บอร์ด สปสช. เร่งจ่ายเงินชดเชยค่าบริการด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคย้อนหลังแก่หน่วยบริการ หลังเคลียร์ปัญหาข้อกฎหมายให้ใช้เงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสนับสนุนการจัดบริการแก่คนไทยได้ทุกคน เผยมีข้อมูลรอเบิกจ่ายแล้วกว่า 600 ล้านบาท 

ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) วันที่ 7 ส.ค. 2566 มีมติรับทราบ การลงนามในประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การดําเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2566 ซึ่งลงนามโดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในฐานะประธานบอร์ด สปสช. เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2566 ที่ผ่านมา

รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในฐานประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ประกาศหลักเกณฑ์ฉบับดังกล่าว มีสาระสำคัญคือ สปสช. สามารถใช้เงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไปสนับสนุนการจัดบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (PP) แก่ประชาชนไทยทุกคนทุกสิทธิ โดยมีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565

การจัดสรรงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ที่มาของการออกประกาศฉบับนี้ เนื่องจากประกาศหลักเกณฑ์การดําเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ ฉบับที่ 1 ซึ่งว่าด้วยกระบวนการการจัดสรรงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อสนับสนุนการจัดบริการรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค และควรจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 ที่ผ่านมานั้น มีประเด็นที่ไม่ชัดเจนทางกฎหมายว่าที่ สปสช. ใช้เงินจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สนับสนุนการจัดบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคครอบคลุมคนไทยทุกคนทุกสิทธินั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หรือต้องสนับสนุนการจัดบริการให้เฉพาะผู้มีสิทธิบัตรทองเท่านั้น ทำให้การประกาศใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวถูกเลื่อนออกไป 

ขณะเดียวกัน ก็มีการออกประกาศหลักเกณฑ์เพิ่มเติมฉบับที่ 2 วางแนวทางให้ใช้เงินจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สนับสนุนการจัดบริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคเฉพาะผู้มีสิทธิบัตรทองไปก่อน ส่วนผู้มีสิทธิสุขภาพอื่นๆ เช่น ผู้ประกันตน ข้าราชการ ทาง สปสช. และกระทรวงสาธารณสุข ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและหาทางออกด้วยการขอความร่วมมือหน่วยบริการให้บริการแก่ประชากรกลุ่มนี้ไปก่อน และส่งข้อมูลการเบิกจ่ายมาเก็บไว้ที่ สปสช. โดยเมื่อมีความชัดเจนทางข้อกฎหมายแล้ว สปสช. จะได้จ่ายชดเชยค่าบริการให้ทันที

รศ.พญ.ประสบศรี กล่าวต่อว่า ในด้านการสร้างความชัดเจนด้านกฎหมาย ด้วยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2566 ส่งเรื่องการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดให้บุคคลใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุขตามมาตรา 9 และมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา โดยต่อมาเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2566 ทาง ครม. ได้มีมติรับทราบผลการตรวจพิจารณาและข้อสังเกตของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ที่ส่งไปนี้ซึ่งระบุว่า ตามที่ ครม. มีมติเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2565 เห็นชอบวงเงินงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ครอบคลุมการให้บริการสาธารณสุขแก่ "ประชากรไทยทุกคน" โดยมิได้ยกเว้นบุคคลตามมาตรา 9 และมาตรา 10 ดังนั้น สปสช.จึงมีอำนาจในทางบริหารตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรี พร้อมกันนี้มติ ครม. ยังให้กระทรวงสาธารณสุข สปสช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปดำเนินการตามข้อสังเกตของคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษนี้ ดังนี้น บอร์ด สปสช. จึงมีมติรับทราบมติคณะรัฐมนตรี และรับทราบการลงนามในประกาศหลักเกณฑ์ฯ (ฉบับที่ 3) ในการประชุมครั้งนี้

การดำเนินการบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

สำหรับการดำเนินการในปีต่อไปเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา ด้วยมติ ครม. เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2566 ถือเป็นมติสำคัญที่ยืนยันการดำเนินการบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้กับคนไทยทุกคนเป็นอำนาจ สปสช. ที่ทำได้ ทั้งในมาตรา 5 และ 18 (14) ดังนั้นในการของบประมาณจะต้องอ้างมติ ครม. วันที่ 18 ก.ค. 2566 เพื่อยืนยันหลักการ และเพื่อความยั่งยืนในการของบประมาณนี้ 

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า หลังจากที่บอร์ด สปสช. ได้รับทราบความชัดเจนทางกฎหมายต่างๆแล้ว ได้กำชับให้ สปสช. เร่งดำเนินการใน 2-3 ประเด็น คือ 1. เร่งรัดการจ่ายชดเชยค่าบริการ แก่หน่วยบริการที่จัดบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคแก่ประชากรกลุ่มที่ไม่ใช่ผู้มีสิทธิบัตรทอง ตามที่ได้ขอความร่วมมือให้จัดบริการไปพลางก่อนระหว่างรอความชัดเจนทางกฎหมายไปก่อนหน้านี้ ซึ่งตามแนวทางที่วางไว้ หน่วยบริการจะส่งข้อมูลการเบิกจ่ายมารอไว้ที่ สปสช. อยู่แล้ว ขณะนี้มีข้อมูลที่รอการเบิกจ่ายอยู่แล้วประมาณ 600 ล้านบาท ซึ่ง สปสช. จะเร่งจ่ายเงินให้ต่อไป ขณะเดียวกัน ก็ขอให้หน่วยบริการที่ยังไม่ได้ทำเรื่องเบิกเข้ามา เร่งดำเนินการส่งข้อมูลการเบิกจ่ายโดยเร็วต่อไป 

2. ประสานงานประชาสัมพันธ์ให้หน่วยบริการ จัดบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเพิ่มเติม เพราะแม้ขณะนี้จะเข้าสู่ช่วงปลายปีงบประมาณ แต่ก็ยังพอมีเวลาที่หน่วยบริการจะสามารถจัดบริการเชิงรุกด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคได้ และเมื่อจัดบริการแล้วก็สามารถส่งข้อมูลเพื่อเบิกจ่ายเงินมายัง สปสช. ได้ทันที และ 3. ดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบสิทธิในการรับบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เพื่อที่จะได้เข้าไปรับบริการตามสิทธิ รวมทั้งขอความร่วมมือกรมบัญชีกลาง และสำนักงานประกันสังคม ให้ช่วยประชาสัมพันธ์แก่ข้าราชการและผู้ประกันตนอีกทางหนึ่งด้วย