นายกสภาเภสัชกรรม ชี้ "ทิศทางของเภสัชกรในยุคดิจิทัล" ต้องมองภาพรวมทั้งหมดว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้างต้องปรับตัวอย่างไร…เพื่อเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลแบบไร้รอยต่อ พร้อมส่งเสริมการพัฒนาสมุนไพรทดแทนยาแผนปัจจุบัน ส่วน‘ความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุน’ ต้องปรับสวัสดิการพื้นฐานให้ทุกคนเข้าถึงได้เท่าเทียม
เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2566 ณ ห้อง Sapphire อิมแพ็ค เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จ.นนทบุรี สภาเภสัชกรรมร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดประชุม "ทิศทางการพัฒนาระบบยาและเภสัชกรรมประเทศไทย ยุคดิจิทัล" เพื่อส่งเสริมและพัฒนาสมรรถนะเภสัชกร ในด้านมาตรฐานระบบยาและเภสัชกรรม เทคโนโลยีการจัดการระบบยาและเภสัชกรรม นวัตกรรมรับยาที่ร้านยา Telephramancy เชื่อมโยงกับโรงพยาบาลแบบไร้รอยต่อ ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการเภสัชกรรมที่มีคุณภาพ รวดเร็ว ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัย
และเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาระบบยาและเภสัชกรรม เช่น การเข้าถึงยาไร้รอยต่อกับบทบาทวิชาชีพเภสัชกรรม มาตรฐานระบบยาและเภสัชกรรม เทคโนโลยีการจัดการะบบยาและเภสัชกรรนวัตกรรรับยาที่ร้านยา Telepharmacy เชื่อมโยงกับโรงพยาบาลแบบไร้รอยต่อ
โดย รศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ นายกสภาเภสัชกรรม ได้บรรยายในหัวข้อ "ทิศทางของเภสัชกรในยุคดิจิทัล" กล่าวในช่วงหนึ่งว่า ในเรื่องทิศทางของเภสัชกรในยุคดิจิตอล ถ้าหากเราเอาตนเองเป็นตัวตั้ง คงจะลำบากในการทำงานในอนาคต เพราะตอนนี้สังคมเริ่มเปลี่ยนไปทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องครอบครัวรวมถึงทัศนคติครอบครัว และต้องพบเจอกับสังคมรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ถ้าหากไม่เข้าใจก็จะเกิดความขัดแย้งสูงขึ้น
อย่างน้อยเราต้องยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันให้ได้ต้องมีการปรับตัวกับสถานการณ์ปัจจุบันให้ได้ ซึ่งถ้าพูดถึง “วิชาชีพเภสัชกร” หากมองอนาคตที่เป็นยุคของดิจิตอลคงไม่สามารถเลี่ยงได้ เพราะสังคมโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว ฉะนั้นสิ่งที่สำคัญคือต้องมองภาพรวมทั้งหมดจริงๆว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้างผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร และเราในฐานะวิชาชีพจะต้องปรับตัวอย่างไร…
อย่างตอนนี้สังคมผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้น ประชากรคนไทยมีอัตราการเกิดน้อยลง “มีอัตราการเกิดและการตายเท่ากัน” ฉะนั้นประชากรจะไม่เพิ่มแต่ภาระงานยังเยอะเท่าเดิม ซึ่งเรื่องนี้เราจะสังเกตได้ง่ายว่าหากเกิดขึ้นจริง เภสัชกรจะปรับตัวอย่างไร เป็นต้น ส่วนในเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เดิมประเทศไทยเป็นสังคมครอบครัวเป็นหลัก แต่ปัจจุบันสิ่งที่ต้องยอมรับคือ สังคมปัจเจกบุคคลเพิ่มขึ้น ความแตกต่างเรื่องเชื้อชาติสัญชาติจะมีความชัดเจนมากขึ้นและกลายเป็นจุดเด่นของสังคม นอกจากนี้ ยังมีเรื่องระบบสุขภาพที่น่าเป็นห่วง อย่างเช่นเมื่อมีสงครามเกิดขึ้นระบบสุขภาพจะรองรับอย่างไรอย่างเรื่องหย่าต้องมีการเตรียมความพร้อมอย่างไรบ้างซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่เภสัชชกรต้องมาทบทวนและวางแผนเพื่อเตรียมรับมือให้ดีที่สุด
