ประชุมผู้บริหารสธ.ถกปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ ยอมรับปัญหาหนึ่งจากบัตรทอง ทำประชาชนแห่เข้าใช้บริการล้น! มอบรองปลัดสธ. “นพ.พงศ์เกษม” หารือทางออกร่วมสปสช. ส่วนวันที่ 20 มิ.ย.นี้ ถกร่วมเลขาธิการ ก.พ. อัตรากำลัง วางแซนด์บ็อกซ์ภูเก็ต โมเดลแก้ปัญหาบุคลากร เล็งหมอเกษียณช่วยทำงานต่อ

 

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข ที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมการพิจารณา ซึ่งมีการจับตามองว่า ในการประชุมครั้งนี้มีการหารือประเด็นปัญหาภาระงานบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยเฉพาะปัญหาหมอลาออก ที่กำลังเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ขณะนี้ด้วยหรือไม่

แพทยสภาประชุมใหญ่ 8 มิ.ย.ถกการผลิตแพทย์ การกระจาย

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมวาระปกติของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งท่านรมว.สธ. และท่านปลัดสธ.ก็มีการติดตามงานภาพรวม รวมถึงเรื่องอัตรากำลัง ประเด็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยเรื่องนี้ได้มีการทำงานร่วมกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ซึ่งเรื่องแรก ในส่วนของแพทยสภา ที่ดูแลการผลิตแพทย์ การเพิ่มพูนทักษะ เรื่องแพทย์ประจำบ้าน ซึ่งในวันพรุ่งนี้(8 พ.ค.) แพทยสภาจะมีการประชุมใหญ่ มีพญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา รับทราบเรื่องนี้ และจะนำเรื่องเหล่านี้เข้าสู่การพิจารณาเพื่อหาทางแก้ไขต่อไป โดยจะดูทั้งระบบ ทั้งการจัดสรร การผลิต การกระจาย คุณภาพ ปริมาณ โดยกระทรวงสาธารณสุข จะนำเสนอข้อมูลอยู่ในการประชุมด้วยเช่นกัน

หารือ ก.พ.20 มิ.ย.อัตรากำลัง-แซนด์บ็อกซ์ภูเก็ต

เรื่องที่สอง อัตรากำลังจะโยงกับทางสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ซึ่งท่านเลขาธิการ ก.พ. และท่านปลัดสธ.มีการหารือ และเราได้คุยกันทุกเรื่องทั้งเรื่อง แซนบ็อกซ์ อัตรากำลังต่างๆ โดยครั้งนี้จะหารือในวันที่ 20 มิถุนายนนี้ ซึ่งท่านเลขาฯก.พ.รับทราบปัญหาและจะหารือแนวทางแก้ไขต่อไป

เรื่องที่สาม ภาระงาน ที่ในสังคมออนไลน์ สื่อมวลชนมีการรายงานว่าภาระงานเพิ่มขึ้นเพราะมีเรื่องของการบริการจากหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือสิทธิ์ UC  ซึ่งเกี่ยวข้องกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) โดยมอบให้นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) หารือกับสปสช.เพื่อหาทิศทางลดภาระงาน และสปสช.จะต้องเข้ามามีส่วนช่วยกันแก้ปัญหาตรงนี้ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่แค่แพทย์ แต่พยาบาล ทุกวิชาชีพก็ต้องได้รับความเป็นธรรมด้วย

เมื่อถามว่ามีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าการชี้แจงของสธ.วานนี้แก้ปัญหาไม่ถูกจุด อย่างเรื่องการผลิตแพทย์ เพราะใช้เวลานาน ระยะเร่งด่วนจะทำอย่างไร นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า เมื่อวานนี้อธิบายหลายเรื่องมาก และมีเรื่องแนวทางแก้ปัญหา 4 เรื่อง คือ ค่าตอบแทน สวัสดิการ ความก้าวหน้า และลดภาระงาน แต่อาจเพราะผู้ฟังฟังแต่ตอนต้นหรือไม่ ซึ่งเมื่อวานค่อนข้างยาว จึงต้องบอกรายละเอียด อย่างการผลิตแพทย์ก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่จริงๆ มีข้ออื่นๆ ทั้งปรับภาระงาน การดูแลสวัสดิการ ค่าตอบแทนต่างๆ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขทำมาตลอด และยังทำต่อไป และทำอย่างเข้มข้นขึ้น

