ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง เปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินรองรับสถานการณ์น้ำท่วมลำปาง เผยน้ำทะลักเข้ารพ. 2 แห่ง รพ.สบปราบ และรพ.สต.แม่ปะหลวง อ.เถิน ขนย้ายอุปกรณ์ทางการแพทย์ ครุภัณฑ์ต่างๆแล้ว ล่าสุดเปิดรพ.สนามบริการ ณ ที่ว่าการอำเภอสบปราบ ส่วนรพ.สบปราบยังให้การรักษาผู้ป่วยในได้ตามปกติ

 

เมื่อวันที่ 29  กันยายน 2566 นพ.ประเสริฐ กิจสุวรรณรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำปาง ลงพื้นที่หลังได้รับรายงานว่ามีน้ำหลากเข้าท่วมพื้นที่อำเภอสบปราบและเถิน มีสถานบริการสาธารณสุขที่ได้รับผลกระทบมีน้ำทะลักเข้าภายในหน่วยบริการ 2 แห่ง คือ โรงพยาบาลสบปราบ และ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแม่ปะหลวง อำเภอเถิน โดยได้ทำการขนย้ายอุปกรณ์ทางการแพทย์ ครุภัณฑ์ ยาและเวชภัณฑ์ไว้ในที่ปลอดภัยแล้ว ขณะนี้ได้เปิดโรงพยาบาลสนามให้บริการ ณ ที่ว่าการอำเภอสบปราบ  ส่วนโรงพยาบาลสบปราบยังสามารถให้การรักษาผู้ป่วยในหอผู้ป่วยได้ตามปกติ อย่างไรก็ตามได้เตรียมแผนลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินไปที่โรงพยาบาลใกล้เคียง หากสถานการณ์น้ำท่วมแย่ลง

นพ.ประเสริฐ กล่าวว่า วันนี้(29 ก.ย.) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินรองรับสถานการณ์ดังกล่าว ทั้งนี้ได้จัดทีมแพทย์เข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่ได้ รับผลกระทบแล้ว ในเบื้องต้นได้จัดส่งยาชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัยจำนวน 300 ชุด รองเท้าบู๊ท 60 คู่ คลอรีน และสารส้มสำหรับการปรับปรุงคุณภาพน้ำ ทั้งนี้ได้สั่งการให้โรงพยาบาลใกล้เคียงเตรียมความพร้อมของบุคลากรและเวชภัณฑ์ต่างๆ รองรับสถานการณ์ดังกล่าว รวมทั้งให้หน่วยบริการในอำเภออื่นที่ยังไม่ได้รับผลกระทบรายงานสถานการณ์ตลอดเวลา พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินเช่นกัน

ระวังอันตรายและได้รับบาดเจ็บ

นพ.ประเสริฐ กล่าวอีกว่า  ขอให้ประชาชนระมัดระวังภัยสุขภาพที่อาจทำให้เกิตอันตรายและได้รับบาดเจ็บ เช่น การจมน้ำ สัตว์มีพิษกัดต่อย และไฟฟ้าดูด ไฟฟ้าช็อต และโรคติดต่อที่พบบ่อยในช่วงน้ำท่วมและหลังน้ำลด ได้แก่ โรคผิวหนัง โรคตาแดง โรคอุจจาระร่วง โรคฉี่หนู โรคไข้เลือดออก คำแนะนำสำหรับการป้องกันภัยสุขภาพที่มากับน้ำท่วม คือ 1.การป้องกันการจมน้ำ ห้ามขับรถหรือเดินลุยน้ำท่วมที่ไหลเชี่ยว ซึ่งระดับน้ำสูงเพียง 6 นิ้ว สามารถทำให้เสียหลักล้มได้ ให้สวมเสื้อซูชีพ หรือนำอุปกรณ์ที่ลอยน้ำติดตัวไปด้วย เช่น ถังแกลลอนพลาสติกเปล่าปิดฝาขนาด 5 สิตร ผูกเชือกสะพายแล่งที่ข้างลำตัว และติดตามข้อมูลข่าวสารสภาพอากาศตลอดเวลาจากช่องทางต่างๆ

2. การป้องกันสัตว์มีพิษกัดต่อย เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง ที่อาจหนีน้ำมาหลบซ่อนอาศัยอยู่ตามบ้านและมุมมืดต่างๆ คือ สอดส่องและสังเกตมุมอับของบ้านเป็นประจำ สำรวจเสื้อผ้าและรองเท้าก่อนสวมใส่ทุกครั้ง หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ ควรแต่งตัวให้มิตชิต และสวมรองเท้าบูททุกครั้ง ป้องกันสัตว์มีพิษที่อยู่ในน้ำกัดต่อย

3. การป้องกันไฟฟ้าช็อต ให้สับคัตเอาต์ตัดกระแสไฟ พร้อมย้ายอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ปลั๊กไฟขึ้นที่สูง ไม่ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าขณะตัวเปียกขึ้น หรือกำลังยืนอยู่บนพื้นที่เปียก ตรวจสอบเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเป็นประจำ ห้ามใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่โดนน้ำท่วม และหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำเข้าใกล้ปลั๊กไฟ สายไฟหรือเสาไฟฟ้า หากเกิดไฟฟ้ารั่ว จะมีกระแสไฟฟ้ากระจายเป็นวงกว้างไม่ต่ำกว่า 3 เมตร

4. การป้องกันโรคติดต่อที่พบบ่อยในช่วงน้ำท่วมและหลังน้ำลด เช่น โรคน้ำกัดเท้าและโรคฉี่หนู หลีกเสี่ยงการเดินลุยน้ำ หากมีบาดแผลที่เท้า ให้สวมรองเท้าบูทเดินลุยน้ำ ผึ่งรองเท้า ถุงเท้าที่ใส่ลุยน้ำให้แห้ง ป้องกันเชื้อรา และหลังลุยน้ำ รีบล้างเท้าให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำ เช็ดให้แห้งสนิท  โรคตาแดง กรณีน้ำท่วมชังกระเด็นเข้าตา อย่าขยี้ตา ให้รีบล้างตาด้วยน้ำสะอาดทันที ) โรคอุจจาระร่วง กินอาหารปรุงสุกใหม่ งดกินอาหารที่มีกลิ่น หรือรสซาติผิตปกติ ดื่มน้ำสะอาดที่มีฝาปิดสนิท หรือน้ำต้มสุก เก็บอาหารให้มิดชิด ป้องกันแมลงวัน แมลงสาบ หรือหนู และล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำทุกครั้ง ก่อนกินอาหารและหลังการใช้ห้องน้ำ นอกจากนี้ หากเจอคนถูกไฟฟ้าดูดให้ปฏิบัติ ดังนี้ ตัดกระแสไฟในที่เกิดเหตุทันที ห้ามสัมผัสตัวผู้ที่ถูกไฟฟ้าดูดด้วยมือเปล่า ให้ใช้ถุงมือยาง ผ้าแห้ง หรือพลาสติกแห้ง เพื่อเคลื่อนย้ายผู้ประสบเหตุออกจากพื้นที่หากผู้ประสบภัยหมดสติ ควรทำการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) ในบริเวณพื้นที่แห้ง และโทรแจ้ง1669  ทีมแพทย์ฉุกเฉินทันที

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง