ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วงการยาคึก ตลาดเริ่มฟื้น คนใช้เวชภัณฑ์มากขึ้นทั่วโลก แต่ไทยยังพึ่งพายานำเข้าเยอะ ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สุขภาพโอด แข่งขันลำบาก ต้นทุนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตราคาพุ่ง อุตสาหกรรมยาควรเร่งสร้างสารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรม หรือ API (Active Pharmaceutical Ingredients) ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการผลิตยารักษาโรคต่าง ๆ ขึ้นใช้เองในประเทศ โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ

กระแสเทคโนโลยีใหม่ถูกนำมาใช้เพื่อพัฒนาเภสัชภัณฑ์นวัตกรรมอย่าง Synthetic Biology หรือ SynBio ประสบความสำเร็จอย่างมากในการพัฒนายาและเวชภัณฑ์แนวใหม่ ขณะที่เภสัชร้านยาคือเภสัชสาขาที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด เข้าร่วมโครงการ “ร้านยาชุมชนอบอุ่น” ของ สปสช.ดูแลผู้ป่วย คัดกรองความเสี่ยง และป้องกันโรค โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทั่วโลกฮิตสมุนไพร ในการดูแลรักษาและป้องกันโรค ใช้มากในยา อาหารเสริมและเครื่องสำอาง  

เภสัชกรทั่วไทย ผนึกกำลังจัดงานใหญ่แห่งปี งานประชุมเภสัชกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 12 (12th Thailand Pharmacy Congress) และงานวันเภสัชกรโลก 2566( World Pharmacist Day2023) เมื่อวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา ณ ไบเทค บางนา จัดโดยเภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมถ์ และองค์กรเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรม โดยมีเภสัชกรทั่วประเทศเข้าร่วมงานประมาณ 500 คน  เพื่อร่วมอัพเดทเทรนด์ และองค์ความรู้ทางวิชาชีพเภสัชกรรมของประเทศไทย และของโลก  โดยธีมวันเภสัชกรโลกในปีนี้ คือ “Pharmacy Strengthening Health System” หรือ “เภสัชกรสร้างความแข็งแกร่งให้ระบบสุขภาพ”  มีการมอบรางวัลเพื่อเชิดชูเกียรติเภสัชกรดีเด่นแต่ละสาขา , การประกวดการนำเสนอผลงานทางวิชาการด้านเภสัชกรรม และการออกบูธนิทรรศการผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ ในงานดังกล่าวด้วย  

โดยกระแสด้านเภสัชกรรมของไทยพบว่า ผู้บริโภคมีแนวโน้มความต้องการใช้ยาและเวชภัณฑ์เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากทั่วโลกเริ่มปรับเข้าสู่สภาวะปกติ ผ่อนคลายความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 คาดว่ามูลค่ายอดขายยาและเวชภัณฑ์จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากแนวโน้มของการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD)  การเข้าถึงระบบสุขภาพถ้วนหน้า  กระแสการท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัว มีนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการในหน่วยบริการสุขภาพต่างๆมากขึ้น รวมถึงกระแสการใส่ใจ ดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน ซึ่งเป็นแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้นเหมือนกันทั่วโลก ประเด็นที่ต้องตระหนัก คือ ประเทศไทยยังคงพึ่งพาการนำเข้ายาเป็นส่วนใหญ่  ขณะที่ยาที่ผลิตในประเทศ มีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามามากขึ้นทั้งคนไทยและต่างชาติ  ท่ามกลางกฎระเบียบภาครัฐ (อย.)  เรื่องมาตรฐาน เช่น 