ย้ำ!ตัวเลขไม่ได้ลาออกถึง 900 คน

“เมื่อวานมีหลายคนพูดว่า การลาออกพูดตัวเลขไม่ชัดเจน ได้พูดชัดเจนไปแล้วว่า ข้อมูลย้อนหลังเฉลี่ยปีละ 455 คน  อย่างตัวเลขโซเชียลฯบอกลาออกปีละ 900 คน ซึ่งไปเอาตัวเลข 2,700 คน จบมาและกระทรวงสาธารณสุขรับ 1,800 คน แล้วไปลบง่ายๆว่า  900 หายไป ซึ่งไม่ใช่ จริงๆ ต้องเอาตัวเลข 2,700 คน ยังมีตัวเลขอื่นๆที่มหาวิทยาลัยอื่นๆเอาไปอีก ดังนั้น ตัวเลข 900 คนที่ลาออกต่อปียืนยันว่าไม่ใช่ ทำให้เข้าใจผิด” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

เมื่อถามว่าต้องหารือร่วมกับสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน หรือแพทย์อื่นๆที่ออกมาพูดในโซเชียลฯตอนนี้เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันหรือไม่ เนื่องจากอาจเกิดกระแสว่าเป็นศึกเสื้อกราวน์ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า เรามีการทำงานร่วมกันตลอด ที่ผ่านมาก็สื่อสารผ่านสื่อมวลชนตลอด เรามีชุดข้อมูลนี้ที่ให้เห็นจริง หากจะมาร่วมกันหารือ เราก็มีชุดข้อมูลนี้ในการบริหารจัดการ หากจะหารือร่วมกันเรายินดี เชื่อว่าน้องๆเองที่ทำงานอยู่ก็อยากมีความสุขในการทำงาน ซึ่งมีหลายวิธีในการทำงาน เพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน จริงๆ เรื่องนี้ไม่ใช่แค่กระทรวงสาธารณสุข เอกชนก็มี ทุกที่มีปัญหา เพียงแต่เราต้องมาร่วมกันแก้ไขปัญหา หลายคนบอกว่า ปัญหานี้มีมานานก็เพราะซับซ้อน แต่ก็ต้องช่วยๆกันแก้ไข ทางสธ.ไม่ใช่เพิ่งแก้ปัญหา

เล็งหมอเกษียณทำงานในระบบ

ผู้สื่อข่าวถามว่าที่ประชุมได้พูดถึงแนวทางแก้ปัญหาการกระจุกตัวของแพทย์ในเมือง โดยเฉพาะในกทม.กว่าหมื่นคนอย่างไร นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ตรงนี้เป็นปรากฎการณ์ ไม่ใช่แค่ไทย แต่การกระจุกตัวเป็นทั่วโลก อย่างเรื่องตลาดเสรี ไม่ใช่รัฐสวัสดิการก็จะเจอปัญหานี้เหมือนกัน สิ่งหนึ่งที่ประเทศเป็นตัวอย่าง มีกำลังก็จะนำเข้าหมอเข้ามา ผลิตเพิ่มได้มาก เรื่องพวกนี้ละเอียดอ่อน ตรงนี้ทางแพทยสมาคมฯ ก็พยายามหาแนวทางว่า หากบริหารจัดการดีก็จะทำให้เพียงพอ อย่างตัวเลขหมอที่ทำงานอยู่ 6-7 หมื่นคน รวมเกษียณก็น่าจะทำงานได้อีก อย่างหลายประเทศก็ใช้แพทย์เกษียณมาช่วยทำงานตรงนี้ แต่บางประเทศก็ประท้วงเรื่องการขยายอายุทำงานไปถึง 64 ปีก็มี ตรงนี้มีหลายปัจจัย

