ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สะท้อนปัญหา “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิทุกที่” ปชช.ร้องเรียนบริการสุขภาพสูง พบสิทธิบัตรทอง 1819 ราย (68.33%) สิทธิประกันสังคม 239 ราย (8.98%) อีกทั้ง รพ.เอกชนเรียกเก็บเงิน เหตุอาการไม่เข้าข่ายเรียกวิกฤตสีแดง วอนไม่ควรถูกเรียกเก็บเงินทุกกรณี!  ด้าน "นพ.พิสิทธิ์"  ชี้ ผู้ป่วยควรได้รับการดูแลทันที ไม่ควรเริ่มต้นที่ห้องฉุกเฉินหรือโรงพยาบาลเท่านั้น

เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2567 ณ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีการจัดเวทีอภิปรายข้อเสนอเพื่อพัฒนา “บริการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิทุกที่ ไม่ต้องสำรองจ่าย” โดยมี นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค นาวาเอก (พิเศษ) นพ.พิสิทธิ์ เจริญยิ่ง รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) นางสาวฌิชาภัทร ขัตติวงค์ นักวิชาการแรงงานชำนาญการ สำนักงานประกันสังคม (สปส.)   คุณดวงนภา พิเชษฐ์กุล ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ.ขวัญประชา เชียงไชยสกุลไทย นักวิจัยศึกษากลไกการจ่ายและการควบคุมอัตราการเบิกจ่ายค่าบริการ กรณีการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ และ ผศ.ดร.อัญมณี ภักดีมวลชน ญาติของผู้ป่วยที่ถูกเรียกเก็บเงินฯ

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า สภาองค์กรผู้บริโภคมีการทำงาน 8 ด้านที่สำคัญ หนึ่งในนั้นคือด้านบริการสุขภาพ โดยมีคณะอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพดูแลประเด็นด้านการ คุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งในการดำเนินการ จะเห็นว่ามีนโยบายเรื่อง บริการสุขภาพมาตรฐานเดียว ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญเพราะในขณะนี้มีการบริการสุขภาพในหลายมาตรฐาน โดยมี 3 กองทุน โดยมีความแตกต่างกันและมีความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะผู้ประกันตน ที่มีสิทธิประโยชน์น้อยกว่า ระบบอื่น ยังบรรจถงก็พูดเรื่องบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที ซึ่งสิทธิผู้ประกันตนขณะนี้ถือว่าต่างจาก กลุ่มอื่น และเป็นกลุ่มเดียวที่จ่ายเงิน นอกจากนี้ยังมีเรื่อง การปฏิเสธรักษาพยาบาล หรือการบริการกรณีวิกฤตฉุกเฉิน ที่สภาองค์กรผู้บริโภคได้ดำเนินการขับเคลื่อนมา 

ทั้งนี้พบว่า ในการช่วยเหลือผู้บริโภค ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 - 2567 หากถามว่าประชาชนได้อะไรบ้าง พบมีคนร้องเรียน 48,101 คน และได้ช่วยเหลือ ผู้บริโภคได้รับ ความเสียหาย ได้รับชดเชยเยียวยา 675 ล้านบาท และมีคนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในชั้นศาล 132 กรณี อย่างไรก็ตามขณะนี้ องค์กรผู้บริโภคมีสมาชิก 334 องค์กร ใน 53 จังหวัด  สำหรับความท้าทายและเป้าหมาย ในการขับเคลื่อน 4 ประเด็น คือ 1. เรื่องเมืองที่เป็นธรรม การขนส่งมวลชน ทุกคนขึ้นได้ทั้งในกทม.และในภูมิภาค 7 เมืองหลัก และพัฒนาเมืองและสิทธิที่อยู่อาศัย 2. เรื่องการเข้าถึงผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ปลอดภัย เพียงพอและเป็นธรรม 3. สิทธิบริการสุภาพเท่าเทียม ที่มีมาตรฐาน 4. ด้านการศึกษา คือให้เด็กทุกคนได้เรียนฟรี 15 ปี มีคุณภาพอย่างมีส่วนร่วม ทุกคนควรไม่ถูกเรียกเก็บเงินจากการเรียน และ 4. ลดความเสียหายจากมิตรฉาชีพออนไลน์ 

