“หมอสมศักดิ์” อายุรแพทย์ระบบประสาท ม.ขอนแก่น แนะแก้ปัญหา “หมอลาออก” เร่งด่วน! เสนอขยายอายุราชการ “แพทย์เกษียณ” เป็น 63-65 ปี แบ่งเบาภาระงานแพทย์อินเทิร์น จ้างช่วยงานโอพีดี ไม่เห็นด้วยยกเลิกหลักสูตรแพทย์ Intern ยิ่งทำขาดแคลน พร้อมเสนอ “ 31 ข้อ” กู้วิกฤตระบบสาธารณสุข "ร่วมจ่าย" อีกทางเลือก
จากปัญหาข้อเรียกร้องภาระงานบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยเฉพาะปม “หมอลาออก” ยังมีวิชาชีพอื่นๆอีก เช่น พยาบาล ปรากฎว่าหลายหน่วยงานเกี่ยวข้องมีข้อเสนอแนวทางแก้ปัญหา รวมไปถึงการแก้ปัญหาที่มีการดำเนินการแล้ว แต่อาจต้องร่วมกับหลายๆฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นการแชร์ทรัพยากรร่วมกัน แบ่งเบาภาระงาน ภายใต้นโยบายกระทรวงสาธารณสุข “หนึ่งจังหวัดหนึ่งโรงพยาบาล” (One Province One Hospital) หรือการผลิตแพทย์เพิ่ม การมุ่งเน้นแพทย์ระดับปฐมภูมิ แก้ปัญหากระจายตัวหมอในเมือง รวมไปถึงการหารืออัตรากำลัง การเพิ่มสิทธิประโยชน์บัตรทองที่ให้คำนึงภาระงานบุคลากร รวมทั้งยังเสนอทบทวนหลักสูตรแพทย์เพิ่มพูนทักษะ(Intern) จาก 6+1 เป็น 7 ปี เป็นต้น
(ข่าวเกี่ยวข้อง : สธ.ประชุม 4 ชมรมสาธารณสุข หาทางออกภาระงานปม “หมอลาออก” ชูทบทวน "แพทย์อินเทิร์น")
ปัญหาหมอลาออก ผลกระทบจากวิกฤตระบบสาธารณสุข
ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า อายุรแพทย์ระบบประสาท และอาจารย์แพทย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้สัมภาษณ์กับทาง Hfocus ถึงกรณี หมอลาออก ปัญหาสาธารณสุขไทย ว่า ปัญหาสุขภาพของคนไทยในขณะนี้เป็นปัญหาใหญ่มาก แต่ละปีต้องใช้งบประมาณของประเทศ และค่าใช้จ่ายแต่ละครัวเรือนเป็นจำนวนมหาศาล ใช้บุคลากรทางการแพทย์สาธารณสุขเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ภาระงานของบุคลากรที่มีจำนวนไม่เพียงพออยู่แล้วเพิ่มขึ้นอย่างมาก ก่อให้เกิดผลกระทบมากมาย หนึ่งในนั้น คือ แพทย์ลาออก ซึ่งมีหลายสาเหตุ แต่ภาระงานที่หนัก เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ การพยายามแก้ปัญหาแพทย์ลาออกด้วยวิธีหนึ่ง อาจส่งผลกระทบไปยังอีกปัญหาหนึ่งก็ได้ ทางออกจึงต้องร่วมกันหลายๆฝ่ายในการหาทางออกร่วมกัน ไม่ใช่แค่กระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง
ทางออกต้องเป็น “วาระแห่งชาติ” กระทรวงเดียวแก้ไม่ได้
