รองเลขาธิการ สปสช. พร้อมผู้บริหาร สปสช. เขต 1 เชียงใหม่ เดินทางลงพื้นที่ อ.อมก๋อย เยี่ยมชมการจัดบริการสุขภาพนวัตกรรมรูปแบบใหม่ในพื้นที่ห่างไกลที่ดำเนินการโดยโรงพยาบาลแม่ตื่น พบว่า มีการจัดการบริการที่ครอบคลุมโรคทั่วไปได้เป็นอย่างดี พร้อมหนุนเพิ่มศักยภาพโรงพยาบาล เพื่อดูแลประชาชนในพื้นที่ห่างไกล 

เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2566 ที่ผ่านมา  ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พญ.วลัยรัตน์ ไชยฟู ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 1 เชียงใหม่ พร้อมคณะเดินทางลงพื้นที่ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เพื่อเยี่ยมชม “การจัดบริการสุขภาพนวัตกรรมรูปแบบใหม่ในพื้นที่ห่างไกล”  ณ โรงพยาบาลแม่ตื่น โดยมี นพ.ธนชล วงศ์หิรัญเดชา รักษาการ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่ตื่น พร้อมคณะให้การต้อนรับ

ทพ.อรรถพร เปิดเผยว่า โรงพยาบาลแม่ตื่นอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการขอขึ้นทะเบียนยกระดับจากโรงพยาบาลปฐมภูมิ ซึ่งเดิมมีสถานะเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านใหม่ (รพ.สต) ให้กลายเป็นโรงพยาบาลชุมชน เนื่องจากบริเวณพื้นที่ ต.แม่ตื่น ตั้งอยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาลอมก๋อยเป็นระยะทางไกลเกือบ 80 กิโลเมตร ซึ่งจะต้องใช้เวลาเดินทางนาน   

ดังนั้น จากความต้องการให้เกิดการบริการประชาชนในพื้นที่ห่างไกลได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีการยกระดับโรงพยาบาลเป็นโรงพยาบาลขนาด 10 เตียง เมื่อวันที่ 8 มิ.ย 2564 และขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยเปลี่ยนแปลงจากหน่วยบริการปฐมภูมิเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิและหน่วยบริการประจำ เมื่อ 1 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลแม่ตื่นมีบุคลากรทางการแพทย์ประกอบด้วย แพทย์ 3 คน ทันตแพทย์ 1 คน เภสัชกร 1 คน พยาบาล 13 คน และนักเทคนิคการแพทย์ 1 คน ให้บริการทั้งผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยฉุกเฉิน ห้องคลอด ฝากครรภ์ การฉีดวัคซีน คลินิกพิเศษ โรคเรื้อรัง ยาเสพติด ทันตกรรม และคลินิกแผนไทย โดยดูแลประชากรกว่า 1.6 หมื่นคน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง 1.4 หมื่นคน

รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวอีกวา สปสช. พร้อมสนับสนุนการดำเนินงานของโรงพยาบาล และอยากจะให้โรงพยาบาลแม่ตื่นตรวจสอบว่า สปสช. สามารถสนับสนุนการบริหารใดได้บ้าง เพราะบางอย่าง เช่น การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) หากโรงพยาบาลแม่ตื่นดำเนินการก็สามารถเบิกแต่ละรายการได้ เพราะเป็นการจ่ายตามรายการ ไม่ได้มีการเหมาจ่าย เช่น การตรวจมะเร็งปากมดลูก มีเป้าหมาย 200 คน สามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้คนละ 450 บาท จำนวนเงินที่รวมออกมาสามารถนำมาเบิกกับทาง สปสช. ได้เงินส่วนนี้ก็จะเข้าโรงพยาบาล 

ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับการตรวจคัดกรอง หากเจอระยะต้นก็สามารถนำเข้าสู่การรักษา โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายที่แพงขึ้นเหมือนตอนตรวจพบมะเร็งในระยะสุดท้าย และยิ่งในพื้นที่ความรับผิดชอบของโรงพยาบาลแม่ตื่นมีประชากรเพียง 1.6 หมื่นคน คาดว่าจะสามารถตรวจได้ภายใน 1- 2 ปี และเมื่อสำเร็จก็อยากจะยกให้เป็นโมเดลโรงพยาบาลต้นแบบต่อไป 

นพ.ธนชล กล่าวว่า หลังจากโรงพยาบาลแม่ตื่นได้ยกระดับเป็นโรงพยาบาลชุมชน ทำให้มีแพทย์มาประจำมาอยู่ที่โรงพยาบาล ซึ่งปกติผู้ป่วยที่อยู่ในตำบลแม่ตื่น หรือม่อนจอง เมื่อเจ็บป่วยจะต้องเดินไปรับบริการที่โรงพยาบาลอมก๋อยที่ใช้เวลา 1.5 - 2 ชั่วโมง ฉะนั้นจึงเป็นการยกระดับการรักษาให้กับประชาชนในพื้นที่  สามารถให้การรักษาโรคทั่วไปที่ไม่ต้องมีการผ่าตัดได้ ที่ช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพ ขณะเดียวกันยังลดค่าใช้จ่ายของประชาชนลงได้ 

