ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช. ย้ำประชาชนทุกสิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินมีอันตรายถึงชีวิต “ใช้สิทธิ UCEP รักษา รพ.ใกล้ที่สุดได้ทุกที่”  ยืนยันรักษาฟรีในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดได้ทั้งรัฐและเอกชน หากยังถูกเรียกเก็บเงินให้แจ้งสายด่วน สปสช. 1330  

เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2567 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ (UCEP) ว่า สิทธิดังกล่าวเป็นนโยบายรัฐเพื่อคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ให้สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทุกแห่งที่ใกล้ที่สุดจนพ้นวิกฤตได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย สาเหตุที่มีนโยบายดังกล่าวเพราะก่อนหน้านี้เวลาประชาชนไปรับการรักษาฉุกเฉิน มักถูกเรียกเก็บค่ารักษา บางคนถึงขั้นขายทรัพย์สินเพื่อไปจ่ายค่ารักษา จึงเกิดระบบนี้ขึ้นมาในปี 2560 โดยช่วงแรกใช้กับโรงพยาบาลเอกชนก่อนเพื่อให้ประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนใกล้บ้านได้

แต่ปัจจุบันระบบนี้ใช้กับทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน มีระบบการจ่ายเดียวกัน ทำให้ประชาชนที่เกิดภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน โดยมีช่วยระยะรับการรักษา 72 ชม. เมื่อคนไข้พ้นภาวะวิกฤตแล้ว ก็จะส่งต่อไปรับการรักษาตามระบบ เช่น ถ้าเป็นผู้มีสิทธิบัตรทองก็ประสานส่งตัวไปรักษาในโรงพยาบาลตามสิทธิที่ได้ลงทะเบียนไว้ เป็นต้น

"UCEP เป็นสิทธิที่คุ้มครองคนไทยทุกคนทุกสิทธิการรักษาพยาบาล ให้สามารถเข้าถึงบริการรักษาในช่วงวิกฤตได้ สิทธินี้สำคัญมาก เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ซึ่ง ณ จุดนั้น ต้องมีหลักประกันว่าจะได้รับการรักษาตามมาตรฐานการแพทย์ เพื่อให้ปลอดภัยจากภาวะวิกฤตนั้นๆ เป็นสิทธิที่ประชาชนทุกคนต้องรู้และเข้าใจ และใช้สิทธินี้ได้เมื่อถึงความจำเป็น" นพ.จเด็จ กล่าว

นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า อาการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตที่ใช้สิทธิ UCEP ได้นั้น จะต้องเป็นวิกฤตสีแดง เช่น หยุดหายใจ หัวใจหยุดเต้น หรือมีอาการอื่นๆ จนทำให้หมดสติไม่รู้สึกตัว หรืออาการใดๆ ที่ส่งผลอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต ถือว่าเข้าข่ายสีแดงที่ใช้สิทธิ UCEP ได้ ซึ่งตั้งแต่เริ่มนโยบายนี้จนถึงปัจจุบัน มีผู้ใช้สิทธิเข้ารับการรักษา จนสามารถรักษาชีวิตได้มากกว่า 250,000 รายแล้ว ดังนั้น อยากเน้นย้ำว่าประชาชนทุกคนเมื่อเจออาการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต อย่ากลัวที่จะไปโรงพยาบาล อย่ากลัวเรื่องค่าใช้จ่าย เพราะนี่คือสิทธิที่ทุกคนมีและเข้าถึงได้ ให้รีบไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดได้ทั้งของรัฐและเอกชนและไม่ต้องกลัวว่าจะได้รับการรักษาล่าช้า เพราะถ้าเป็นอาการป่วยฉุกเฉินวิกฤต แพทย์มีมาตรฐานทางการแพทย์ที่ต้องทำการรักษาอย่างทันท่วงทีเพื่อรักษาชีวิตของคนไข้จนพ้นวิกฤตอยู่แล้ว

ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มมีนโยบายนี้เป็นต้นมา ทำให้ปัญหาผู้ป่วยถูกเรียกเก็บเงินลดลงไปมาก แต่ก็ยังมีการเรียกเก็บเงินเป็นระยะ สาเหตุเนื่องจากบางครั้งโรงพยาบาลเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ ทำให้คนที่มาทำหน้าที่ใหม่อาจยังไม่เข้าใจและเรียกเก็บเงิน ดังนั้น สปสช. จึงต้องทำการสื่อสารในประเด็นนี้เป็นระยะ และเน้นย้ำกับประชาชนว่า หากถูกเรียกเก็บเงินหรือให้วางเงินประกันก่อนการรักษาเมื่อเข้ารับการรักษาด้วยภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต ผู้ป่วยหรือญาติสามารถแจ้งมาที่สายด่วน สปสช. 1330 ซึ่งจะมีกระบวนการไกล่เกลี่ยชี้แจงทำความเข้าใจกับโรงพยาบาลว่าไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ และถ้าโรงพยาบาลปฏิเสธไม่รับตัวเข้ารักษาก็ให้แจ้งที่สายด่วน 1330 เพื่อประสานให้ได้เช่นกัน

ด้าน พญ.จุฑาสินี สัมมนานันท์ รักษาการรองผู้อำนวยการฝายการแพทย์คนที่ 2 โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า กล่าวว่า นิยามคำว่าเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต คือ ภาวะฉุกเฉินที่ต้องให้การช่วยเหลือเร่งด่วน หากไม่ช่วยจะเสียชีวิต เช่น หัวใจหยุดเต้น หยุดหายใจ ไม่มีชีพจร ไม่รู้สึกตัว หายใจลำบาก เกิดการอุดกั้นของระบบทางเดินหายใจ หรือกลุ่มภาวะหอบเหนื่อยที่หากทิ้งไว้อาจทำให้หัวใจหยุดเต้น หากเข้าข่ายอาการเหลือนี้สามารถใช้สิทธิ UCEP เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลใกล้บ้านได้ทันที ซึ่งในส่วนของโรงพยาบาลรัฐ ขอให้มั่นใจได้ว่ามีความพร้อมทั้งด้านบุคลากร ยา เวชภัณฑ์ และมีเครือข่ายระบบส่งต่อที่สามารถดูแลโรคที่ต้องใช้ศักยภาพสูงได้ 

 "นโยบายนี้ส่งผลดีต่อทั้งประชาชนและผู้ให้บริการ ในส่วนของผู้ให้บริการ ทีมแพทย์จะให้การรักษาจนคนไข้พ้นวิกฤตโดยไม่ต้องกังวลเรื่องสิทธิการรักษาของผู้ป่วย และไม่ต้องกังวลว่าจะส่งต่อไปที่ไหน สามารถรักษาได้เต็มที่ ขณะเดียวกัน ประชาชนก็จะมั่นใจในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้มากขึ้น ไม่ว่าจะไปที่ไหนในประเทศไทย หากมีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ก็สามารถเข้ารับบริการได้ทุกที่ ช่วยชีวิตคนได้มากขึ้น" พญ.จุฑาสินี กล่าว