ผู้สื่อข่าวถามว่าสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน มองว่าการแก้ปัญหาควรเป็นวาระแห่งชาติ นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องจริง เพราะตอนนี้เป็นปัญหาผลพวงจากหลายๆส่วน โดยหลักๆ จำนวนผู้ป่วยมีจำนวนมากขึ้น และความต้องการของผู้ป่วย ของสังคมมีความคาดหวังจากสาธารณสุขของไทยมากขึ้นเรื่อยๆ กฎระเบียบต่างๆ ในการดูแลรักษาคนไข้ก็มีเกณฑ์จากหน่วยงานต่างๆมาจับมากขึ้น กลายเป็นภาระงานของแพทย์ พยาบาล ทำให้ต้องทำงานเพิ่มที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการรักษาโดยตรง ไม่ว่าจะงานความเสี่ยง งานคุณภาพ เป็นภาระงานที่เพิ่มขึ้นมา รวมไปถึงค่าตอบแทนต่างๆ ตรงนี้จึงต้องอาศัยความร่วมมือของหลายกระทรวงฯ และการป้องกันโรคการส่งเสริมสุขภาพต้องใช้ความร่วมมือหลายส่วนจริงๆ จึงควรเป็นวาระแห่งชาติ ที่ทุกหน่วยงาน ทุกกระทรวงต้องมาร่วมมือกันแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ
(ข่าวเกี่ยวข้อง : วิกฤตระบบสาธารณสุข ภาระงานล้น บุคลากรอ่อนแรง ทางแก้ต้องเป็น “วาระแห่งชาติ”)
ไม่ควรยกเลิกหลักสูตรแพทย์เพิ่มพูนทักษะ หวั่นก่อปัญหาหมอยิ่งขาดแคลน
ถามต่อกรณีข้อเสนอทบทวนหลักสูตรแพทย์เพิ่มพูนทักษะ หรือหมออินเทิร์นจาก 6+ 1 ปี เป็นเรียน 7 ปีจะช่วยเรื่องปัญหาของแพทย์อินเทิร์นได้หรือไม่ นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ไม่น่าใช่ทางออก เพราะอดีตแพทย์ไทยก็เคยเรียน 7 ปีแบบนี้ แต่เมื่อ 30 ปีที่ผ่านมาพบว่า การให้แพทย์เรียน 5 ปี แล้วปีที่ 6 เป็นเอ็กซ์เทิร์น(Extern) ก็สามารถมีคุณสมบัติดูแลผู้ป่วยได้ดี และปัจจุบันนอกจากปีที่ 6 เป็นเอ็กซ์เทิร์นแล้ว ยังมีแพทย์อินเทิร์นในปีที่ 7 ซึ่งถือว่าเหมาะสมแล้ว เพียงแต่ว่า จะทำอย่างไรให้ช่วงชีวิตในการเป็นอินเทิร์น เป็นการเรียนรู้ เพราะวัตถุประสงค์ของอินเทิร์นคือ การได้ประสบการณ์เพิ่มเติม
“การดูแลแพทย์รุ่นน้องของสต๊าฟ ก็ต้องให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน หากเราปรับทัศนคติว่า เราเป็นรุ่นพี่ เป็นอาจารย์มาดูแลรุ่นน้อง ดูแลลูกศิษย์ ผมคิดว่าปัญหาก็น่าจะเบาบางลง ส่วนตัวหมออินเทิร์นเองก็ต้องเข้าใจว่า ช่วงนี้เป็นช่วงแห่งการเรียนรู้ งานบางอย่างย่อมหนักเช่นกัน” นพ.สมศักดิ์ กล่าว
นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า การยกเลิกหลักสูตรหมออินเทิร์นและปรับเป็น 7 ปี หากทำจริงจะยิ่งขาดแคลนแพทย์ไป 1 ปี แล้วบทบาทตอนปีที่ 7 กับตอนอินเทิร์นก็แตกต่างกัน หากบังคับเรียนหลักสูตร 7 ปีก็จะเกิดปัญหาคนที่อยากเรียนหมอ คิดหนักว่า ใช้เวลาเรียนนานไปหรือไม่ เนื่องจากจบ 7 ปีเสร็จ ปีที่ 8 ก็ต้องเริ่มปฏิบัติงานชั้นปีที่ 1 หรือไม่ วนกลับมาเริ่มใหม่อีกครั้ง สุดท้ายก็จะเกิดปัญหาขาดแคลนแพทย์ใน รพ.ระดับจังหวัด อย่างหมอที่จบใหม่ เช่น 7 ปีจบก็ต้องออกไปรพ.ชุมชน หากคิดว่าไม่ต้องมีอินเทิร์นอีก แสดงว่ารพ.ระดับจังหวัดจะไม่มีแพทย์เพิ่มพูนทักษะที่ปฏิบัติงานอยู่เลย
