สปสช.ระดมความเห็นผลการให้บริการ “2 ปี มะเร็งรักษาทุกที่ ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะ” ล้วนเห็นด้วยนโยบายมีประโยชน์ แต่ทางปฏิบัติอาจต้องปรับ ทั้งระบบคีย์ข้อมูล ระบบเบิกจ่าย ขณะที่เขตสุขภาพที่ 13 กทม.ปริมณฑลตัวเลขผู้ป่วย ค่าใช้จ่ายระบบบัตรทองพุ่งสูงรวม 8 พันล้านบาท
เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ที่โรงแรมเซ็นทราฯ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้บริการ “ 2 ปี มะเร็งรักษาทุกที่ ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะเพื่อก้าวสู่ความสำเร็จถ้วนหน้า” โดยกล่าวเปิดงาน พร้อมระบุขอให้ผู้ให้บริการ ผู้ที่เกี่ยวข้อง อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญต่างๆ เผยถึงปัญหาต่างๆ รวมทั้งข้อเสนอ เพื่อหาทางออกร่วมกัน
พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราพบว่ายังมีอุปสรรคในการเข้าถึงการรักษามะเร็ง ซึ่งนโยบายมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม เป็นหนึ่งในนโยบายที่ช่วยการเข้าถึงบริการ โดยโครงการนี้เริ่มเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2564 ซึ่งบทบาทของสปสช.ทำหน้าที่จ่าย ส่วนกระทรวงสาธารณสุข มีสถาบันมะเร็งแห่งชาติออกแบบระบบเป็นหลัก เป็นการทำงานร่วมกัน โดยเรามีเป้าหมายคือ 466 ดังนี้ ร้อยละของผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดภายในระยะเวลา 4 สัปดาห์ ร้อยละของผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัดภายในระยะเวลา 6 สัปดาห์ และร้อยละของผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยรังสีรักษาภายในระยะเวลา 6 สัปดาห์
ทั้งนี้ เมื่อมีนโยบายออกมาก็มีเรื่องการจัดบริการของหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะรังสีรักษา ปัจจุบันมี 42 แห่ง โดยกทม.มีมากที่สุด ส่วนหน่วยบริการเคมีบำบัดนั้นเพิ่มขึ้นเป็น 183 แห่งกระจายไปทุกเขตสุขภาพ อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ป่วยมะเร็งในระบบ UC โดยปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 2 แสนกว่าคน ขณะที่ตัวเลขการรับบริการสะสมตั้งแต่ปี 2564-2566 ถึงเดือนพฤษภาคม 2566 เป็นเวลา 8 เดือน พบว่าคนมารับบริการเพิ่มขึ้น และจำแนกออกเป็นภายในจังหวัด นอกจังหวัดและนอกเขต ซึ่ง กทม.เกือบครึ่งเป็นคนไข้นอกพื้นที่
