ผู้เชี่ยวชาญเสนอแนวทางพัฒนานโยบายมะเร็งรักษาทุกที่ Cancer Anywhere แนะสร้างเครือข่ายหน่วยบริการใน กทม. เพิ่มน้ำหนักการคัดกรองและรักษาตั้งแต่เป็นมะเร็งระยะแรกเริ่ม รวมทั้งให้คำแนะนำผู้ป่วยถึงทางเลือกการดูแลระยะสุดท้ายสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการเข้าสู่กระบวนการรักษา
วันที่ 30 ก.ค. 2566 นพ.ธีระชัย ทรงเกียรติกวิน รองประธานกรรมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ สาขามะเร็ง กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้ความเห็นถึงแนวทางการปรับปรุงพัฒนานโยบายมะเร็งรักษาที่ไหนก็ได้ (Cancer Anywhere) ว่า ปัญหาโรคมะเร็งมีหลายมิติ นโยบาย Cancer Anywhere เป็นส่วนหนึ่งที่เข้ามาแก้ปัญหาเรื่องการเข้าถึงบริการ แต่เป็นเรื่องปกติที่เมื่อแก้ปัญหาหนึ่งแล้วก็จะเจออีกปัญหาหนึ่งแทน ยกตัวอย่างเช่น ในพื้นที่ กทม. มีการตั้งสมมุติฐานว่าคนไข้จากภูมิภาคไหลเข้า กทม. แต่ถ้าดูตัวเลขผู้ป่วยในภูมิภาคก็ไม่ได้ลดลง เพราะฉะนั้น อาจเป็นคนไข้ที่อยู่ใน กทม.อยู่แล้ว แต่ไม่สามารถเข้าสู่ระบบการรักษาได้ แต่เมื่อมีนโยบายนี้จึงมีโอกาสเข้าถึงการรักษามากขึ้น
อย่างไรก็ดี ดังที่กล่าวไปว่านโยบาย Cancer Anywhere แก้ปัญหาการเข้าถึงบริการแต่ไม่ได้แก้ปัญหาทั้งหมดของระบบ อย่างในพื้นที่ กทม. มีความซับซ้อน มีหน่วยบริการจากหลายสังกัด การดำเนินการในด้านนี้จึงสู้ในภูมิภาคไม่ได้เพราะในภูมิภาคทำงานกันเป็นเครือข่าย มีการนำระบบต่างๆเข้ามาแก้ปัญหาความแออัดของผู้ป่วย ทั้งระบบการส่งกลับ ระบบเทเลเมดิซีน ระบบส่งยาไปถึงบ้าน ฯลฯ ด้วยเหตุนี้ หน่วยบริการใน กทม. เช่นโรงเรียนแพทย์ต่างๆ อาจจำเป็นต้องมาหารือเพื่อสร้างระบบเครือข่ายบริการร่วมกัน ไม่เช่นนั้นถ้าผู้ป่วยแออัด คิวการรักษาก็จะนานขึ้น ผู้ป่วยก็จะเข้าไม่ถึงการรักษาเหมือนเดิม
ขณะเดียวกัน นพ.ธีระชัย ยังเสนอให้เพิ่มความสำคัญกับการดูแลระยะท้ายเพิ่มขึ้น เพราะจากข้อมูลพบว่าโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปของกระทรวงสาธารณสุข มีผู้ป่วยระยะสุดท้ายอยู่ประมาณ 18-20% และในจำนวนนี้ มีเพียง 18-20% ที่ได้รับการดูแลแบบ palliative care นั่นหมายความว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ได้รับการรักษา แต่ไม่แน่ว่าการรักษาจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วย
“บางครั้งเราโฟกัสเรื่องเดิมๆ การ reimbursement หรือการจ่ายชดเชยค่าบริการสาธารณสุขจะจ่ายเท่าไหร่ จะครอบคลุมเท่าไหร่ แต่ถ้าถามผู้ป่วยระยะท้ายสักคำ ก็อาจสร้างคุณค่ามหาศาล ทั้งตัวผู้ป่วยและทำให้ระบบไม่รับภาระมากขึ้น”นพ.ธีระชัย กล่าว