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันโรงเรียนแพทย์ที่เป็นมหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลศูนย์ที่ผลิตแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุข หากยกเลิกหลักสูตรปัจจุบัน ก็จะกลายเป็นไปเพิ่มภาระการเรียนการสอน เท่ากับไปเพิ่มภาระของสต๊าฟ ของโรงพยาบาลศูนย์ จากเวลาที่ต้องดูแลคนไข้ให้มากขึ้นกลับลดลง เวลาดูแลอินเทิร์นที่จบใหม่ก็ยิ่งน้อยลงไป จึงเป็นเรื่องที่ยาก แต่หากปรับหลักสูตรเฉพาะของโรงเรียนแพทย์อย่างเดียว และให้หลักสูตรระยะ 7 ปี อย่างชั้นปีที่ 7 ที่เรียนอยู่ในโรงเรียนแพทย์ก็แตกต่างจากโรงพยาบาลจังหวัดอยู่ดี ซึ่งทดแทนกันไม่ได้ บรรยากาศงาน รูปแบบการทำงานของโรงเรียนแพทย์ และโรงพยาบาลจังหวัดแตกต่างกัน
ดึงหมอเพิ่งเกษียณ ช่วยตรวจโอพีดีลดภาระ หมออินเทิร์น
ผู้สื่อข่าวถามว่า ข้อเสนอเร่งด่วนที่สามารถแก้ปัญหาภาระงานแพทย์อินเทิร์น ณ ขณะนี้ควรทำอย่างไร นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า มีข้อเสนอหลายทาง แต่ทางออกเฉพาะหน้าที่ทำได้ทันที คือ ขายอายุแพทย์เกษียณให้เข้ามาช่วยทำงาน ลดภาระงานแพทย์อินเทิร์น โดยเน้นที่แพทย์เพิ่งเกษียณอายุราชการ อาจขยายไปในช่วงอายุ 63-65 ปี ส่วนแพทย์บริหารมองว่าไม่น่าจะได้ เพราะห่างจากวงการตรวจวินิจฉัยรักษาผู้ป่วยไปนานแล้ว แต่แพทย์ที่เพิ่งเกษียณอายุราชการ สามารถทำได้ โดยให้มาช่วยตรวจคนไข้แผนกผู้ป่วยนอก หรือ OPD จะลดภาระงานส่วนหนึ่งลง โดยกรณีนี้สามารถดำเนินการได้เลย ไม่ต้องปรับกฎระเบียบอะไรเพิ่มเติม เพราะสามารถจ้างต่อได้ทันที คล้ายๆจ้างพาร์ทไทม์ ไม่ต้องแก้กฎระเบียบใดๆ
เสนอขยายอายุแพทย์เกษียณทำงานต่อถึงอายุ 63-65 ปี
เมื่อถามว่าเพราะอะไรถึงมองว่า ควรขยายอายุของแพทย์เกษียณออกไป 63-65 ปี นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ช่วงอายุ 63-65 ปีน่าจะอยู่ในกรอบอายุที่ตนมองว่า ยังมีสุขภาพที่แข็งแรง ซึ่งแพทย์ยิ่งอายุมากก็มีประสบการณ์มาก อายุระหว่างนี้จะมีคุณสมบัติที่เพียบพร้อม ทั้งวัยวุฒิ คุณวุฒิ การควบคุมอารมณ์ต่างๆ จึงคิดว่าน่าจะเหมาะสม
ส่วนคำถามว่าการจ้างแพทย์เกษียณกลับมาทำงานจะมีประเด็นเรื่องค่าตอบแทนที่รัฐไม่สามารถจ่ายเท่าเอกชนหรือไม่ นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า อัตราการจ้างของรัฐบาลคงไม่สามารถได้เท่าเอกชน แต่ตนมองว่า แพทย์ที่เพิ่งเกษียณอายุราชการไปแล้วนั้น น่าจะยินดี และมีความสุขที่ได้มาช่วยตรงนี้ ส่วนค่าตอบแทนก็ขอให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