GMP-PIC/S ส่งผลให้ผู้ผลิตมีต้นทุนเพิ่มสูงมากขึ้น อีกทั้งวัตถุดิบที่ต้องนำเข้ามีราคาสูงขึ้น ยิ่งทำให้ผู้ประกอบการยาและเวชภัณฑ์ของไทยมีความสามารถในการทำกำไรลดลง  ขณะที่แนวโน้มการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง  อย่าง Synthetic Biology หรือ SynBio หรือ ชีววิทยาสังเคราะห์ คือเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูง เป็นคลื่นลูกที่สองของพันธุวิศวกรรม กุญแจสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรม และยาใหม่ที่มีประสิทธิภาพดีขึ้น และออกฤทธิ์แบบมุ่งเป้าในการรักษาโรคต่าง ๆ อาทิ โรคมะเร็ง และโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่นๆ รวมถึงโรคที่เกี่ยวกับความเสื่อมของระบบต่างๆของร่างกาย ได้แก่ ยากลุ่มแอนติบอดี้ ฮอร์โมน เอนไซม์ วัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ ซึ่งในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้มีการพัฒนาวัคซีนอย่างรวดเร็ว ในกลุ่ม mRNA และ Adenoviral vector vaccine โดยอาศัยเทคโนโลยีชั้นสูงเหล่านี้  

เภสัชกรต้องพัฒนายากลุ่มใหม่ๆ เพื่อใช้ในการบำบัดรักษา ยากลุ่มนี้ได้แก่ ยาที่ใช้ในการบำบัดด้วยยีน ( Gene Therapy Medicinal Product ) ยาที่ใช้ในการบำบัดด้วยเซล ( Cell Therapy Medicinal Product)  วิศวกรรมเนื้อเยื่อ ( Tissue Engineering ) ตลอดจนการใช้ยาที่จำเพาะต่อบุคคล (Personalized Medicine )  อุตสาหกรรมยาควรเร่งสร้างสารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรม หรือ API (Active Pharmaceutical Ingredients) ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการผลิตยารักษาโรคต่างๆขึ้นใช้เองในประเทศโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเหล่านี้เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ
ในด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และการให้บริการประชาชน 

เภสัชกรชุมชน หรือร้านยา ซึ่งเป็นสาขาวิชาชีพเภสัชกรรมที่อยู่ใกล้ชิดชุมชนมากที่สุด ในฐานะ “หน่วยบริการปฐมภูมิ” ที่คอยสนับสนุนและช่วยสร้างความเข้มแข็งให้ระบบสาธารณสุข ได้แสดงบทบาทในการช่วยลดความแออัดที่โรงพยาบาล ประชาชนสามารถรับยาที่ร้านยา โดยมีเภสัชกรช่วยดูแล  ในโครงการ “ร้านยาชุมชนอบอุ่น” ของสปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) โดยร้านยาที่จะให้บริการในโครงการดังกล่าว จะใช้มาตรฐาน Good pharmacy practice (GPP) ของสำนักงานคณะกรรมการอาหาร (อย.)  ให้บริการดูแลโรคทั่วไปหรือการเจ็บป่วยเล็กน้อย (common illnesses) สำหรับผู้มีสิทธิบัตรทองทุกคน ครอบคลุมการดูแล 16 กลุ่มอาการ ได้แก่ 

อาการปวดหัว 

  1. เวียนหัว 
  2. ปวดข้อ 
  3. เจ็บกล้ามเนื้อ 
  4. ไข้ 
  5. ไอ 
  6. เจ็บคอ 
  7. ปวดท้อง 
  8. ท้องเสีย 
  9. ท้องผูก 
  10. ถ่ายปัสสาวะขัด/ปัสสาวะลำบาก 
  11. ปัสสาวะเจ็บ 
  12. ตกขาวผิดปกติ 
  13. อาการทางผิวหนัง 
  14. ผื่น 
  15. คัน 
  16. บาดแผล 

ความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตา 

ความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับหู 

พร้อมติดตามอาการหลังรับยา โดยมีเภสัชกรช่วยให้ความรู้และให้คำปรึกษาเพื่อประชาชนสามารถป้องกันโรค และคัดกรองความเสี่ยง โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายขณะที่ทางด้านของสมุนไพรและผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติยังคงติดอันดับโลกที่มีความต้องการใช้สูงมาก ทั้งยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และเครื่องสำอางค์สมุนไพร  ความท้าทายของวิชาชีพเภสัชกรรมของไทย คือ ทำอย่างไรให้เกิดการสร้างนวัตกรรมสมุนไพรไทยสู่ตลาดโลก โดยอาศัยความหลากหลายทางชีวภาพ และภูมิปัญญาของประเทศไทยที่สั่งสมมาช้านานมาก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยการใช้เทคโนโลยีมาช่วยสร้างนวัตกรรม ก่อเกิดเป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง

สำหรับรายชื่อเภสัชกรที่ได้รับรางวัลเภสัชกรดีเด่นแต่ละสาขา ประจำปี 2566 ได้แก่  

  1. สาขาเภสัชกรรมโรงพยาบาล : ภก.ธีรวิทย์ บำรุงศรี
  2. สาขาเภสัชกรรมชุมชน : ภญ.ศิวพร ปีเจริญทรัพย์
  3. สาขาเภสัชกรรมการตลาด: ภก.จีระศักดิ์ พิศิฏฐศักดิ์
  4. สาขาเภสัชกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค: ดร.ภญ.มุกดาวรรณ ประกอบไวทยกิจ
  5. สาขาเภสัชกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค :  ภก.ภาณุโชติ ทองยัง
  6. สาขาเภสัชรรมด้านทะเบียนและกฎหมายผลิตภัณฑ์ : ภญ.สุพัตรา จิรรัศมิ์
  7. สาขาเภสัชศาสตร์การศึกษา :  ศ.ดร.ภญ.รุ่งเพ็ชร สกุลบำรุงศิลป์
  8. สาขาเภสัชกรรมด้านวิจัยและนวัตกรรม : ศ.ดร.ภก.ธีระพล  ศรีชนะ
  9. สาขาเภสัชกรรมสี่เหล่า :  ภก.พล.ต.ต.ฉัตรชัย นันทมงคล
  10. สาขาการประยุกต์ใช้วิชาชีพเภสัชกรรมให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม :  ผศ.ดร.ภก.ดำรงศักดิ์ เป๊กทอง
  11. สาขาเภสัชกรรุ่นใหม่ : รศ.ดร.ภญ.จิตติมา ลัคนากุล

สำหรับปีนี้ นับเป็นเรื่องน่ายินดียิ่ง ที่มีเภสัชกรไทย 2 ท่าน ได้รับรางวัล FAPA Award 2023  ได้แก่ 

  1. ผศ.ดร. ภญ รจพร  วัชโรทยาง ได้รับรางวัล FAPA Award 2023 สาขา Industrial and Marketing 
  2. ภญ วรัญญ เล่งวิริยะกุล ได้รับรางวัล  FAFA Award 2023 สาขา  Young Pharmacist Award 

โดยทั้ง 2 ท่าน จะเดินทางไปรับรางวัลดังกล่าว ณ ประเทศไต้หวัน ในเดือนตุลาคมนี้  นับเป็นเกียรติอย่างยิ่งแก่เภสัชกรไทยและประเทศไทย เพราะเป็นรางวัลในระดับนานาชาติ ที่มาจากคัดเลือกเภสัชกรที่มีผลงานและความสามารถอันเป็นที่ประจักษ์ชัดเจนจากประเทศสมาชิกของสหพันธ์เภสัชกรรมสมาคมแห่งเอเชีย (FAPA)  ทั่วทวีปเอเชีย 

เนื่องในโอกาส วันเภสัชกรโลก ( World Pharmacist Day ) 25 กันยายน ของทุกปี  เภสัชกรไทยทุกสาขา พร้อมใจกันผสานความร่วมมือเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้ระบบสุขภาพ อันเป็นธีมของวันเภสัชกรโลกปี 2566 นี้ นั่นคือ “Pharmacy Strengthening Health System” ที่กำหนดโดย สหพันธ์เภสัชนานาชาติ (FIP หรือ International Pharmaceutical Federation) โดยการยึดมั่นในหน้าที่ และจรรยาบรรณแห่งการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ร่วมกับบุคคลากรทางสาธารณสุขแขนงอื่นๆ  เพื่อประโยชน์สูงสุดแด่ผู้ป่วย อันเป็นเป้าหมายสูงสุดแห่งการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม 

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org

เรื่องที่เกี่ยวข้อง