นอกจากนี้ รศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมถึงกรณีที่สภาเภสัชกรรมได้เข้าไปเป็นหนึ่งในบอร์ดพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ จะเสนออะไรเกี่ยวกับนโยบายการจัดการยาของไทยนั้น
รศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ กล่าวว่า เรื่องระบบยาของประเทศไทยมีการวางแผนยุทธศาสตร์โดยคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพฯอยู่แล้ว ซึ่งขณะนี้มีหลายประเด็นที่เป็นปัญหามากพอสมควร ฉะนั้นคณะกรรมการฯ มีเจตนาที่จะเร่งดำเนินการในทุกประเด็น เพราะแต่ละสาขามีการดำเนินการอยู่ อย่าง สปสช. คณะกรรมการระบบยาแห่งชาติ ฯลฯ จะร่วมมือช่วยกันทำภาพรวมให้สามารถขับเคลื่อนได้อย่างรวดเร็วและชัดเจน อย่างเช่น การขับเคลื่อนนโยบาย 30 บาทพลัส ที่รัฐบาลมีนโยบายมาจะทำอย่างไรให้สำเร็จและขับเคลื่อนได้อย่างรวดเร็วซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีที่มีโอกาสได้เข้าร่วมคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ เพราะเมื่อเกิดปัญหาหรือติดขัดอะไรจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาแก้ไขได้ทันที
ทั้งนี้สิ่งสำคัญของ “ระบบยา” คือจะทำอย่างไรให้ประชาชนไทยเราเพิ่งตนเองได้ เพราะตอนนี้ประเทศไทยมีการนำยาเข้ามากกว่า 70% ผลิตเองแค่ 30% ซึ่งไม่น่าจะพึ่งตนเองได้ในอนาคตเมื่อเกิดกรณีฉุกเฉิน ฉะนั้นสิ่งที่สำคัญต้องส่งเสริมอุตสาหกรรมยาของประเทศเราด้วย อีกอย่างที่เป็นจุดเด่นคือ ยาสมุนไพรถ้าเรามีการส่งเสริมการพัฒนาสมุนไพรมาเป็นยาเพื่อทดแทนยาแผนปัจจุบัน สุดท้ายจะสามารถทำให้เราเพิ่งตนเองในด้านยามากขึ้น หากเกิดวิกฤติอะไรก็ตามสามารถยืนหยัดด้วยตนเองได้
เมื่อถามว่าควรมีระบบจัดการยาอย่างไรเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุน...
จริงๆต้องยอมรับว่าในแต่ละกองทุนมีความเป็นมาไม่เหมือนกัน เราจำเป็นต้องระบุให้ชัดเจนว่าที่เกิดความเท่าเทียมกันมีบริบทอย่างไร อย่างถ้าเราต้องจ่ายเงินแต่ได้รับบริการเหมือนกับคนที่ไม่ต้องจ่ายอาจจะไม่ถูกตามเหตุตามผล ฉะนั้นสิ่งที่สำคัญถ้าไม่ต้องให้เกิดความเหลื่อมล้ำคือการดูแลในเบื้องต้นและความจำเป็นของชีวิตทุกคนจะต้องได้เท่ากัน
"มองว่าปัจจุบันสิทธิประโยชน์ที่ได้รับตอนนี้ค่อนข้างชัดเจน หรือบางกองทุนอาจไม่ได้รับในส่วนนี้ ซึ่งต้องมีการปรับเป็นเรื่องๆว่า อะไรที่ต้องเน้นและเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทุกคนในประเทศที่จะต้องได้เหมือนกัน แต่ละกองทุนจะให้อะไรเพิ่มบ้าง ตรงนี้อาจจะทำให้เกิดความสมดุลได้ในอนาคต" รศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ กล่าว
- 417 views