เมื่อถามว่ามีข้อกังวลว่า แพทย์อาวุโส ยิ่งแพทย์เกษียณอายุราชการอาจมีปัญหาการสื่อสารกับหมอรุ่นใหม่ๆ โดยเฉพาะอินเทิร์น นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า กรณีที่เสนอนั้น คือ ควรทำงานแยกกันไปเลย โดยแพทย์เกษียณอายุราชการน่าจะมาช่วยตรวจคนไข้โอพีดี ส่วนการอยู่เวรนั้น แพทย์หลังเกษียณแล้วไม่น่าจะอยู่ไหว แต่การมาตรวจโอพีดีแทนหมออินเทิร์น จะช่วยลดภาระได้ การทำงานไม่ได้คอนแทรกโดยตรง หรือบางคนก็ยังสามารถมาเป็นที่ปรึกษาแพทย์โอพีดีได้ เพราะส่วนนี้ไม่ได้เคร่งเครียดเท่ากับแผนกฉุกเฉิน ซึ่งยังมองว่าจะสามารถทำงานด้วยกันได้ เพราะแพทย์อินเทิร์นก็เป็นรุ่นลูกของอาจารย์แพทย์ที่เกษียณแล้ว ซึ่งแนวทางตรงนี้เป็นแนวทางระยะสั้น ที่จะแก้ปัญหาได้เลย และทำได้ทันที
“หมอสมศักดิ์” ชู 31 ข้อเสนอแก้วิกฤตระบบสาธารณสุขไทย “ร่วมจ่าย” อีกทางเลือก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับปัญหาระบบสาธารณสุข นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า ซึ่งเป็นหนึ่งในอาจารย์แพทย์ที่มีการศึกษาเกี่ยวกับปัญหาระบบสาธารณสุขไทย ได้โพสต์บทความผ่านเฟซบุ๊ก Somsak Tiamkao ระบุถึง การยกเครื่องระบบสาธารณสุขไทย 31 ข้อ โดยเป็นการเสนอการพัฒนาระบบใหม่ เพื่อให้สังคมไทยได้พิจารณา ประกอบด้วย
1.เน้นการส่งเสริมและป้องกันการเจ็บป่วย ให้คนส่วนใหญ่มีสุขภาพแข็งแรง ห่างไกลโรคต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มโรคเรื้อรังไม่ติดต่อ โดยมีการให้สิทธิประโยชน์ต่อผู้ดูแลตนเองได้ดี ไม่มีโรคประจำตัวจะได้รับการลดหย่อนภาษี และรัฐออกเงินออมให้ด้วย
เสนอร่วมจ่าย แต่พื้นฐานทุกสิทธิ์ได้รักษาฟรี
2. การเจ็บป่วยเมื่อต้องเข้ารับการรักษาในรพ.ทั้งผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยใน ควรมีการร่วมจ่ายถ้าค่ารักษาพยาบาลนั้นสูงมากๆ หมายความว่าแต่ละคนจะมีเพดานค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพไว้ไม่ว่าจะเป็นสิทธิการรักษาอะไร ถ้าค่ารักษาพยาบาลสูงเกินเพดานที่กำหนดไว้ ก็ต้องมี การร่วมจ่าย ซึ่งวิธีการร่วมจ่ายนั้นให้คิดตามฐานภาษีที่เสีย
3. เพิ่มการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบทให้มากขึ้น เพราะแพทย์กลุ่มนี้พบว่ามีการคงอยู่ในระบบมากกว่ากลุ่มที่รับผ่านการสอบ admission อาจเนื่องมาจากสถานที่ทำงานอยู่ในจังหวัดบ้านเกิดก็เป็นไปได้
4. เพิ่มการผลิตแพทย์ให้มากขึ้นในแต่ละปีให้มีจำนวนมากกว่าแพทย์ที่ลาออก เพื่อให้ supply มากกว่า demand ส่วนคุณภาพนั้น เชื่อว่ารูปแบบการเรียนการสอนในปัจจุบันนั้นจะสามารถผลิตแพทย์ที่มีคุณภาพ และคุณสมบัติตามที่สังคมต้องการได้
แนะเพิ่มหมอเชี่ยวชาญให้มากขึ้น เพื่อช่วยกระจายงาน ทรัพยากร