ด้าน นพ.ศุภกร พิทักษ์การกุล รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า จากการขับเคลื่อนนโยบายมา 2 ปี สิ่งที่อยากเสนอให้ปรับปรุงเพิ่มเติมคือเรื่องการประชาสัมพันธ์ เพราะหลายครั้งหน่วยบริการหรือผู้ปฏิบัติงานไม่รับรู้นโยบาย ยังมีการให้คนไข้กลับไปขอหนังสือส่งตัว ดังนั้นต้องมีการประชาสัมพันธ์ชี้แจงนโยบายให้มากขึ้น
อีกประเด็นคือเรื่องการแชร์ทรัพยากร ปัจจุบันทรัพยากรกระจายตัวแต่คนไข้อาจเข้าไม่ถึงหรือหน่วยบริการไม่ได้แนะนำให้คนไข้ไปรับบริการ ดังนั้น ถ้ามีอัตราการจ่ายที่เหมาะสมแล้วดึงโรงพยาบาลที่มีศักยภาพและยังมีผู้รับบริการน้อย หรือโรงพยาบาลเอกชนที่มีความพร้อมเข้ามาเติมเต็มในระบบก็จะเกิดประโยชน์ต่อนโยบายมากขึ้น
นอกจากนี้ บุคลากรที่ดูแลคนไข้มะเร็ง เช่น cancer nurse coordinator ก็ควรมี career path (เส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพ) ที่ชัดเจน หรือมีค่าตอบแทนที่เพิ่มเติมเข้าไป จะช่วยเพิ่มกำลังใจแก่คนทำงานมากขึ้น และประเด็นสุดท้ายคือการเพิ่มงบประมาณในด้านการคัดกรองหรือการวินิจฉัยให้พบโดยเร็วเพื่อลดการรักษาเมื่ออาการเข้าสู่ระยะสุดท้าย ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการรักษาเมื่ออาการยังอยู่ในระยะแรกเริ่ม
ขณะที่ พญ.ปฐมพร ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิด้านบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพ ผู้แทนสมาคมรังสีรักษาและมะเร็งวิทยาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตำแหน่ง cancer nurse coordinator จริงๆแล้วอาจไม่จำเป็นต้องเป็นพยาบาล แต่ให้วิชาชีพอื่นทำหน้าที่ได้ เพราะถ้ากำหนดตายตัวว่าต้องเป็นพยาบาลจะลำบากเพราะปกติภาระงานของพยาบาลก็มีมากและขาดแคลนอยู่แล้ว
พญ.ปฐมพร กล่าวอีกว่า ในส่วนของการส่งต่อข้อมูลการรักษานั้น ขณะนี้สถาบันมะเร็งฯกำลังทำรายการมาตรฐานข้อมูล และในอนาคตโรงพยาบาลที่อยู่ในระบบก็สามารถพัฒนา HIS (Hospital Information Systems) หรือระบบสารสนเทศโรงพยาบาลให้มีข้อมูลตามรายการมาตรฐานนี้ได้โดยเชื่อมโยงด้วย API ทำให้ไม่ต้องบันทึกข้อมูลซ้ำในหลายๆแอปพลิเคชัน อย่างไรก็ดี ในส่วนของโรงพยาบาลที่ไม่ได้อยู่ในสังกัด สธ. ก็จะเป็นปัญหาเพราะทุกโรงพยาบาลมีแอปฯและฐานข้อมูลของตัวเองหมด แต่ขณะนี้มีหน่วยงานที่พยายามรวบรวมข้อมูลคือสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (BDI) ดังนั้น ในฐานข้อมูลมะเร็งก็สามารถส่งต่อข้อมูลผ่าน BDI ก็ได้ หรือผ่านโปรแกรม Thai Cancer Based ก็ได้ และในอนาคตก็สามารถยุบรวมทั้ง 2 ฐานข้อมูลนี้เข้าด้วยกันได้โดยใช้มาตรฐานข้อมูลที่สถาบันมะเร็งฯกำหนด ซึ่งจะทำให้การทำงานสะดวกขึ้น