“การเกษียณอายุราชการ ทางเราก็จะพูดคุยกับเลขาธิการ ก.พ.ถึงทิศทางตรงนี้ รวมถึงเรื่องแซนด์บ็อกซ์ ในเรื่องระบบการจ้างงานรูปแบบอื่นๆ ก็จะหารือกับทาง ก.พ.ในวันที่ 20 มิ.ย.นี้เช่นกัน” รองปลัดสธ. กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าแซนด์บ็อกซ์มีการเลือกพื้นที่แล้วหรือยัง นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า มีข้อเสนอจังหวัดภูเก็ต เพราะรูปแบบสังคมเมือง มีการแข่งขันสูง การจ้างงาน เพิ่มค่าตอบแทนต่างๆ ก็มีการวิเคราะห์ โดยสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไปก็จะมาหารือโมเดลนี้ ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษา มีการตั้งคณะทำงานชุดย่อยๆขึ้นมาก่อน เพื่อนำเสนอต่อก.พ.ต่อไป อย่างไรก็ตาม ปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ ไม่ใช่แค่หมอ แต่ยังมีวิชาชีพอื่นๆ อย่างพยาบาล วิชาชีพอื่นๆ เราต้องแก้ปัญหาให้ทั้งระบบ เรารู้ว่าตัวเลขไม่เพียงพอ แต่ในเมื่อดีมานด์ขึ้น ระบบบริการสุขภาพก็พัฒนารวดเร็วจนได้รับคำชม อย่างท่านรองนายกฯ รัฐมนตรีว่าการสธ.ได้พบปะผู้นำประเทศต่างๆ ก็ชื่นชมไทยเรื่องระบบบริการสุขภาพ แต่เมื่อได้รับคำชม แต่เราก็ต้องดูแลบุคลากรที่ภาระงานเพิ่ม

ภาระงานเพิ่มเหตุปม UC

เมื่อถามย้ำว่าแสดงว่าในที่ประชุมวันนี้ยอมรับว่าปัญหาภาระงาน ปัจจัยหนึ่งมาจากระบบบริการหลักประกันสุขภาพฯ หรือบัตรทองที่ทำให้ประชาชนรับบริการมากขึ้น นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า เรื่องนี้ชัดเจน ตั้งแต่การบริการนี้ขึ้นมาก็มีหลากหลายบริการเกิดขึ้น ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ให้บริการหลักของสปสช. อย่างเอกชนมีสิทธิ์จะเลือกหรือไม่เลือก แต่รัฐต้องทำ ทุกครั้งที่มีการทำอะไรขึ้นมา ภาครัฐจะปฏิเสธไม่ได้ ซึ่งก็จะมีการหารือเรื่องนี้ โดย นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองปลัดสธ.

“กระทรวงสาธารณสุขอายุเป็นร้อยปี ได้ทำสิ่งต่างๆไว้ดีมากมาย ปัญหามีอยู่ทุกที่ ผมเองอยากให้ทุกท่านได้กลับมาช่วยกันมองว่า เรื่องที่ดีๆ ในสังคมคนไทยเรา หากเราหามุมมองจุดแข็ง ปิด ลดจุดอ่อน แม้จะเป็นประเด็นเจ็บปวด แต่เราก็ช่วยกันแก้ไข และจุดอ่อนที่เกิดขึ้นก็ต้องมาคุยว่าจะทำอย่างไร กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้เป็นโรคร้ายที่จะล้มสลายไปในทีเดียว ต่างชาติก็ชื่นชม เราก็ต้องมาช่วยลดจุดอ่อน  ก็รู้ว่าจุดอ่อนนี้ทำให้ภาระงานเหนื่อยหนัก ตอนนี้ปลัดสธ.สั่งการผู้อำนวยการพ.ทุกท่านให้ไปดู ไปกำกับ ดูแลแพทย์อินเทิร์นใช้ทุนปีหนึ่งอย่างใกล้ชิด ดูแลสวัสดิการ ห้องพักให้ดี อำนวยความสะดวกให้เกิดขึ้น ซึ่งเงินบำรุงหลังโควิดมีอยู่ ยังทำได้ และทำได้เร็ว” รองปลัดสธ.กล่าว