5. เพิ่มการผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้มีจำนวนมากขึ้น ปัจจุบันการผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญถูกจำกัดด้วยจำนวนอาจารย์ที่มีอยู่ในอัตราส่วน 2:1 คือ อาจารย์ 2 คนผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ 1 คน ซึ่งมองว่าการผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญนั้นน่าจะปรับอัตราส่วนใหม่ได้ เช่น 1: 1 แล้วรัฐก็ส่งเสริมทุนการเรียนต่อให้มากขึ้น เมื่อผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้มากขึ้นก็จะมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมากขึ้นในทุกๆ โรงพยาบาล ซึ่งการคงอยู่ของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในภาครัฐนั้นน่าจะมีการคงอยู่ได้สูง เมื่อมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอยู่ในโรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่ ก็จะเป็นการกระจายงาน กระจายทรัพยากรด้วย ผู้ป่วยก็ไม่ต้องมาแออัดที่โรงพยาบาลจังหวัด
หนุนผลิตหมอเวชศาสตร์ครอบครัว-เวชศาสตร์ฉุกเฉินอย่างเร่งด่วน
6. สนับสนุนการผลิตแพทย์สาขาเวชศาสตร์ครอบครัว และเวชศาสตร์ฉุกเฉินอย่างเร่งด่วน เพราะมีความจำเป็นที่ต้องให้มีแพทย์ 2 สาขานี้ในทุกโรงพยาบาลทุกระดับ
(ข่าวเกี่ยวข้อง : ชมรมสาธารณสุขฯ หนุนนโยบาย “แพทย์ประจำตำบล” ให้ทุนปั้นหมอส่งกลับภูมิลำเนาทำงาน)
7. การส่งเสริมการรักษาด้วยระบบแพทย์ทางไกล telemedicine และการส่งยาถึงบ้าน telepharmacy ให้มากขึ้น สะดวกขึ้น และมีประสิทธิภาพดี ความปลอดภัยสูง โอกาสผิดพลาดต่ำที่สุด
8. ส่งเสริมการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ทุกสาขาวิชาชีพ พยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล เภสัชกร เทคนิกการแพทย์ สาขาไหนที่ยังขาดแคลน หรือกระจายตัวไม่ดี ก็รีบผลิตเพิ่มขึ้น เมื่อมี supply มากขึ้น ก็น่าจะช่วยลดการขาดแคลนบุคลากรลงไปได้ระดับหนึ่ง
ขยายอายุราชการแพทย์แบ่งเบาภาระงาน
9. การขยายอายุราชการแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ที่ขาดแคลนเป็นเกษียณอายุ 63 หรือ 65 ปี เพื่อให้แพทย์ และทีมอยู่ในระบบมากขึ้น แต่จะต้องย้ำว่าแพทย์อาวุโสเหล่านี้ต้องไม่กินแรงแพทย์รุ่นน้อง แล้วอ้างว่าผมมีอายุเยอะแล้ว ดังนั้นการขยายอายุราชการต้องทำในกลุ่มคนที่ยังพร้อมในการปฏิบัติงาน และไม่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งงานบริหาร
ยกระดับร้านยาคุณภาพให้ดียิ่งขึ้น รองรับคนไข้ป่วยเล็กน้อย
10. ยกระดับร้านยาคุณภาพให้ดียิ่งขึ้น เพื่อสามารถรองรับผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพเล็กน้อย และต้องการรับการรักษา ก็สามารถให้พบเภสัชกร เพื่อสอบถามข้อมูลการเจ็บป่วยและให้การวินิจฉัยโรคเบื้องต้น จัดยารักษาได้ในเบื้องต้น