ด้าน พล.ท.รศ.นพ.วิชัย วาสนสิริ ประธานชมรมศัลยแพทย์มะเร็งประเทศไทย กล่าวว่า ในเรื่องการส่งตัว ควรมีการแจ้งผู้ป่วยว่าจะต้องไปแผนกไหน เพราะบางครั้งผู้ป่วยไปแล้วก็ไม่รู้ว่าต้องไปที่ไหน ถ้ามีการแจ้งให้ชัดเจนก็จะช่วยลดขั้นตอนบางส่วน และในด้านการรักษาด้วยเคมีบำบัด อายุรแพทย์มะเร็งสามารถกำหนดสูตรยาและเมื่อส่งผู้ป่วยกลับไปยังโรงพยาบาลต้นทางและให้แพทย์ในโรงพยาบาลนั้นๆ จัดยาตามสูตรให้ เชื่อว่าจะลดความแออัดได้มากขึ้น ทั้งนี้ สปสช. อาจสนับสนุนในด้านการจัดฝึกอบรมแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนเกี่ยวกับการรักษาด้วยเคมีบำบัดควบคู่ไปด้วย
ขณะที่ นพ.เพชร อลิสานันท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการเงิน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภาการชาดไทย ผู้แทนเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า พัฒนาการด้านการรักษาพยาบาลมีความรวดเร็ว แต่การพิจารณาอัตราการเบิกจ่ายของ สปสช. ยังช้า ทำให้มีข้อจำกัดในการเบิกจ่ายการรักษาด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมทั้งประเด็นเรื่องการถูกเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาล ซึ่งตนคิดว่าเรื่องนี้เป็นยอดของภูเขาน้ำแข็ง เพราะเชื่อว่ามีการถูกเรียกเก็บมากกว่านี้ และมีคนที่พร้อมจ่าย
“ดังนั้นเราอาจต้องพูดถึงการร่วมจ่ายบางอย่าง หรือถ้าในรายการจ่ายที่จำเป็นก็ขอให้ สปสช. พูดให้ชัดว่าอันไหนจ่าย อันไหนไม่จ่าย อันไหนโรงพยาบาลเรียกเก็บได้ เพราะสิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้คือคนไข้รู้สึกสบายใจที่ไม่ต้องจ่าย แต่เวลาอยู่หน้างาน รายการบางอย่างไม่ได้อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์”นพ.เพชร กล่าว
ด้าน ศ.ดร.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็ง และชีวาภิบาล (เยือนเย็น วิสาหกิจเพื่อสังคม) กล่าวว่า จริงๆแล้วมีคนไทยจำนวนมากที่เข้าใจสัจธรรม ถ้าได้คุยตั้งแต่ต้น เราอาจพบว่าผู้ป่วยอาจจะเลือกอยู่กับมะเร็งอย่างสันติตั้งแต่แรก เพราะจากที่ทำงานมา ผู้ป่วยที่ได้คุยด้วย 93% เลือกที่จะอยู่อย่างสบายตายอย่างสงบ
“ข้อเสนอคือต้องหาวิธีทำให้คนเหล่านี้เข้าถึงคำปรึกษาที่เป็นกลางว่าจะทำอย่างไรกับชีวิต ถ้าผู้ป่วยต้องการอยู่อย่างสบายตายอย่างสงบ ก็เข้าสู่กระบวนการดูแลแบบ palliative care ได้เลย ส่วนผู้ที่ต้องการการรักษาก็เข้าสู่กระบวนการรักษาไป วิธีนี้เชื่อว่าจะทำให้ผู้ที่ต้องการการรักษาได้รับการดูแลที่ดีเพราะคิวลดลง ส่วนผู้ที่เข้าสู่ palliative care ก็ไม่ต้องเจ็บปวดกับการรักษา ภาระค่าใช้จ่ายของระบบก็จะลดลง”ศ.ดร.นพ.อิศรางค์ กล่าว
- 534 views