ชลบุรีเดินหน้านโยบายมะเร็งรักษาที่ไหนก็ได้ที่พร้อม ยกระดับบัตรทอง พบการประสานเครือข่ายโรงพยาบาล “รัฐ-เอกชน” เปิดช่องให้ผู้ป่วยเลือกรักษา ส่งต่อโดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาอย่างรวดเร็ว
นพ.อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งชลบุรี กล่าวว่า การดำเนินงานตามนโยบาย “โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม (Cancer Anywhere)” ของโรงพยาบาลใน จ.ชลบุรี ซึ่งได้อำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วยมะเร็งในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ลดความแออัดของหน่วยบริการ และลดความล่าช้าในการรอคิวเข้ารับบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ นั้น เดิมทีผู้ป่วยที่ต้องใช้รังสีรักษาในเขตสุขภาพที่ 6 มีจำนวนประมาณปีละ 3,000 ราย ขณะที่โรงพยาบาลมะเร็งชลบุรีมีเครื่องฉายแสง 3 เครื่อง โดย 1 เครื่องสามารถฉายแสงได้ทั้งหมด 600 ราย ซึ่งทั้งปีก็จะได้แค่ประมาณ 1,800 ราย ขณะที่ผู้ป่วยอีก 1,200 ราย ต้องเดินทางไปรักษาที่กรุงเทพมหานคร (กทม.)
นพ.อัครฐาน กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมา ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลมะเร็งชลบุรี อาจต้องใช้เวลารอคอยการรักษาถึง 8 สัปดาห์ ทั้งที่ปกติไม่ควรเกิน 6 สัปดาห์ เป็นเหตุให้โรงพยาบาลต้องมองหาวิธีการระบายผู้ป่วยไปยังภาคเอกชน ทั้งนี้ เมื่อมีโครงการ “โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม” ได้ทำให้เกิดแนวคิดเชื่อมต่อภาครัฐและภาคเอกชนเข้ามาร่วมมือกัน มีการทำสนธิสัญญาบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกับโรงพยาบาลวิภาราม อมตะนคร จ.ชลบุรี และหลังจากมีการบันทึกข้อตกลงร่วมกัน ผลปรากฏว่าสามารถทำให้ผู้ป่วยนั้นเข้ารับรังสีรักษาได้อย่างทันเวลา
“ปัจจุบันผู้ป่วยเป็นมะเร็งที่ได้รับการวินิจฉัยหรือกำลังวินิจฉัยนั้น สามารถไปรักษาที่ไหนก็ได้ทุกที่ในโรงพยาบาลร่วมโครงการ โดยจะมีการส่งต่อผ่านระบบ The ONE ซึ่งเป็นโปรแกรมบันทึกข้อมูล-ประวัติการรักษา จองคิวการรักษา ที่พัฒนาขึ้นโดยกรมการแพทย์ ทำให้ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องใช้ใบส่งตัว และถือเป็นมิติใหม่ของทางการแพทย์ที่ สปสช. ได้ยกระดับบัตรทองให้ผู้ป่วยสามารถรักษาได้ทุกที่อย่างแท้จริง” นพ.อัครฐาน กล่าว
นพ.ธนู ลอบันดิส ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวิภาราม อมตะนคร จ.ชลบุรี กล่าวว่า โรงพยาบาลมะเร็งวิภาราม อมตะนคร มีศักยภาพในการรักษามะเร็งทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด เคมีบำบัด รังสีรักษา โดยได้เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะผู้ป่วยด้านรังสีรักษา ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เพื่อดูแลผู้ป่วยมะเร็งระบบบัตรทองในพื้นที่
ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากการขยายการให้บริการจากโรงพยาบาลของรัฐมาสู่โรงพยาบาลเอกชนที่ได้รับมาตรฐานชัดเจนนั้น พบว่าประชาชนมีความพึงพอใจขึ้นมาก ซึ่ง สปสช.จะสนับสนุนเรื่องค่าใช้จ่ายให้
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ถ้าได้รับการวินิจฉัยและเข้าถึงการรักษาที่รวดเร็ว ก็จะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยก็ดีขึ้นเร็วตามลำดับ ที่ผ่านมาจะเคยเห็นผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยเร็วแต่รักษาช้า ตรงนี้นอกจากจะกระทบต่อร่างกายแล้วยังตามมาด้วยค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ขณะที่โรงพยาบาลก็มีความยากลำบากเนื่องจากมีภาระงานเพิ่มขึ้น ฉะนั้นโครงการโรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อมจะมาเป็นที่พึ่งของผู้ป่วย และช่วยไม่ให้ผู้ป่วยต้องล้มละลายจากการรักษา
“ผมคิดว่าเป็นที่สิ่งที่รัฐบาลไทยพยายามทำให้เกิดขึ้น ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน สำหรับเอกชนจะเห็นได้ชัดเจนว่ามีทรัพยากร ก็พยายามจะนำทรัพยากรในส่วนนี้มาใช้ นั่นเป็นสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น และต่อจากนี้ไป สปสช. จะพัฒนาระบบนี้ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้นในกลุ่มโรคอื่น” นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว
อนึ่ง นโยบาย “โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม” ที่เริ่มเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2564 เป็นไปตามแนวทางยกระดับบัตรทองของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข (สธ.) ซึ่งเมื่อผู้ป่วยสิทธิบัตรทองที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง จะสามารถเลือกเข้ารับการรักษาได้ทุกโรงพยาบาลที่มีศักยภาพรักษาภายใต้การตัดสินใจร่วมกับแพทย์ โดยจะเป็นการรักษาอย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องใช้หนังสือส่งตัว
ทั้งนี้ สธ. ได้จัดเตรียมระบบบริการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งในเขดสุขภาพทั้ง 13 เขต โดยปรับระบบบริการให้สอดคล้องกับบริบท ศักยภาพ และทรัพยากรที่มีในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรมเพื่อรองรับนโยบายดังกล่าว
- 3760 views