ทั้งนี้ โรงพยาบาลแม่ตื่นให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อเรื่องแม่และเด็ก ปัจจุบันมีการให้บริการสำหรับหญิงตั้งครรภ์ ตั้งแต่ช่วงของการตรวจการตั้งครรภ์-ฝากครรภ์ตามมาตรฐาน รวมถึงการอัลตราซาวนด์ ในกรณีที่ต้องตรวจดูการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ และหากสามารถคลอดปกติหรือมีการคลอดที่มีความเสี่ยงต่ำก็จะสามารถทำคลอดได้ที่โรงพยาบาลได้ 

รักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่ตื่น กล่าวต่อว่า ในส่วนของการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก หากมีหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่สามารถมาที่โรงพยาบาลได้ก็จะมีการเข้าไปทำการฝากครรภ์ถึงที่อยู่อาศัยเป็นระบบเชิงรุก แต่ถ้าเกิดว่าคุณแม่ไม่สามารถมาโรงพยาบาลได้จริงๆ หรือมีความเชื่อที่จะทำการคลอดที่บ้าน 
ทางโรงพยาบาลก็มีการฝึกฝนหมอตำแยให้สามารถทำคลอดตามมาตรฐานการแพทย์ปัจจุบันได้

นอกจากเรื่องการตั้งครรภ์แล้ว โรงพยาบาลแม่ตื่นยังให้บริการตรวจเชิงรุกคัดกรองผู้ป่วยโรคความดัน เบาหวาน คัดกรองมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก รวมถึงบริการวัคซีนเด็ก แม้จะเป็นพื้นที่ห่างไกลแต่อัตราการควบคุมวัคซีนอยู่ในระดับมาตรฐานจึงไม่ต้องมีความกังวลเรื่องโรคอุบัติใหม่หรือโรคอุบัติซ้ำในเด็ก ส่วนในด้านบุคลากรนั้น ปัจจุบันโรงพยาบาลแม่ตื่นมีความพยายามที่จะเพิ่มจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร และพยาบาล ซึ่งฝ่ายเจ้าหน้าที่เองก็พยายามอย่างเต็มที่เพื่อที่จะรองรับผู้ป่วยที่เข้ามาใช้บริการให้เกิดการดูแลรักษาให้ได้ตามมาตรฐานมากที่สุด หากผู้ป่วยมีอาการป่วยที่ซับซ้อนมากขึ้นก็จะมีการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่มีแพทย์เฉพาะทาง เช่น โรงพยาบาลจอมทอง หรือโรงพยาบาลนครพิงค์

นพ.ธนชล กล่าวต่อไปว่า จากการยกระดับของโรงพยาบาล ในปี 2564 ส่งผลให้มีผู้ป่วยเข้ารับบริการเพิ่มขึ้นมาเกือบเท่าตัว เฉลี่ยการรับบริการอยู่ที่ 60 รายต่อวัน สะท้อนให้เห็นถึงการยอมรับการให้บริการของโรงพยาบาล โดยเฉพาะศักยภาพการดูแลรักษาผู้ป่วย

 “สิ่งที่คาดหวังต่อไป คือการที่ทำให้โรงพยาบาลแห่งนี้ดีขึ้นต่อไปเรื่อยๆ แม้ว่าจะเป็นโรงพยาบาลในพื้นที่ห่างไกลอาจจะมีบุคลากรเข้ามาน้อย แต่ว่าบุคลากรล้วนเป็นบุคลากรที่ตั้งใจที่จะรับใช้ประชาชน จึงคิดว่า เราจะสามารถมีบุคลากรที่จะพัฒนาโรงพยาบาลต่อไปได้ให้กลายเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็ก ที่สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างทั่วถึง และได้รับมาตรฐานตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด” นพ.ธนชล กล่าว

นอกจากนี้ หลังจากเยี่ยมชมการดำเนินงานของโรงพยาบาลแม่ตื่นแล้ว ทพ.อรรถพร ผู้บริหาร สปสช. เชียงใหม่ พร้อมคณะได้เดินทางต่อไปยังองค์การบริหารส่วนตำบลม่อนจอง อ.อมก๋อย เพื่อมอบผ้าอ้อมผู้ใหญ่โครงการสนับสนุนผ้าอ้อมผู้ใหญ่สำหรับบุคคลที่มีภาวะพึ่งพิงและบุคคลที่มีภาวะปัญหาการกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้ ประจำปี 2566