11. จัดตั้ง call center ทางการแพทย์ เพื่อให้ประชาชนที่มีปัญหาสุขภาพโทรเข้ามาสอบถามปัญหาสุขภาพ และสั่งยาได้ โดยให้ผู้ป่วยไปรับยาที่ร้านยาคุณภาพ ก็จะลดผู้ป่วย OPD
ให้ความรู้ปชช.เกี่ยวกับเจ็บป่วยฉุกเฉิน ไม่เร่งด่วนยังไม่ให้รักษา รอเป็นลำดับ
12. สร้างความรู้และความเข้าใจให้ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้บริการห้องฉุกเฉิน และอนุญาตให้ทางโรงพยาบาลคัดกรองและแยกผู้ป่วยออกเป็นระดับต่างๆ ตามความเร่งด่วน ถ้าไม่เร่งด่วนก็ยังไม่ให้การรักษา รอเป็นลำดับหลังๆ หรือนัดมาตรวจภายหลัง
13. สนับสนุนให้คนไทยมีส่วนร่วมและรับผิดชอบในการดูแลสุขภาพของตนเอง เช่น การทำประกันสุขภาพของเอกชน เพื่อเป็นการลดภาระด้านค่ารักษาพยาบาลของรัฐและผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ทำประกันก็เข้ารับบริการที่โรงพยาบาลเอกชน ดังนั้นรัฐต้องมีนโยบายส่งเสริมการทำประกันชีวิตประกันสุขภาพ เพิ่มสิทธิประโยชน์ของคนทำประกันชีวิต
เลิกแนวคิดบัตรทองรักษาที่ไหนก็ได้ หนุนทุกสิทธิ์รักษาใกล้บ้าน
14. บังคับใช้แนวทางการรักษาของบัตรทอง คือ ต้องรักษาตามสถานพยาบาลที่เป็นต้นสิทธิ์ เลิกแนวคิดบัตรทองรักษาที่ไหนก็ได้ และต้องสนับสนุนให้ทุกคนทุกสิทธิ์รักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน
15. สร้างความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องว่า การรักษาโรคนั้นควรเริ่มรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้านกับแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป หรือแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวก่อนเสมอ เมื่อมีความจำเป็นจึงมีการปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตามความเหมาะสม
16. การจำกัดจำนวนผู้ป่วยแผนกผู้ป่วยนอก โดยมีระบบนัดหมายล่วงหน้าสำหรับผู้ป่วยเก่า และรับจองคิวด้วยวิธีที่ง่าย ไม่ซับซ้อน ส่วนผู้ป่วยใหม่ walk in สำหรับผู้ป่วยที่มาแล้วแต่คิวเต็มก็จะมีระบบการประเมินอาการคัดแยกผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องพบแพทย์ก็สามารถพบแพทย์ได้ แต่ถ้าประเมินแล้วไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ก็มีการนัดหมายเข้ารับการตรวจ ส่วนผู้ป่วยที่ต้องการรับยาต่อเนื่องก็สามารถรับยาได้เลยไม่ต้องพบแพทย์
แนวทางรพ.มีหมอน้อย
17. โรงพยาบาลที่มีหมอจำนวนจำกัด ขาดแคลนหมออย่างมาก เช่น โรงพยาบาลที่มีหมอเพียง 2 คน ก็อาจไม่จำเป็นต้องเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมงทุกวันก็ได้ โดยมีการประกาศให้ทราบล่วงหน้าอย่างชัดเจนว่าจะเปิด ปิดระบบบริการนอกเวลาราชการในวันไหนบ้าง ผู้ป่วยจะได้เข้ารับบริการได้ถูกต้อง
