“ชลน่าน” ชู “เศรษฐา” เป็นต้นแบบขยันทำงานทุกวัน ชี้ยกระดับ 30 บาทฯ เป็นงานใหญ่ขับเคลื่อนต่อเนื่อง มีไทม์ไลน์ชัดเจน เห็นชัด “30บ.รักษาทุกที่ด้วยบัตรปชช.ใบเดียว” ส่วนนโยบายอื่นๆยังเดินหน้าขยายเป็น Mid-Year Success ทั้ง 13 ประเด็น
กว่า 6 เดือนนับตั้งแต่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 โดยประเด็นการสร้างและพัฒนาระบบสาธารณสุขที่สำคัญ คือ การยกระดับนโยบาย “30 บาทรักษาทุกโรค” ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ครอบคลุมมากขึ้น ประชาชนได้รับความสะดวกมากขึ้นด้วยบริการพื้นฐานใกล้บ้าน ทั้งนัดพบแพทย์ การตรวจเลือด และการรับยา ประชาชนไม่ต้องลำบากเดินทางไกลเข้าโรงพยาบาล ลดความแออัด ลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์ รวมไปถึงมุ่งเน้นส่งเสริมกลไกสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคต่างๆ ที่สำคัญยังชูการบริการสาธารณสุขที่สามารถเข้าถึงได้ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว เป็นต้น
เกิดคำถามท่ามกลางกระแสปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรี ว่า จนถึงบัดนี้ นโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค ในแต่ละแง่มุม เป็นอย่างไรบ้าง...
มีนายกฯ แบบอย่างทำงานแทบไม่มีวันหยุด
ล่าสุด นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์หลังถูกถามถึงผลงานรัฐบาลด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะการยกระดับ 30 บาทฯใน 6 เดือนที่ผ่านมา ว่า ก่อนอื่นต้องบอกว่า ตั้งแต่เริ่มรัฐบาลมา ท่านนายกรัฐมนตรีทุ่มเททำงาน เสียสละมาก แทบไม่มีวันหยุด เอาจริงเอาจังสูงมาก ต้องเลียนแบบนายกฯ ยิ่งนายกฯขยันเท่าไหร่ รัฐมนตรีทุกกระทรวง ก็ต้องขยันมากเท่านั้น ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด แต่ในระบบงานของราชการต้องเป็นไปตามแบบแผน มีกฎหมาย มีระเบียบรองรับ บางครั้งต้องดูเรื่องระบบเหล่านี้ด้วย
“ผมก็เช่นกัน จะขยันน้อยกว่า นายกฯไม่ได้ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีความชัดเจนเรื่องนโยบาย ต้องทำตามนโยบาย รัฐมนตรีต้องกำกับ บริหารนโยบาย ส่วนการรับนโยบายสู่การปฏิบัติเป็นหน้าที่ของฝ่ายข้าราชการประจำ อย่างงานเรื่องยกระดับ 30 บาท เป็นงานหลัก งานใหญ่ จังหวะก้าว ก็ก้าวย่างไปด้วยความมั่นคงตามไทม์ไลน์ที่วางไว้ เหลือแต่ระบบงบประมาณที่จะมาเสริม”นพ.ชลน่านกล่าว
นโยบายยกระดับบัตรทอง กับ 6 เดือนที่ผ่านมา
เมื่อถามว่า 6 เดือนที่ผ่านมามองว่านโยบายที่ขับเคลื่อนมีความคืบหน้ามากที่สุด นพ.ชลน่าน กล่าวว่า จริงๆมีหลายประเด็น ตามที่ได้แบ่งงานออกเป็นนโยบาย 13 ประเด็น และมีแบ่งเป็นนโยบายเร่งด่วน 100 วัน หรือควินวิน ยกตัวอย่าง กลุ่มแก้ปัญหาหลายเรื่องเสร็จภายใน 100 วันตามเป้าหมายเฉพาะ เช่น นโยบายมะเร็งครบวงจร เริ่มจากการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก 1 ล้านโดส สามารถทำได้ครบภายใน 100 วัน แต่การป้องกัน ดูแลเรื่องมะเร็งปากมดลูกยังต้องทำต่อเนื่องระยะยาว ซึ่งก็มีนโยบายสั่งการในการดำเนินการต่อไป
