธารณสุขเร่งรัดดำเนินการเพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศ เพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนทุกคน โดยนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของหน่วยบริการทุกระดับทั้งรัฐและเอกชน เพื่อให้ประชาชนได้รับการบริการที่สะดวก รวดเร็ว และยังเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับบุคลากรการแพทย์ในการเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของประชาชน รวมถึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพของหน่วยบริการให้เป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Hospital)

“การประชุมครั้งนี้ใช้เวลา 2 วันเพื่อทำความเข้าใจกับบุคลากร ซึ่งมีการเตรียมความพร้อมมาก่อนแล้ว และเราก็มั่นใจหลังจากวันนี้ แต่ละแห่งจะเข้าสู่แนวทางปฏิบัติ เพื่อเชื่อมโยงฐานข้อมูลนำไปสู่การปฏิบัติได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 จะเริ่มใช้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ” นพ.ชลน่าน กล่าว

เตรียมขยายบริการ บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ทุกเครือข่ายได้ใน 1 ปี

รัฐมนตรีว่าการสธ.กล่าวว่า จะเป็นการให้บริการสุขภาพทุกมิติ ทั้งการรักษาพยาบาล ส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค การฟื้นฟูสภาพ ฯลฯ โดยใน 4 จังหวัดนำร่องจะใช้บริการได้ทุกเครือข่าย ทั้งรัฐและเอกชน ร้านยา คลินิกที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งภาคเหนือที่จ.แพร่ ภาคกลาง จ.เพชรบุรี ภาคอีสานจ.ร้อยเอ็ด และภาคใต้ จ.นราธิวาส ส่วนแนวทางขยายทุกประเทศนั้น มีความตั้งใจจะต้องทำให้ครอบคลุม แต่ต้องอาศัยเวลา เนื่องจากต้องมีเรื่องฐานข้อมูล อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ในเครือข่ายของกระทรวงสาธารณสุขยังสามารถใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ มี 4 เขตสุขภาพ ซึ่งแต่ละเขตมีหลายจังหวัดหลายโรงพยาบาลของสธ.  ประกอบด้วย เขตสุขภาพที่ 1 ,4, 9 และ 12 ซึ่งจะเริ่มในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่งก่อน และจะขยายผลให้ครอบคลุมทั้งประเทศต่อไป

“นอกจากนี้ เรายังเตรียมการสำหรับจังหวัดที่มีความพร้อมในแต่ละเขตสุขภาพ ซึ่งจะขยายต่อไปทุกเครือข่ายเพิ่มขึ้น เรามีจังหวัดในใจแล้ว หลังจากนี้เมื่อระบบเสถียร โดยเฉพาะข้อมูลดิจิทัล ความปลอดภัยต่างๆ ก็จะสามารถขยายต่อไปได้ไม่ยาก คาดว่าน่าจะใช้เวลา 1 ปีน่าจะได้ทั้งหมด” นพ.ชลน่าน กล่าว  

 

รพ.เอกชนเข้าร่วมแบบสมัครใจ

เมื่อถามว่าโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมนโยบายใน 4 จังหวัดมีทุกแห่งหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า  อยู่ที่รพ.เอกชนสมัครใจ และพร้อมร่วมกับเรา อย่างไรก็ตาม ใน 4 จังหวัดมีทุกเครือข่าย แต่ไม่ใช่ทุกรพ.เอกชน จะใช้บริการได้เฉพาะที่เข้าร่วม

เมื่อถามว่าระบบเบิกจ่ายเงินให้เอกชนสร้างแรงจูงใจได้หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ระบบการจ่ายเงินเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีข้อกังวล เราตอบโจทย์ให้ดีที่สุด ซึ่งเรามั่นใจว่าระบบที่เราวางไว้จะเป็นแรงจูงใจ  ทำให้ระบบการดูแลรักษา และค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับเนื้องาน ซึ่งเราวางไว้หมดแล้ว

สธ.สร้างความเข้าใจบุคลากร เตรียม 4 ระบบจัดบริการรองรับ “บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่”

ด้านนพ.โอภาสกล่าวว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ครั้งนี้ เป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบบริการรองรับ “บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่” ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ 1.ระบบบันทึกข้อมูลสำหรับหน่วยบริการประเภทต่าง ๆ 2.ระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตน 3.ระบบให้บริการ และ 4.ระบบเชื่อมต่อกับประชาชนผ่าน LINE Official Account และ Application เพื่อเตรียมความพร้อมหน่วยบริการและบุคลากรในการจัดเตรียมระบบ วางแผนบริหารจัดการ และทดสอบการให้บริการจริงแก่ประชาชน โดยกิจกรรมภายในงานมีการอภิปรายในหัวข้อต่างๆ อาทิ ประวัติสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์แสดงบนมือถือและสมุดสุขภาพประชาชน (Health Wallet), Data Governance : PDPA & Cyber Security, การแพทย์ทางไกลและเภสัชกรรมทางไกล, Financial Data Hub และ MOPH Claim, แนวทางการดำเนินงานการใช้ใบรับรองแพทย์ดิจิทัล ใบสั่งยา/สั่งแล็บอิเล็กทรอนิกส์ และบริการรับ-ส่งยา ทางไปรษณีย์ เป็นต้น รวมทั้งยังมีการประชุมกลุ่มย่อยระดมสมองจัดทำแผนปฏิบัติการ และนำเสนอแผนฯ แก่ผู้บริหารและผู้ทรงคุณวุฒิอีกด้วย