นักวิจัย ชี้ นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิทุกที่ (UCEP) มาถูกทาง ลดความเหลื่อมล้ำระหว่าง 3 กองทุนสุขภาพ พร้อมแนะประเด็นรุกพัฒนา
วันที่ 12 ก.ค. 2566 ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล อดีตอาจารย์คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ในฐานะผู้วิจัยโครงการติดตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิทุกที่ (UCEP) เปิดเผยว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลนโยบาย UCEP สรุปได้ว่าเป็นนโยบายที่เดินมาถูกทาง ได้ผลดีในระดับหนึ่ง และควรเดินหน้าต่อ ซึ่งในการเริ่มต้นนโยบาย UCEP นี้ ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการหารือความร่วมมือกับ รพ.เอกชน ก่อน ทั้งอัตราจ่ายและวิธีจ่ายเงินชดเชย ซึ่งประเด็นที่ทำให้ รพ.เอกชน รู้สึกพอใจและให้ความร่วมมือ คือการกำหนดหลักเกณฑ์ UCEP จะต้องเป็นอาการระดับสีแดงเท่านั้น รวมถึงการจำกัดช่วงเวลารักษาที่ 72 ชั่วโมง ทำให้ตั้งแต่ปี 2561-2565 การรับรักษาผู้ป่วย UCEP โดย รพ.เอกชนมีจำนวนมากขึ้น ซึ่งยังส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำระหว่างสิทธิสุขภาพ 3 กองทุนลดลง
ทั้งนี้แม้ว่าการดูแลผู้ป่วย UCEP โดย รพ.เอกชนจะดีขึ้น แต่ยังมีการร้องเรียนเกี่ยวกับการเข้ารับบริการ UCEP อยู่ โดยเฉพาะปัญหาถูกเรียกเก็บเงิน และถูกปฏิเสธเข้ารับการรักษา โดยเฉพาะ รพ.เอกชนระดับ Hi-end ประกอบกับในภาวะอาการที่ผู้ป่วยเชื่อว่าอยู่ในระดับสีแดง แต่ รพ.แจ้งว่าเป็นสีเหลือง ซึ่งเมื่อมีอาการเจ็บป่วยที่เข้าด้ายเข้าเข็ม ก็ทำให้ญาติตัดสินใจควักเงินจ่ายค่ารักษาเอง
ศ.นพ.ไพบูลย์ กล่าวต่อว่า ในมุมของนักวิชาการ คนไข้ระดับสีเหลืองมีโอกาสที่อาการจะขยับไปเป็นสีแดงได้ ทั้งจากการวินิจฉัยที่คลาดเคลื่อน หรือในจังหวะการประเมินอาการขณะนั้นยังไม่ถึงระดับสีแดง เช่น ตกเลือดในช่องท้องแต่ยังไม่ช็อคก็เป็นสีเหลือง แต่ผ่านไปสักพักมีอาการช็อคก็จะกลายเป็นสีแดง เป็นต้น ดังนั้นเกณฑ์การตัดสินว่าเอาเฉพาะสีแดงก็อาจเป็นช่องโหว่ง รวมถึงการจำกัดบริการที่ 72 ชม. ก็อาจส่งผลต่อความปลอดภัยของผู้ป่วยได้
นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิทุกที่ (UCEP)
นอกจากนี้จากการวิเคราะห์เพิ่มเติมพบว่า UCEP มีอีกหลายประเด็นที่ปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ เช่น ข้อสันนิษฐานที่ว่า การบริการ UCEP ของ รพ.รัฐ ดีแล้ว แต่ข้อเท็จจริงยังมีจุดอ่อนที่ต้องปรับแก้ อย่างเช่น ค่าตอบแทนของแพทย์และพยาบาลใน รพ.รัฐ ปกติก็อยู่ในอัตราที่ต่ำอยู่แล้ว ทำให้แรงจูงใจและความทุ่มเทจึงต่ำไปโดยธรรมชาติ และเรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นการเป็นคนดีหรือไม่ดี แต่เป็นเรื่องความสมน้ำสมเนื้อในการทำงาน รวมถึงยังมีปัญหาระเบียบและหลักเกณฑ์ต่างๆ ของการใช้เงินที่เป็นอุปสรรค ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มค่าตอบแทนหรือจัดหาเครื่องมือทางการแพทย์ต่างๆ เพื่อดูแลผู้ป่วย UCEP ดังนั้นแม้ว่าจะมีการอัดฉีดเงินให้ รพ.รัฐ ก็ไม่อาจแก้ปัญหานี้ได้
ขณะนี้การนำส่งผู้ป่วยก็ยังเป็นปัญหา พบว่ามีผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตที่เข้ารับการรักษาในแต่ละวัน โดยการนำส่งผ่านระบบสายด่วน 1669 ไม่ถึงร้อยละ 10 ส่วนการส่งรถพยาบาลไปรับคนไข้ที่ควรสอดคล้องกับความรุนแรงของโรค แต่สัดส่วนไม่ได้เป็นไปตามที่ควรเป็น เช่น ผู้ป่วยสีแดงถูกนำส่งด้วยรถพยาบาลขั้นสูงประมาณ 80% ซึ่ง 80% นี้อยู่ใน 10% ที่ประสานผ่านระบบของ 1669 ดังนั้นจึงเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก ส่วนผู้ป่วยสีเหลืองได้รับรถที่เหมาะสมกับอาการน้อยลงไปอีก โดยมีตัวเลขแค่ 12%เท่านั้น
“คำถามคือเราจะอุดช่องว่างนี้ได้อย่างไร 10 กว่าปีที่ผ่านมาอาจถูกจำกัดด้วยงบประมาณ ถูกจำกัดในการสร้างแรงจูงใจ หรือหากลไกอื่น เช่น อปท. เข้ามาทำในเรื่องนี้ รวมถึงการพัฒนาบุคลากรในระบบ ซึ่งต้องฝากไปยังสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง”
ส่วนประเด็นสุดท้ายนั้น ศ.นพ.ไพบูลย์ กล่าวว่า ต้องให้ความสำคัญกับข้อมูลที่ต้องมีการลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของ รพ.รัฐในการวิเคราะห์ข้อมูล การพัฒนาคุณภาพข้อมูล และการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างโรงพยาบาล เนื่องจากคนไข้ฉุกเฉินวิกฤติมักไปตั้งต้นที่ รพ.อำเภอ หรือ รพ. ขนาดเล็กก่อน แล้วส่งต่อไป รพ.ขนาดใหญ่ หรือถ้ามา รพ. เอกชน เมื่อครบ 72 ชม. ก็ต้องส่งกลับ รพ.ต้นสังกัด ดังนั้นหากเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างโรงพยาบาลได้ ก็จะมีข้อมูลเพียงพอให้กับแพทย์ผู้รักษาในการดูแลผู้ป่วยต่อเนื่อง
- 131 views