18. การผลิตแพทย์ควรเป็นหน้าที่ของโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขควรทำหน้าที่รักษาพยาบาลผู้ป่วยเป็นหลัก ซึ่งทำเฉพาะการดูแลผู้ป่วยก็ทำไม่ไหวแล้ว ต้องมาทำหน้าที่ครูแพทย์ด้วยก็เป็นการเพิ่มภาระงาน
19. หลักสูตรแพทย์ควรมีวิธีการสอบคัดเลือกนักเรียนที่เหมาะสมกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ควรคัดเลือกนักเรียนที่มีความพร้อมทั้งความรู้ และทัศนคติที่เหมาะสมต่อการเป็นแพทย์ มากกว่าที่จะคัดเลือกเฉพาะนักเรียนที่เรียนเก่งเท่านั้น
ส่งเสริมการสร้างครูแพทย์ที่ดี
20. ส่งเสริมการสร้างครูแพทย์ที่ดี เพื่อเป็น role model ในการเป็นแพทย์ที่ดีเหมาะกับสังคมไทย การผลิตแพทย์ที่ดีนั้นย่อมต้องได้รับการฝึกฝนทักษะที่ดี และต้องเห็น เรียนรู้จากครูแพทย์ต้นแบบที่ดี role model จึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในการผลิตแพทย์
สปสช.ต้องมีระบบจ่ายค่ารักษาให้รพ.อย่างเป็นธรรม
21. การจ่ายค่ารักษาพยาบาลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพต้องมีความเป็นธรรมมากกว่าปัจจุบัน โรงพยาบาลและคนในองค์กรจะอยู่ได้อย่างมีความสุข ต้องมีรายรับขององค์กรที่เหมาะสมกับรายจ่าย ไม่ควรจะขาดทุน
22. รัฐบาลต้องปรับค่าตอบแทนทีมสุขภาพให้มีความเหมาะสมกว่าในปัจจุบัน เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้ทีมสุขภาพ
23. รัฐบาลควรปรับสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลทั้ง 3 สิทธิ์ ข้าราชการ ประกันสังคม บัตรทองให้มีความเท่าเทียมกัน สนับสนุนการใช้ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ และการใช้ยาชื่อสามัญอย่างสมเหตุผล เพื่อนำงบประมาณที่ลดลงมาใช้ในการพัฒนาระบบบริการ และสิ่งแวดล้อมต่างๆ ในสถานพยาบาลให้ดีขึ้น
24. พัฒนาศูนย์ส่งต่อผู้ป่วยระดับจังหวัดและเขตสุขภาพให้โรงพยาบาลขนาดใหญ่สามารถรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องส่งต่อเพื่อรับการรักษาในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงขึ้นได้
25. ร่วมมือกับโรงพยาบาลเอกชนมากกว่าในปัจจุบันว่าทางโรงพยาบาลเอกชนจะสามารถช่วยลดภาระงานของแพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐลงได้อีกบ้าง เช่น การลงทุนด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์ และมีการใช้อุปกรณ์นี้ร่วมกันระหว่างโรงพยาบาลเอกชน และรัฐบาล
26. รัฐควรเพิ่มการลงทุนในด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้เพียงพอ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของแพทย์ให้ดียิ่งขึ้น
ลดภาระงานไม่จำเป็นแพทย์ พยาบาล
27. จัดระบบการทำงานด้านคุณภาพ งานเอกสารต่างๆ ให้บุคลากรที่ไม่ใช่แพทย์ พยาบาลสามารถทำได้ เพื่อลดงานที่ไม่จำเป็นของแพทย์ พยาบาล ปัจจุบันงานด้านคุณภาพด้านการบริการนั้น แพทย์ พยาบาลต้องใช้เวลาในส่วนนี้เป็นปริมาณงานที่มากพอสมควร ถ้าสามารถจัดหาบุคลากรด้านงานคุณภาพมาแทนได้ก็จะดีมาก