ในส่วนเรื่องร้องเรียนด้านบริการสุขภาพ พบมีจำนวนมากแบ่งเป็นสิทธิบัตรทอง 1819 ราย คิดเป็น 68.33% สิทธิประกันสังคม 239ราย คิดเป็น 8.98% ไม่ระบุสิทธิ 210 ราย คิดเป็น 7.89% สิทธิบุคคลผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ 63 ราย คิดเป็น 2.37% สิทธิข้าราชการ 45 ราย คิดเป็น 1.69% สิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉิน 3 กองทุน 14 ราย คิดเป็น 0.53%สิทธิบุคคลต่างด้าว 4 ราย คิดเป็น 0.15% 

"จากปัญหาจะเห็นได้ชัดเจนว่า ผู้ใช้บริการถูกเรียกเก็บเงินจาก UCEP ซึ่งแน่นอนว่าปัญหาที่สำคัญ อย่างเช่น ให้คนไข้ปฏิเสธการใช้สิทธิบัตรทองซึ่ง เมื่อปฏิเสธคนไข้ก็ต้องจ่ายเงินเองทั้งๆที่อยู่ในเงื่อนไขการใช้สิทธิบัตรทอง ประเด็นที่สอง มีการวินิจฉัยว่ากรณีไม่เข้าข่ายวิกฤตฉุกเฉิน ซึ่งจริงๆแล้วถึงแม้ว่าถูกวินิจฉัยว่าไม่เป็นสิทธิฉุกเฉินก็ไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ ถ้าเป็นกรณีไปใช้ในหน่วยบริการของรัฐทั้งหมด หรือหน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนกับบัตรทอง ซึ่งผู้ป่วยบัตรทองไม่ควรถูกเก็บเงินเลยไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ยกเว้น ทำศัลยกรรมตกแต่ง" นางสาวสารี กล่าว

นพ.พิสิทธิ์ เจริญยิ่ง รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า UCEP เป็นนโยบายรัฐบาลที่เกิดขึ้นและมีระเบียบกฎหมายอันนี้จะเป็นสิ่งที่อำนวยประโยชน์ให้กับประชาชน แต่ทั้งหมดทั้งสิ้นมันจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าไม่มี กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) และกองทุนต่างๆทั้ง 3 กองทุน ที่สำคัญผู้ปฏิบัติหน้างานก็คือ โรงพยาบาลเอกชนหรือสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ถ้าขาดพาร์ทเนอร์สุดท้าย UCEP ก็ไปไม่ได้เหมือนกัน 

ในส่วนของทิศทางวัตถุประสงค์ที่เกิดขึ้น ตนคิดว่าเป็นวัตถุประสงค์ที่สำคัญและก็สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉินปี 2551 ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติที่เป็นต้นกำเนิดของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ซึ่งในพระราชบัญญัติดังกล่าวในมาตรา 28 อาจจะสื่อถึงเจตนารมณ์ของพรบ.ที่ชัดเจนก็คือการมุ่งคุ้มครองความปลอดภัยของผู้ป่วยฉุกเฉิน เพราะฉะนั้นก็จะเห็นว่าโครงการ UCEP เป็นกลไกที่จะอำนวยประโยชน์ให้กับผู้ป่วยฉุกเฉินสามารถที่จะเข้ารับการรักษาพยาบาลโดยที่ไม่ก่อให้เกิดภาระทางการเงินหรือทางสังคมมากเกินไป 

"ทั้งนี้ในส่วนของการแพทย์ฉุกเฉินดูว่าการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยนั้น เราต้องมองว่ามีเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินเกิดขึ้นกับประชาชน กระบวนการกลไกทางการแพทย์ที่จะเข้าไปดูแลมันควรจะเริ่มต้นขึ้นทันที ตั้งแต่จุดที่ผู้ป่วยได้รับการบาดเจ็บหรือเกิดการเจ็บป่วยเกิดขึ้น มันไม่ควรจะเป็นเริ่มต้นที่ห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลหรือว่าเมื่อผู้ป่วยถึงโรงพยาบาลเท่านั้น" นพ.พิสิทธิ์ กล่าว