สำหรับจำนวนผู้ป่วยมะเร็งและค่าใช้จ่ายตั้งแต่มีนโยบายพบว่า เพิ่มขึ้น โดยปีที่ผ่านค่าใช้จ่ายเกือบ 8 พันล้านบาท ซึ่งการจ่ายเราจะจ่าย 2 ส่วน ประกอบด้วย การจ่ายตามรายการที่กำหนด หรือ Fee schedule ทั้งการวินิจฉัย และ 2.บางตัวไม่อยู่ในรายการ เราก็จ่ายแบบ fee for services หรือจ่ายตามที่เรียกเก็บ โดยในปี 2566 ก็มีการเจรจาว่าการจ่ายแบบ Fee for services มีหลายรายการเข้ามาอยู่ใน Fee schedule ซึ่งมีการประกาศเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ดังนั้น ช่วงเดือนกรฏาคม สิงหาคม และกันยายน จะเห็นตัวเลขมีการชิปมาที่ Fee schedule เท่าไหร่ ซึ่งเขตสุขภาพที่ 13 จะเห็นตัวเลขนี้เยอะนิดหนึ่ง
พญ.ลลิตยา กล่าวอีกว่า สปสช.ยังมีการประเมินความพึงพอใจต่อนโยบายนี้ ทั้งประชาชนและผู้ให้บริการ โดยปี 2564 พบว่าประชาชนให้ความพึงพอใจอยู่ที่ 8.50 จาก 10 คะแนน ส่วนผู้ให้บริการพอใจอยู่ที่ 8.54 จาก 10 คะแนน ขณะที่ปี 2565 ประชาชนพึงพอใจอยู่ที่ 8.19 และผู้ให้บริการอยู่ที่ 8.55 แต่หากมาเก็บในประเด็นเรื่องร้ร้องเรียนพบว่า ปี 2564 มีเรื่องร้องเรียน 96 เรื่อง ปี 2565 มีเรื่องร้องเรียน 28 เรื่อง ส่วนปี 2566 มี 35 เรื่อง ซึ่งเรื่องร้องเรียนพบมากในเขต 13 กทม.และปริมณฑล เขต 4 เขต 5 และเขต 6 โดยตลอด 3 ปี พบว่าเป็นเรื่องร้องเรียนการเรียกเก็บเงิน 30 เรื่อง และไม่ได้รับการบริการตามสิทธิที่กำหนด 26 เรื่อง
นพ.ธีระชัย ทรงเกียรติกววิน รองประธานกรรมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ สาขามะเร็ง กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สิ่งสำคัญของการบริการคือ อย่าทำให้ประชาชนเดือดร้อนกับการส่งตัวส่งต่อไปมา ซึ่งประชาชนเมื่อเขาป่วยเขาก็อยากไปในสถานที่รักษา แต่ด้วยระบบเดิมของเราต้องมีใบส่งตัว บางครั้งเจอหมอบอกว่า ข้อมูลไม่ครบให้กลับไปเอาเอกสารอีก กว่าจะได้เอกซเรย์ กว่าจะได้รับการรักษาเราพบว่า ต้องมารพ.ถึง 6 ครั้ง ประชาชนได้รับความเดือดร้อนมาก บางคนต้องเหมารถ อย่างคนต่างจังหวัด คนสามจังหวัดชายแดนใต้ เหมาครั้งหนึ่ง 2-3 พันบาทต่อครั้ง ดังนั้น เมื่อมีโครงการนี้ต้องปักหลักว่า จะไม่มีใบส่งตัวต่อไป เพราะไม่ใช่ภาระของคนไข้ต้องมาทำ โดยเราใช้ระบบให้รพ.ติดต่อกับรพ.เอง โดยระบบจะประสานกันเองในทุกเขตสุขภาพ
“จริงๆทุกเขตทำได้หมด แต่อาจมีเขต 13 หรือกทม.ที่มีรพ.หลายสังกัดอยู่ ไม่เหมือนสธ.จะดูแลส่วนภูมิภาค การสื่อสารจะรวดเร็ซ อย่างไรก็ตาม จุดที่ดีของนโยบายนี้ นอกจากดีกับผู้ป่วย ยังดีกับสถานพยาบาล เพราะเดิมทีหากคนไข้ต้องถูกส่งตัวไปรักษารพ.มหาวิทยาลัยต่างๆ เราจะถูกตัดเงินก่อน แต่ปัจจุบันที่ไหนรักษาที่นั่นจะคิดค่าใช้จ่าย แต่ไม่ได้เรียกเก็บประชาชน” นพ.ธีระชัย กล่าว