จำกัดชั่วโมงการทำงานบุคลากรทางการแพทย์
28. จำกัดชั่วโมงการทำงานของแพทย์ พยาบาล เภสัชกร และบุคลากรทางการแพทย์ โดยศึกษาความเป็นไปได้ของประเทศไทยว่าจำนวนชั่วโมงที่ทำงานนอกเวลาราชการที่เหมาะสมกับบุคลากรไทยเป็นเท่าไหร่ ผมมองว่าบางครั้งการใช้ตัวเลขเดียวกับต่างประเทศอาจก่อให้เกิดปัญหาทางปฏิบัติได้ ถ้าค่อยๆ ปรับ และถ้าอยู่เวรมาทั้งคืนแล้ว ไม่ควรทำงานต่อในตอนเช้าทันที ต้องให้มีเวลานอนพักในโรงพยาบาลหรือบ้านพักในโรงพยาบาล ไม่ให้มีการเดินทางกลับบ้านที่ต้องขับรถไกล เพราะอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
29. การชดเชยค่ารักษาพยาบาลแบบผู้ป่วยนอกของผู้ป่วยสิทธิ์บัตรทอง ไม่ควรจ่ายเป็น per visit แบบค่าใช้จ่ายเหมาจ่ายคงที่ ควรมีการปรับให้ใกล้เคียงกับค่าใช้จ่ายจริง เพื่อที่แพทย์จะได้นัดผู้ป่วยได้นานขึ้น เป็นการลดภาระงานของโรงพยาบาลได้แบบหนึ่ง และลดภาระของผู้ป่วยในการเดินทางมาโรงพยาบาลได้ด้วย
30. ปัญหาด้านสุขภาพเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่สำคัญ ดังนั้นรัฐต้องปรับเพิ่มการสนับสนุนงบประมาณให้เพียงพอ และหาทางกำกับการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ
31. สนับสนุนการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย palliative care เพราะปัจจุบันค่าใช้จ่ายในผู้ป่วยกลุ่มที่เข้าสู่ palliative care ระยะก่อนที่จะเข้าสู่ palliative care นั้นมีค่าใช้จ่ายสูงมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่แพทย์ก็ทราบว่ามีการพยากรณ์โรคที่ไม่ดี และญาติตัดสินใจ full med , no CPR คืออย่างไรผู้ป่วยกลุ่มนี้ก็ต้องเสียชีวิต เพราะหมดทางรักษาแล้ว แต่ญาติก็ยังให้สู้เต็มที่ทั้งๆที่รู้ว่าต้องแพ้แน่นอน
ข่าวเกี่ยวข้อง :
-สธ.ชู “หนึ่งจังหวัด หนึ่งรพ.” ดูแลผู้ป่วยร่วมกัน แบ่งปันบุคลากร บรรเทาภาระงาน
-เสียงสะท้อน “พยาบาล” ลาออกเพียบ! เฉลี่ยปีละ 7,000 คน เหตุภาระงานล้น ค่าตอบแทนน้อย
-สปสช.เตรียม5แนวทางหารือ สธ.ลดภาระการทำงานของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์
-แพทยสภาห่วงปัญหาหมอลาออก และขาดแคลนแพทย์ ของสธ. เร่งตั้งคณะอนุกรรมการ 2 ชุด เพื่อดำเนินการ
-สธ.เตรียมหารือ สปสช. ถกปัญหาบริการบัตรทองเพิ่ม ทำภาระงานแพทย์ พยาบาล บุคลากรล้น!
-สธ.แจง “หมอลาออก” ปัญหาสะสม ล่าสุดวางเป้า 3 เดือนแก้ไขทำงานนอกเวลา 64 ชม.ต่อสัปดาห์
**ติดตามข่าวสารความรู้ผ่านเฟซบุ๊กสำนักข่าว Hfocus ได้ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 5391 views