ผอ.รพ.อุ้มผาง เสนอ ปลัด สธ. ขอให้ความสำคัญงานสาธารณสุขชายแดน ตั้งกองทุนเฉพาะ งบประมาณ กำลังคน ป้องกันปัญหาโรคชายแดน ที่มีความเสี่ยงแพร่มาไทยได้ภาพรวมทั้งประเทศ

 

จากกรณีนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เผยถึงแนวทางช่วยเหลือ รพ.อุ้มผาง จ.ตาก ที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง หรืองบติดลบ 40 ล้านบาท โดยจัดสรรงบประมาณช่วยเหลือ พร้อมแนวทางช่วยเหลือระยะยาวต่างๆ ไม่เพียงแต่รพ.อุ้มผาง แต่รวมถึงรพ.ตามแนวชายแดนต่างๆ

(ข่าวเกี่ยวข้อง : สธ.ชูแนวทางแก้ปัญหาระยะยาว "รพ.อุ้มผาง" ใช้แพทย์จบใหม่หมุนเวียนงาน 3-4 เดือน)

เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวว่า  ต้องขอขอบคุณปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  และสื่อมวลชนที่สนใจปัญหาชาวบ้านตามแนวชายแดน ซึ่งล่าสุดท่านปลัดกระทรวงฯ ได้จัดสรรงบฯให้รพ.อุ้งผางจำนวน 20 ล้าน และเป็นงบเหลือจ่ายให้ รพ.ได้ชำระหนี้อีกรวมเป็นเงิน 30 ล้านบาท ซึ่งก็จะช่วยในเรื่องงบประมาณได้  อย่างไรก็ตาม ปัญหาสาธารณสุขชายแดน ไม่ใช่แค่รพ.อุ้มผาง แต่ยังมีชายแดนอื่นๆ อีก อย่างเรื่องการปรับเกลี่ยหมุนเวียนแพทย์ปฏิบัติงานนั้น มีการดำเนินการทั้งประเทศในรูปแบบเขตสุขภาพ ซึ่งเป็นไปตามนโยบาย “หนึ่งจังหวัดหนึ่งโรงพยาบาล” (One Province One Hospital) 

“อย่างของรพ.อุ้มผาง ก็มีการดำเนินการตามนโยบาย One Province One Hospital โดยผมเป็นหนึ่งในคณะทำงานในการจัดสรรแพทย์ประจำบ้านของเขตสุขภาพที่ 2 ทำให้รู้ว่า การปรับเกลี่ยแพทย์ไม่ใช่ว่าจะทำได้ตามต้องการทั้งหมด เนื่องจากจำนวนทั้งประเทศมีจำกัด ทรัพยากรมีแค่นี้ การปรับเกลี่ยในพื้นที่ก็จะได้ประมาณหนึ่ง ซึ่งในส่วนรพ.อุ้มผาง ได้น้องหมอมาช่วยเพิ่ม 2 คน ซึ่งถือว่าดีมากแล้ว” นพ.วรวิทย์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามกรณีการหมุนเวียนแพทย์จบใหม่ปรับเป็น 3-4 เดือน จาก 1-2 ปีจะช่วยได้หรือไม่ นพ.วรวิทย์ กล่าวว่า  การหมุนเวียนแพทย์ต้องหารือกันในรูปแบบจังหวัดหรือเขตสุขภาพนั้นๆ  สำหรับรพ.อุ้มผาง ถือว่าได้มาดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เนื่องจากต้องดูภาพรวม เพราะกระทรวงสาธารณสุข ทำเต็มที่แล้ว ที่เหลือเป็นปัญหาด้านทรัพยากร ซึ่งไม่มีจริงๆ ทั้งระบบ  อย่างที่ผ่านมา รพ.อุ้มผาง มีทุนแพทย์ประจำบ้าน มีทุกสาขา แต่กลับไม่มีน้องมาเอาทุน ซึ่งก็บังคับไม่ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่าปัญหาขาดสภาพคล่องของรพ. ถือว่าวิกฤตระดับ 7 สีแดงใช่หรือไม่ นพ.วรวิทย์ กล่าวว่า ใช่ เนื่องจากหากพูดถึงสภาพคล่องก็จะมี 0- 7   เราก็ระดับ 7 เนื่องจากรพ.อุ้มผาง จะมีคนที่ไม่มีสัญชาติไทยมารับบริการด้วย อย่างชาวบ้าน ซึ่งเป็นคนกระเหรี่ยงฝั่งประเทศไทยเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ ยังมีคนที่ข้ามชายแดนมา ทั้งหนี้ภัยสงคราม บาดเจ็บ คลอดบุตร มีหมด เพราะการแพทย์การสาธารณสุขฝั่งเมียนมา ล้าหลังกว่าไทยไป 30-40 ปี และเขาสู้รบกันด้วย ซึ่งพวกเขาไม่มีที่พึ่ง เขาก็ต้องข้ามมาเพื่อพึ่งพาประเทศไทย  ดังนั้น เราก็ต้องช่วยตามหลักมนุษยธรรม

 “หากพูดถึงแนวทางแก้ปัญหาระยะยาว อยากเรียนนำเสนอ ผู้บริหารระดับสูง ขอให้ท่านให้ความสำคัญกับงานสาธารณสุขชายแดนครอบคลุมทั้งประเทศ   ที่ผ่านมามีการดำเนินงานด้านสาธารณสุขชายแดนมีการทำกัน แต่ผู้บริหารที่เคยทำเมื่อเกษียณไป ก็อาจไม่ต่อเนื่อง จึงขอท่านผู้บริหารระดับสูงให้ความสำคัญ ทั้งเรื่องกำลังคนทำงานชายแดน งบประมาณ หรือตั้งกองทุนเฉพาะ” นพ.วรวิทย์ กล่าว

ผอ.รพ.อุ้มผาง กล่าวอีกว่า การให้ความสำคัญงานสาธารณสุขชายแดน จะไม่ใช่แค่การช่วยรพ.อุ้มผางเท่านั้น แต่จะช่วยรพ.ที่อยู่ตามแนวชายแดนต่างๆ อีกจำนวนมาก จะช่วยได้ทั้งประเทศไทย ที่ผ่านมาเคยดำเนินการมาก่อน แต่จะเป็นช่วงๆ ดังนั้น งานก็ไม่ต่อเนื่อง จึงขอความเมตตาให้ชาวบ้านชายขอบ เรื่องงานสาธารณสุขชายแดนด้วย ไม่ใช่แค่ไทยเมียนมา ยังมีไทยลาว ไทยกัมพูชา ซึ่งปัญหาก็จะแตกต่างกันไ