นพ.ธีระชัย กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ นโยบายนี้ดีมาก ซึ่งความสำเร็จที่ซ่อนอยู่ในเรื่องการไม่ต้องมีใบส่งตัว คือ ระบบ Cancer Nurse coordinator เป็นระบบที่กระทรวงสาธารณสุขทำอยู่ แต่ระบบนี้ไม่ยั่งยืน เพราะพยาบาลมีหน้าที่ค่อนข้างเยอะ และเปลี่ยนคนไปมา จึงขอฝากสปสช.ในการดูเรื่องระบบดังกล่าวให้ดี เพราะหากระบบพัง คนไข้ก็จะต้องกลับมาเอาใบส่งตัวต่างๆ อยู่ดี ก็จะไม่บรรลุวัตถุประสงค์ นอกจากนี้ ขอฝากสปสช.ในเรื่องการปรับปรุงการบันทึกข้อมูล การลงทะเบียน ซึ่งนโยบายนี้ส่วนใหญ่ใช้ข้อมูลจากสปสช.ในเรื่องการคีย์ข้อมูลเพื่อเบิกจ่าย แต่จริงๆควรมีระบบในการลงทะเบียนที่ให้เห็นถึงข้อมูลสถานการณ์คนไข้ได้ เพราะไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นเปลี่ยนไปบันทึกข้อมูลของสปสช.อย่างเดียว นอกจากนี้ ในเรื่องการเบิกจ่ายต้องระวังในเรื่องข้อมูลที่อาจสับสนหรือไม่เข้าใจว่า ต้องคีย์ข้อมูลเบิกจ่ายอย่างไร ทำให้อาจตัวเลขต่ำกว่าเกณฑ์ หรือสูงกว่าเกณฑ์
นพ.ศุภกร พิทักษ์การกุล รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า ในเรื่องระบบส่งข้อมูล จากนโยบายที่ไม่มีใบส่งตัว เราก็ต้องมานั่งพิจารณาว่า จะทำอย่างไรให้เราทราบข้อมูลการรักษาที่คนไข้นั้นเคยรักษา จึงเป็นที่มาของการพัฒนาระบบมารองรับ รวมทั้งมีแอปพลิเคชัน Cancer Anywhere ให้คนไข้ด้วย รวมถึงสถาบันมะเร็งฯ ยังลงพื้นที่ให้ความเข้าใจนโยบายนี้ เพื่อให้บุคลากรเข้าใจวัตถุประสงค์ เพราะบางแห่งช่วงแรกๆ ไม่เข้าใจให้คนไข้ไปเอาใบส่งตัวเหมือนเดิม อย่างไรก็ตาม มองว่านโยบายนี้มีประโยชน์มาก เพราะอย่างอดีตคนไข้ทำงานข้ามจังหวัดมารักษา ก็ต้องกลับไปต้นทาง แต่นโยบายนี้ลดปัญหาเหล่านี้
พญ.ปฐมพร ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิด้านบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพ กล่าวว่า เรามีการพัฒนาโปรแกรมในการส่งข้อมูล มีทั้ง The One ซึ่งสามารถเห็นคิวการรักษา และมีโปรแกรมส่งข้อมูล คือ Thai cancer based มีโปรแกรมสำหรับประชาชนในการรองรับตรงนี้ แต่หน่วยบริการกลับไม่ใช้ประโยชน์จากโปรแกรมตามที่วางไว้ ซึ่งจริงๆแรกเริ่มนโยบายนี้ต้องการลดคิวจากยาว ไปยังที่คิวสั้น และลดปัญหาการรักษาข้ามเขต โดยไม่ต้องมีใบส่งตัว จึงต้องถามว่า เร็วที่สุด กับสิ่งที่คนไข้คิดว่าดีที่สุดอาจไม่สอดคล้องกัน เช่น รพ.ที่คิวว่างแต่ไม่ใช่รร.แพทย์ อย่างเขตสุขภาพ 13 หากดูเรื่องการวัดผล จึงเกิดคำถามว่าเขต 13 ไม่มีการส่งข้อมูลตรงนี้จะวัดอย่างไร และเขต 12 ที่วัดได้ แต่ระบบสั้นลง จึงอาจไปอยู่ที่เขตสุขภาพที่ 13 หรือไม่
“จริงๆนโยบายนี้ไม่มีปัญหาอะไรกับการให้บริการทางวิชาการ เพราะทุกคนแฮปปี้ โดยเฉพาะคนไข้ แต่การสื่อสารตอนนี้ยังพบว่า เราใช้โปรแกรมทั้ง 3 อย่างไม่ค่อยเก่ง หากใช้คล่องขึ้นอาจเพิ่มศักยภาพได้ ทำให้อนาคตสามารถแจ้งได้ว่า มะเร็งที่จังหวัดนี้ ที่รพ.นี้ได้เข้ารักษาเร็วขึ้น เป็นต้น ” พญ.ปฐมพร กล่าว
ทั้งนี้ สามารถติดตามเพิ่มเติมได้ผ่านเพจ สปสช.
- 1176 views