อย่างเรื่องสุขภาพจิตเรื่องยาเสพติด แม้ว่าจะค่อนข้างเป็นดราม่า แต่หลักของการนำสู่ปฏิบัติค่อนข้างชัดเจนมาก ในเรื่องการบำบัด รักษา ฟื้นฟู และส่งเสริมป้องกันด้วย โดยการขึ้นทะเบียนหน่วยบริการสังกัดสธ.ป็นหน่วยบำบัดยาเสพติดนั้นมั่นใจว่ามีความพร้อมและขยับต่อชุมชนบำบัด
ขยายนโยบาย Mid-Year Success
“6เดือนที่ผ่านมา ในช่วง 100 วันแรกภาพชัดเจน สามารถขยับไปพูดเรื่องเป้าหมาย Mid-Year Success หรือการติดตามขับเคลื่อนนโยบายไตรมาส 2 วางเป้าหมายช่วงเดือนมกราคมจนถึงมีนาคม 2567 ซึ่งสามาถนำ 13 นโยบายมาบอกสาธารณชนได้ว่าเหล่านี้คือสิ่งที่ได้ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล นโยบายนายกฯ”นพ.ชลน่านกล่าว
ถามว่ามีนโยบายเรื่องใดที่ต้องเร่งสปีดมากกว่าเรืองอื่น นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เรื่องเชิงระบบ เช่น งานปฐมภูมิ เรื่องของเมดิคัลฮับ เรี่องเวลเนส เรื่องการประเมินแหล่งท่องเที่ยวปลอดภัย เพราะเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยกลไกหลายภาคส่วน ซึ่งเวลเนสมีเป้าหมายที่จะมีเวลเนสเซ็นเตอร์ที่เป็นคอมมูนิตี้ 500 แห่งทั่วประเทศ ตั้งเป้าจะมีเฮสตี้ซิตี้อย่างน้อย 1 พื้นที่ใน 1 เขตสุขภาพ มีอำเภอสุขภาพดีทุกอำเภอ เป็นต้น
ฉายารัฐมนตรียาบ้า 5 เม็ด
เมื่อถามว่าการดำเนินงานเรื่องบำบัดยาเสพติด ทำให้ได้ฉายาว่ารัฐมนตรียาบ้า 5 เม็ด นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ไม่เป็นไร แต่ขอให้เติมว่า ยาบ้า 5 เม็ดเพื่อให้คนเข้าสู่การบำบัดรักษา เพราะจริงๆเจตนารมณ์เราต้องการให้คนมีโอกาสได้บำบัดรักษา กลับคืนสู่สังคม และไม่หวนคืนสู่วงจรยาเสพติดอีก
รายละเอียดนโยบายไตรมาส 2 Mid-Year Success
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับนโยบายกระทรวงสาธารณสุขไตรมาส 2 ช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม 2567 ได้ขยายเป้าหมาย (Mid-Year Success) การขับเคลื่อนนโยบายทั้ง 13 ประเด็น ดังนี้
1.โครงการพระราชดำริ เฉลิมพระเกียรติ และที่เกี่ยวเนื่องกับพระบรมวงศานุวงศ์ คือ โรงพยาบาลแม่ข่ายปรับปรุงระบบบริการตามมาตรฐานของราชทัณฑ์ปันสุขฯ 80% เพิ่มโรงพยาบาลอัจฉริยะต้นแบบระดับทอง 20 แห่ง พัฒนาชุมชนสุขภาพดี 8 แห่ง ผู้นำศาสนาผ่านหลักสูตรพระคิลานุปัฏฐาก 1,000 รูป/ท่าน ตรวจสุขภาพพระสงฆ์ สามเณร 72,000 รูป มีอำเภอสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันควบคุมโรค 70 อำเภอ โดยจะมีการคิกออฟโครงการเฉลิมพระเกียรติ “พาหมอไปหาประชาชน” 4 ภาค ในเดือนมกราคมนี้
2.รพ.กทม. 50 เขต 50 รพ.และปริมณฑล จะเปิด รพ.นพรัตนราชธานี คุ้มเกล้า เขตมีนบุรี ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2567 และลงนามความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กับกองทัพอากาศ ในเดือนมีนาคม
3.สุขภาพจิต/ยาเสพติด ตั้งเป้า 40% ของมินิธัญญารักษ์ มีอัตราครองเตียงอย่างน้อย 30% หอผู้ป่วยจิตเวช/ยาเสพติดในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปคุณภาพ 30% และกลุ่มงานจิตเวช/ยาเสพติดในโรงพยาบาลชุมชน 90%
4.มะเร็งครบวงจร เดินหน้าคัดกรองไวรัสตับอักเสบบี/ซี 2 แสนราย ผู้ที่มีผลผิดปกติเข้าถึงการรักษาทุกราย และคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วย Fit Test 475,000 ราย และส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ 38,000 ราย
5.สร้างขวัญและกำลังใจบุคลากรเร่งรัดตรวจสอบและประเมินผลงานตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษให้ครบเป้าหมาย 10,124 ตำแหน่ง รวมทั้งการใช้ตำแหน่งว่างบรรจุพยาบาลวิชาชีพให้ครบ 3,318 ตำแหน่ง และดำเนินการให้ความสำคัญบุคลากรอื่นๆ
6.การแพทย์ปฐมภูมิ พัฒนาระบบข้อมูลบริการสุขภาพด้วยเทคโนโลยี เพื่อการบริการอย่างไร้รอยต่อ ส่งเสริมการเข้าถึงบริการสุขภาพตามช่วงวัยแบบบองค์รวม ผ่านกลไกอำเภอสุขภาพดี พร้อมทั้งยกระดับ อสม.ในการจัดบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานด้วยเทคโนโลยี
7.สาธารณสุขชายแดนและพื้นที่เฉพาะ จะเปิดศูนย์การเรียนรู้ทางการแพทย์และสาธารณสุขชายแดน ณ รพ.แม่สอด จ.ตาก จัดทำหลักสูตร EOC Manager หลักเกณฑ์ EOC Assessment Tool และแนวทางรับมือไข้หวัดใหญ่ บุคคลผู้มีปัญหาสถานะได้รับการขึ้นทะเบียนประกันสุขภาพเพิ่มขึ้น 0.2% และห้องปฏิบัติการได้รับการเสริมความสามารถอย่างน้อย 1 ห้อง
8.สถานชีวาภิบาล ผ่านเกณฑ์มาตรฐานเขตสุขภาพละ 2 แห่ง โดยจะมีการคิกออฟสถานชีวาภิบาลต้นแบบคำประมง จ.สกลนคร ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ และจัดตั้ง Hospital at Home / Home Ward ในแต่ละเขตสุขภาพมากกว่า 75%
9.พัฒนาโรงพยาบาลชุมชนแม่ข่าย โดยโรงพยาบาลชุมชนแม่ข่ายระดับ A มีบริการ CT Scan ครบทั้ง 17 แห่ง
10.ดิจิทัลสุขภาพ โรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขใน 8 จังหวัดนำร่อง และ 4 เขตสุขภาพ เชื่อมและส่งต่อข้อมูลผู้ป่วยอิเล็กทรอนิกส์ได้ 100% และผ่านเกณฑ์โรงพยาบาลอัจฉริยะระดับทองขึ้นไป 10%
11.ส่งเสริมการมีบุตร ผลักดันให้ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. เป็นวาระแห่งชาติ โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป 75% มีบริการการฉีดเชื้ออสุจิเข้าโพรงมดลูก (IUI) มีผู้ได้รับบริการรักษาภาวะมีบุตรยาก 2,700 คน และทารกได้รับการคัดกรองโรคหายาก 80%
12.เศรษฐกิจสุขภาพ คัดเลือกชุมชนเป้าหมาย Healthy City MODELs จังหวัดละ 1 ชุมชน ให้การรับรอง Wellness Center 300 แห่ง อนุญาตผลิตภัณฑ์ชุมชน 50 รายการ และมี Care Giver 2,500 คน / Care Assistance 500 คน นวดไทย 2,500 คน
13.นักท่องเที่ยวปลอดภัย จะให้อำเภอนำร่อง 30% เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวปลอดพิษสุนัขบ้า มีทีมตระหนักรู้สถานการณ์ (SAT) คุณภาพ และศูนย์บริการชาวต่างชาติในสถานบริการสุขภาพ ใน 31 จังหวัดนำร่อง จัดทำเส้นทางบินสำหรับ Sky Doctor โดยจะเปิดกิจกรรม Safety Phuket Island Sandbox ในเดือนกุมภาพันธ์นี้
- 596 views