ทีเซลส์ร่วมสปสช.ดึงนวัตกรรมทางการแพทย์โดยคนไทยผ่านสิทธิประโยชน์บัตรทองเช่น“ถุงอวัยวะเทียม-รากฟันเทียม” ด้านเลขาฯ สปสช.เผยเป็น 1 ในนโยบายยกระดับ ‘30บาทรักษาทุกโรค’ ให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีมีคุณภาพ “หมอจเด็จ” เผยข้อกังวลเพิ่มสิทธิประโยชน์กระทบภาระงานนั้น จริงๆนวัตกรรมส่วนใหญ่เน้นปชช.ตรวจคัดกรองด้วยตัวเอง เพื่ออำนวยความสะดวก

 

เมื่อวันที่ 7 กันยายน  ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ประธานกรรมการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS) เป็นประธานการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการพัฒนา เรื่อง การขับเคลื่อนและติดตามประเมินผลนวัตกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระหว่าง นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. และ ดร.จิตติ์พร ธรรมจินดา ผอ.TCELS

 

ทีเซลส์ดึงนักวิจัยฝีมือดีพัฒนาผลงานผ่านสิทธิประโยชน์บัตรทอง

ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ประธานกรรมการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน)  หรือทีเซลส์ (TCELS) กล่าวว่า ประเทศไทยเรามีคนเก่งจำนวนมาก เพียงแต่อาจไม่มีเวทีที่จะนำผลงานจากคนไทยมาก่อให้เกิดประโยชน์มากนัก แต่ทีเซลส์ จะหาคนที่อยู่ในมุมมืดเหล่านี้ นำนวัตกรรมเหล่านี้มาสนับสนุนเกิดการเอาไปใช้ได้จริง   โดยการให้ทุนสนับสนุนสำหรับงานวิจัยปลายน้ำ ส่วนกลางน้ำเรายังสร้างบรรยากาศให้พวกเขาขึ้นมา และเติมเต็มสิ่งที่ขาดมาเชื่อมโยงจนผลิตและขายได้ จากนั้นก็มีการติดตามประเมินผล ที่สำคัญมีมีสปสช.เข้ามาช่วยในการสนับสนุนผลิตภัณฑ์สุขภาพของคนไทยเพื่อคนไทยผ่านสิทธิประโยชน์ต่างๆ   

 

เบื้องต้นชูฝีมือคนไทย “ถุงอวัยวะเทียม รากฟันเทียม” และอีกหลายตัวในอนาคต

ผู้สื่อข่าวถามว่าขณะนี้มีผลงานที่นำมาใช้ในสิทธิประโยชน์สปสช.แล้วใช่หรือไม่ ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า มีแล้ว  เช่น ถุงอวัยวะเทียมและรากฟันเทียม ที่ผลิตโดยคนไทย วัตถุดิบประเทศไทย สปสช.เอาเข้าสิทธิประโยชน์แล้ว  ส่วนนวัตกรรมที่กำลังมองมีอีกหลายตัว  ยกตัวอย่าง  สมุนไพรบางตัวหากถูกต่อยอด ซึ่งปัญหาใหญ่คือหมอไม่ใช้ ถ้าเราพิสูจน์ได้ว่ามีประโยชน์ก็จะเข้าสู่สิทธิประโยชน์ ซึ่งขณะนี้ทีเซลส์กำลัง อีกทั้ง ยังมี Advance Therapy Medicine หลายตัว อย่างเซลล์บำบัด ยีนบำบัดอยู่ในไปป์ไลน์ ซึ่งมีราคาสูง แต่ถ้าใช้ได้เยอะ สปสช.จะติดตามเทียบค่าใช้จ่ายกับผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น  

 

สปสช.เผยไม่ต้องใช้งบฯเพิ่ม ตัวไหนเพิ่มน้อยมากเมื่อเทียบนำเข้าตปท.

เมื่อถามกรณีการผลักดันผลิตภัณฑ์นวัตกรรมทางการแพทย์โดยคนไทยเพื่อนำเข้าชุดสิทธิประโยชน์บัตรทอง ต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติมอย่างไร นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า จริงๆหลายตัวเป็นงบประมาณเดิม เพียงแต่เปลี่ยนระบบ จากเคยให้รพ.แต่ละแห่งจัดซื้อเอง เป็นสปสช.จัดซื้อรวม ทำให้ค่าใช้จ่ายบางตัวไม่เพิ่มขึ้น แต่เราจัดระบบมุ่งเป้าว่าช่วยสินค้าไทย อย่างถุงทวารเทียมไม่ได้จ่ายเงินเพิ่มขึ้น แค่ขอมาใช้ในสินค้าคนไทย เราใช้ยางพาราในไทย ใช้ของของไทยก็สร้างเศรษฐกิจขึ้นมา ไม่ใช่ว่าทุกตัวต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น หรืออย่างรากฟันเทียมเพิ่มงบประมาณก็จริง แต่ที่ซื้อกลับถูกกว่าต่างประเทศ

