สบส.ยื่นอุทธณ์กรณีศาลปกครองกลางสั่งเพิกถอนคำสั่งรพ.เอกชนคืนเงินผู้ป่วย ชี้จำเป็นต้องพิทักษ์สิทธิ์คนไข้ถูกเรียกเก็บค่ารักษา ย้ำไม่ว่าผลคดีเป็นอย่างไร ไม่สามารถนำมาเป็นบรรทัดฐานโครงการ UCEP พร้อมเผยมีอีก 21 คดีเรียกเก็บเงินรอศาลวินิจฉัย
แจงกรณี รพ.รามคำแหงฟ้องปมเก็บเงินคนไข้
นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีศาลปกครองกลางสั่งเพิกถอนคำสั่งอธิบดีสบส.ที่สั่งให้ รพ.รามคำแหงคืนเงินค่ารักษาพยาบาลคนไข้โรคหลอดแดงโป่งพองและให้ทางโรงพยาบาลไปเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แทน เนื่องจากเห็นว่า ผลวินิจฉัยแรกรับผู้ป่วยใน 72 ชั่วโมง ยังไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามคู่มือคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉิน ว่า เรื่องนี้ทางรพ.รามคำแหงฟ้องสบส. และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) แล้วศาลท่านวินิจฉัยว่า การที่สพฉ.วินิจฉัย ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้หนังสือที่สบส.สั่งให้รพ.รามคำแหงคืนเงินที่เรียกเก็บจากผู้ป่วย ไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย ขณะนี้ทางฝ่ายกฎหมายจึงอยู่ระหว่างทำเรื่องอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ได้ทำเรื่องอุทธรณ์ไป 1 คดีความ ในประเด็นเดียวกันนี้ จากรพ.คนละแห่งกัน
คดีกรณียูเซปรวม 23 คดี - สบส.กำลังอุทธรณ์ 2 คดี
“ตอนนี้ มีคดีในลักษณะนี้มีอยู่ 23 คดี จาก รพ.หลายๆ แห่ง บางคดีเป็นกลุ่มรพ.รวมยอดเงินที่มีการเรียกเก็บจากคนก็ราวๆ หลานล้านบาท อย่างไรก็ตาม มี 2 คดีวินิจฉัยแล้ว และเรากำลังอุทธรณ์ จึงเหลือ 21 คดีที่รอศาลพิจารณา ซึ่งเราบอกให้รพ.จ่ายคืนให้กับคนไข้ เพราะเราให้เขาเก็บเงินตามโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่ หรือยูเซป(UCEP) หรือจากสปสช. แต่พอรพ.เรียกเก็บจากคนไข้ เราก็ต้องพิทักษ์คนไข้เอาไว้ บางอย่างเป็นความเจ็บป่วยใกล้เป็นใกล้ตาย ถ้าอาการป่วยเข้าได้กับการเจ็บป่วยฉุกเฉินตามโครงการยูเซป ก็ต้องยึดตาม” นพ.สุระ กล่าว
ผลคดีไม่ถือเป็นบรรทัดฐานเจ็บป่วยฉุกเฉิน
ทั้งนี้ ผลที่ออกมาไม่ถือว่าเป็นบรรทัดฐานการเจ็บป่วยฉุกเฉินในอนาคต จะมานำเป็นแบบอย่างไม่ได้ การเจ็บป่วยแต่ละรายมีความแตกต่างกัน ดังนั้นจึงต้องพิจารณาเป็นรายกรณี ซึ่งทางสพฉ.ก็มีเกณฑ์อยู่แล้ว และหากเกิดความเข้าใจไม่ตรงกันระหว่างสถานพยาบาลกับผู้ป่วยก็จะมี สพฉ.ก็มีคณะทำงานศูนย์ประสานและคุ้มครองสิทธิ์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ทุกอย่างอยู่แล้ว ที่จะดูเรื่องอาการเจ็บป่วยต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยด้วยซ้ำ
ส่งหนังสือแจ้งรพ.เอกชนทุกแห่งห้ามเก็บเงินกรณีฉุกเฉิน
เมื่อถามว่า การที่รพ.เรียกเก็บเงินคนไข้ไม่ว่าจะเข้าเกณฑ์หรือไม่เข้าเกณฑ์ ถือว่า ผิดจากมาตรฐานของสบส.หรือไม่ จำเป็นต้องพูดคุย ตักเตือนหรือไม่ นพ.สุระ กล่าวว่า เราได้ส่งหนังสือไปแจ้งว่า ไม่ให้เก็บเงินคนไข้ เพราะการเรียกเก็บนั้น หากผู้เสียหายร้องเรียนรพ.มา สบส.ก็ต้องลงไปดู และมีหนังสือให้ทบทวน ถ้าเก็บไม่ได้แล้วยังไปเก็บเงินกับคนไข้ ก็จะถือว่ามีความผิดตามที่ได้ขออนุญาตจากสบส.ไว้ ส่วนหนึ่ง ก็มีบทลงโทษอยู่
หากไม่มั่นใจอาการฉุกเฉินหรือไม่ ติดต่อ สพฉ.
ด้าน ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดี สบส. กล่าวว่า ที่จริงแล้ว หากรพ.รับผู้ป่วยเข้ามาแล้ว ไม่มั่นใจว่า อาการนั้นๆ เข้าข่ายเป็นการเจ็บป่วยฉุกเฉินหรือไม่ ก็จะประสานเข้ามาที่ศูนย์ประสานและคุ้มครองสิทธิ์ของสพฉ. เพื่อตัดสินว่าเป็นกลุ่มอาการใด แต่ที่ผ่านมา รพ.ส่วนใหญ่จะคีย์ข้อมูลเข้าเครื่องมือพิจาณราจัดกลุ่มอาการอัตโนมัติ ซึ่งสพฉ.ก็มองว่า นั่นไม่ใช่คำวินิจฉัยของ สพฉ. เพราะเมื่อเครื่องอัตโนมัติบอกว่า อาการนั้นๆ เป็นเพียงกลุ่มอาการสีเหลือง ทำให้เกิดการเข้าใจผิดกัน แล้วรพ.ก็เลยเก็บเงินคนไข้ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว สพฉ.ยังไม่ได้นำเรื่องนี้เข้าคณะทำงานศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิ์ เพื่อวินิจฉัยเลย เมื่อเป็นอย่างนี้ก็เลยเกิดความไม่เข้าใจกันระหว่างทาง รพ.กับสพฉ.
โครงการยูเซป สีแดงเท่านั้น
เมื่อถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ ที่จะพิจารณากลุ่มอาการสีส้ม เข้าสิทธิ์ยูเซปที่สามารถเข้ารักษาได้ทุกที่ไม่ถูกเรียกเก็บเงิน นพ.สุระ กล่าวว่า จริงๆ ยูเซปเป็นสีแดงอย่างเดียว ไม่ให้สีส้ม แต่สีส้ม เป็นอาการที่หย่อนๆ ลงมา ยังสามารถรอได้ ไม่ใช่ว่าเป็นสีส้ม ถ้าไม่ได้รับการดูแลแล้วจะเสียชีวิต
- 562 views