สปสช.ลงพื้นที่ รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช ติดตามผลการดำเนินงาน Cancer Anywhere รับฟังปัญหาอุปสรรค หารือการลดขั้นตอนการทำงานให้ง่ายขึ้น เบิกจ่ายได้เร็วขึ้น

เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2567 คณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุน ลงพื้นที่ติดตามระบบการคัดกรอง ส่งต่อ และดูแลรักษามะเร็งไปได้ทุกที่พร้อมรับฟังปัญหาอุปสรรค หน่วยบริการสาธารณสุข ที่โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช นำโดย ดร.ดวงตา ตันโช ประธานอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุน พร้อมด้วย พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านประกันสุขภาพ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ผู้ทรงคุณวุฒิ บอร์ด สปสช. นางวราภรณ์ สุวรรณเวลา รองเลขาธิการ สปสช. และนายธงชัย สิทธิยุโณ รักษาการ ผอ.สปสช.เขต 11 สุราษฎร์ธานี โดยมี นพ.พงษ์พจน์ ธีรานันตชัย ผอ.รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช และคณะสหวิชาชีพ ให้การต้อนรับ 

สำหรับผลจากการดําเนินงานตามนโยบายมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศ หรือ Cancer Anywhere ในช่วง 2 ปีนี้ จากฐานข้อมูล สปสช. พบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งเข้ารับบริการเพิ่มมากขึ้นทั้งในแง่จำนวนคน คือ 280,388 คน และจำนวนครั้งที่เข้ารับบริการ คือ 2,955,005 ครั้ง 

จากการวิเคราะห์จำแนกตามพื้นที่ พบว่าในเขต 13 กทม. คนไข้เกือบครึ่งมาจากนอกเขต กล่าวคือ จากจำนวนผู้ป่วย 62,663 คนนั้น เป็นผู้ป่วยข้ามเขต 31,213 คน หรือ 49.81% ภายในจังหวัด 25,187 คนหรือ 40.19% และที่เหลือคือ 10,017 คน หรือ 15.99% เป็นการรับบริการที่หน่วยบริการประจำ ส่วนเขตอื่น ๆ สามารถดูแลคนไข้ในจังหวัดหรือเขตของตัวเองได้ดี โดยหน่วยบริการของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และศูนย์มะเร็งต่าง ๆ ดูแลผู้ป่วยได้มากขึ้น 

ข้อมูลของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เปรียบเทียบผลลัพธ์การเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยโรคมะเร็งก่อนและหลังมีโครงการ Cancer Anywhere พบว่าการเข้าถึงการผ่าตัด การรับยาเคมีบำบัด และการฉายรังสีรักษา ภายในระยะเวลาที่กำหนด ผู้ป่วยโรคมะเร็งสามารถเข้าถึงการรักษาได้ดีขึ้นตามลำดับ 

ดร.ดวงตา กล่าวว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้ เพื่อติดตามผลการดำเนินงานแลกเปลี่ยนความเห็นและรับทราบปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานบริการตามหลักเกณฑ์บริหารกองทุนกับหน่วยบริการในพื้นที่ เพื่อเสนอประกาศหลักเกณฑ์บริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ปี 2567 เตรียมประกาศใช้หลังจาก พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2567 ที่จะประกาศใช้ในเดือนเมษายน 

สำหรับประกาศฯหลักเกณฑ์การบริหารกองทุนฯปี 2568 จะเสนอคณะกรรมการหลักในเดือนกรกฎาคม เพื่อเตรียมประกาศใช้สำหรับปีงบประมาณ 2568 ในเดือนตุลาคม 2567 ต่อไป

“การลงพื้นในครั้งนี้ที่เป็นไปตามภารกิจหลัก เพื่อวิเคราะห์ปัญหาและจัดทำข้อเสนอในการพัฒนากองทุนให้เกิดความมั่นคงและเป็นธรรม  และติดตามประเมินผลการดำเนินงานบริหารจัดการกองทุน วิเคราะห์และเสนอแนวทางพัฒนาต่อเนื่อง” ประธานอนุกองทุนฯ กล่าว

ด้าน นพ.สุวิทย์ กล่าวว่า ตามนโยบายมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศ หรือ Cancer Anywhere ที่โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช ดำเนินงานได้เป็นอย่างดี มีความพร้อมทั้งเครื่องมือที่ทันสมัย มี อุปกรณ์ ทำการรังสีรักษา ดูแลผู้ป่วยโดยแพทย์รังสีรักษาถึง 5 คน ทำให้การรอคิวรักษาไม่นาน ประชาชนจึงมั่นใจได้ว่าจะได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง ทำให้การดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งดีขึ้น อัตราการให้บริการผู้ป่วยมะเร็งและการเบิกจ่าย เทียบเคียงได้กับโรงเรียนแพทย์ จากการหารือกับ ผอ.รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช จะปรับให้มีขั้นตอนการทำงานที่ง่ายขึ้น เพื่อให้โรงพยาบาลเบิกจ่ายได้เร็ว  และขั้นตอนต่าง ๆ น้อยที่สุด


 
"ที่นี่มีเครื่องฉายรังสี 2 เครื่อง มีวอร์ดเคมีบำบัดที่พัฒนาไปเยอะมาก เป็นไปตามนโยบายมะเร็งครบวงจร ตั้งแต่การป้องกัน ส่งเสริม ดูแล ตรวจคัดกรองและรักษา"  นพ.สุวิทย์ กล่าว

นพ.พงษ์พจน์ กล่าวว่า นโยบายมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศ เริ่มวันที่ 1 ม.ค. 2564 มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการของประชาชน ลดระยะเวลารอคอย สปสช.ได้ดูแลเรื่องการจ่ายชดเชยค่าบริการ ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสถาบันมะเร็งแห่งชาติดูแลการออกแบบระบบบริการ ในอนาคตอาจจะต่อยอดมีหัตถการเพิ่มขึ้น และได้ฝาก สปสช. ด้านการส่งเสริมสุขภาพ เช่น การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม และมะเร็งลำไส้ใหญ่ ให้การดูแลอย่างครอบคลุม เพื่อประโยชน์ประชาชน