ยกตัวอย่าง รากฟันเทียมของไทยถูกกว่า แต่มีคุณภาพไม่แตกต่าง โดยเดิมเราเคยซื้อรากฟันเทียม รากละเป็นหมื่นบาท เหลือ 3 พันบาท  ซึ่งคุณหมอใช้แล้วดี ราคาไม่แพงเท่า เพราะผลิตในไทย ไม่มีค่าขนส่ง เราซื้อใช้ในโครงการประมาณปีละ 7.2 พันคนที่เข้ามาทำ  แม้เพิ่มงบประมาณเล็กน้อย แต่ระบบเงินหมุนเวียน เมื่อเทียบถุงทวารเทียมที่ไม่ต้องเพิ่มเงินเลย ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี นอกจากนี้ ยังมีอยู่ในไปป์ไลน์หลายตัว เช่น ตรวจปัสสาวะในผู้ป่วยเบาหวานเพื่อป้องกันไตเสื่อม กำลังดูว่าสินค้าไทยออกมาได้ไหม คนไทยตรวจเองได้ไหม

“หลายตัวนโยบายรัฐบาลที่ออกมาเรื่องตรวจมะเร็งท่อน้ำดี โดยใช้ปัสสาวะเป็นเทคโนโลยีในประเทศไทย อย่างล่าสุดเมื่อวานนี้(6 ก.ย.) ได้นำเรียน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการ สธ. ถึงนโยบายตรงนี้ว่าขับเคลื่อนได้เลย ใช้สินค้าไทยเลย ก็จะร่วมมือกับ TCELS ในการขับเคลื่อน งบประมาณไม่น่าเป็นปัญหา แต่ประโยชน์ที่ได้จากงบประมาณที่เติมลงไปกับเศราฐกิจที่กลับมา การจ้างงานในไทย การเติบโตเศรษฐกิจ ทาง TCELS จะไปวิเคราะห์กลับมา” เลขาฯสปสช.กล่าว

 

หนึ่งในการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค สอดรับนโยบายรัฐบาล

 

ผู้สื่อข่าวถามว่าการขับเคลื่อนนวัตกรรมทางการแพทย์โดยคนไทยเพื่อคนไทยเป็นหนึ่งในการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค นโยบายรัฐบาลขณะนี้ใช่หรือไม่ นพ.จเด็จ กล่าวว่า ถูกต้อง การยกระดับบัตรทอง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของการเข้าถึงบริการ การเพิ่มบริการ โดยเมื่อวานที่พูดคุยกับรัฐมนตรี สธ.คือ การสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคด้วย เช่น การคัดกรองมะเร็งต่างๆ เทคโนโลยีพวกนี้คนไทยทำได้แน่นอน แต่ที่ผ่านมาเราอาจจะยังไม่ได้ส่งสัญญาณชัด วันนี้เราร่วมมือกับ TCELS ส่งสัญญาณชัดแล้ว คิดว่าจะช่วยยกระดับบัตรทองไปอีกระดับ

 

ส่วนใหญ่เน้นปชช.ตรวจคัดกรองด้วยตัวเอง ลดภาระงานบุคลากร

เมื่อถามว่ามีคนกังวลสปสช.เพิ่มสิทธิประโยชน์ดีกับประชาชน แต่ต้องวางระบบเพื่อช่วยบรรเทาภาระงานบุคลากรด้วยหรือไม่  นพ.จเด็จกล่าวว่า  เรื่องนี้สำคัญ ได้หารือกับปลัด สธ.อยู่ว่าที่เราทำเป็นไปได้หรือไม่ ที่เน้นประชาชนทำเองส่วนหนึ่ง อย่างตอนโควิดประชาชนก็ตรวจ ATK เอง หากจำเป็นจึงเข้าสู่กระบวนการที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องทำ เวลาเราหาเทคโนโลยีใหม่ๆ คือ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเทคโนโลยีที่ประชาชนคัดกรองเองก่อน ถ้ามีส่วนกับภาระงานของบุคลากรก็จะมีการพูดคุย อย่างรากฟันเทียมจริงๆ ท่านทำอยู่แล้ว หากใช้ฟันไม่มีรากฟันเทียม ไปๆ มาๆ คนไข้มาปรับแก้มากกว่าอีก   บุคลากรทันตแพทย์บอกขอใช้รากฟันเทียมดีกว่า แบบนี้เราเดินหน้าได้เลย

 

ด้าน ดร.จิตติ์พร ธรรมจินดา ผอ.TCELS กล่าวว่า เราอยู่ในช่วงกำลังติดตามผลการใช้งานนวัตกรรมทุกชิ้นตาม รพ.ต่างๆ กำลังรวบรวมอยู่ แต่คิดว่าดีกว่าจะนำเข้านวัตกรรมจากต่างประเทศ เพราะเรายกระดับคุณภาพนวัตกรประเทศไทย ส่วนตัวเลขคร่าวๆ ยังไม่มีกำลังดำเนินการประเมินอยู่