ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สสส.-กทม.-ทีแพค สานพลัง จัดเวที PA Forum EP.1 ชูแนวทาง 3 actives เพิ่มพื้นที่สุขภาวะที่ทุกคนมีส่วนร่วม พร้อมผุดนวัตกรรมคู่มือ “WalkShop” กระตุ้นกิจกรรมทางกายกลุ่มหนุ่ม-สาวออฟฟิศ แนะ เดินประชุม ช่วยสร้างไอเดียล้ำ-สานสัมพันธ์เพื่อนร่วมงาน มุ่งเสริมเกราะป้องกันโรค NCDs

เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2566 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองประธานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คนที่ 2 กล่าวในพิธีเปิดงานเสวนาวิชาการและนโยบายด้านกิจกรรมทางกาย (PA Forum) EP.1 - Active Environment for All การพัฒนาพื้นที่สุขภาวะที่ทุกคนมีส่วนร่วมว่า จากข้อมูลคนไทยเสียชีวิตก่อนวัยอันควร (อายุ 30-70 ปี) ปี 2565 โดยสหประชาชาติ พบมากถึง 74% สาเหตุหลักมาจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อ (NCDs) สสส. เห็นความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้น ได้เร่งสานพลังภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนงานเพื่อลดพฤติกรรมเสี่ยงการเกิดโรค NCDs เน้นลดความเหลื่อมล้ำในสังคม สอดคล้องยุทธศาสตร์ SDGs ของสหประชาชาติ ที่ไม่เพียงแต่มุ่งเน้นเรื่องสุขภาพและความเป็นอยู่ แต่ยังให้ความสำคัญกับการสร้างความเท่าเทียมให้คนทุกกลุ่มมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ

“สสส. ร่วมกับ ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และภาคีเครือข่ายส่งเสริมกิจกรรมทางกาย จัดงานครั้งนี้ เพื่อเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้และหาแนวทางการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะให้เอื้อต่อการมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี ผลักดันสู่นโยบายเพื่อการส่งเสริมพื้นที่สุขภาวะตามทิศทางเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ และต่อยอดความสำเร็จของการดำเนินงานด้านการส่งเสริมพื้นที่สุขภาวะที่ทุกคนมีส่วนร่วม” นพ.สุรเชษฐ์ กล่าว

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ที่ผ่านมา สสส. บูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่าย ผลักดันให้เกิดนโยบายส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะเพื่อวิถีชีวิตสุขภาวะอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวทาง 3 actives 1.Active People 2.Active Society 3.Active Environment ในขณะนี้ สามารถสร้างเมืองที่มีความเหมาะสมกับทุกคน เป็นต้นแบบพื้นที่สุขภาวะที่เอื้อให้เกิดการมีกิจกรรมทางกายในทุกระดับกว่า 30 แห่ง ความท้าทายเพื่อให้เกิดการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะสู่ความยั่งยืน 1.บูรณาการนโยบายผังเมืองและคมนาคม 2.ปรับปรุงความสามารถในการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะ 3.พัฒนาพื้นที่เดินเท้าและพื้นที่ปั่นจักรยานอย่างครอบคลุม เป็นความท้าทายซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนมีกิจกรรมทางกายที่เพิ่มขึ้น

นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม. มีนโยบายที่สำคัญในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนเมืองให้หันมาดูแลรักษาสุขภาพ ปรับพื้นที่เมืองกรุงเทพฯ ให้กลายเป็นพื้นที่สุขภาวะ สานพลัง สสส. และเครือข่ายของชุมชนทำงานร่วมกันให้มีคุณภาพและยั่งยืน ภายใต้แนวคิดการส่งเสริมพื้นที่สุขภาวะอย่างเสมอภาคใน 3 ประเด็นสำคัญ 1. เส้นเลือดฝอยและสุขภาพคนกรุง พัฒนาระบบสาธารณสุขดูแลเข้าถึงคนในชุมชน 2. สังคมผู้สูงอายุและโรคคนเมือง จัดตั้งชมรมผู้สูงอายุไม่ให้เป็นผู้ป่วยไม่ติดเตียง เน้นให้มีกิจกรรมทางกายนอกบ้าน เกิดเป็น 360 ชมรม ใน 45 ชุมชน รวมถึงพัฒนาพื้นที่สาธารณะ “สวน 15 นาที” 3. ปัญหาโรคทางเดินหายใจ ลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม การสานพลังขับเคลื่อนการทำงานตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ ดูแลชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพ ส่งผลให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคนได้

นางสาวนิรมล ราศรี รักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า สสส. พัฒนานวัตกรรมคู่มือการจัดกิจกรรม “WalkShop : เครื่องมือส่งเสริมการจัด Healthy Active Meeting” เป็นคู่มือการจัดการ “เดินประชุม” ในรูปแบบอินโฟกราฟิก 29 หน้า ที่ปฏิบัติตามได้ง่าย นอกจากช่วยเพิ่มเวลาในการมีกิจกรรมทางกายเพื่อการมีสุขภาพที่ดี ยังช่วยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความคิดใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการเดิน รวมถึงสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในองค์กร ทั้งนี้ คู่มือ “WalkShop” มุ่งเป้าปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงานที่ส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี เอื้อให้วัยทำงานมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ ลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง หน่วยงานที่สนใจสามารถดาวน์โหลดใช้ได้ที่เว็บไซต์ https://tpak.or.th/backend/print_media_file/739/คู่มือการจัดกิจกรรม%20WalkShop.pdf

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org