ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) เผยโควิดช่วงขาลง เหตุประชากรทั่วโลกมีภูมิคุ้มกัน ทั้งจากวัคซีนและติดเชื้อ พร้อมประกาศยุติภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข หลังโควิด19 ระบาดหนักทั่วโลก 3 ปี
เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม เว็บไซต์องค์การอนามัยโลก(WHO) เผยแพร่แถลงการณ์รายงานการประชุมครั้งที่ 15 ของคณะกรรมการฉุกเฉินกฎอนามัยระหว่างประเทศ เกี่ยวกับการระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือโควิด19 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา
โดยล่าสุด นพ.เทดรอส อาดานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) แถลงต่อสื่อมวลชน ว่า โรคโควิด19 อยู่ในช่วงขาลง ประชาชนมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น ทั้งจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด และจากการติดเชื้อ และจากคำแนะนำของคณะกรรมการเกี่ยวกับการระบาดใหญ่ของ COVID-19 ที่กำลังดำเนินอยู่ เขาระบุว่าขณะนี้ COVID-19 เป็นปัญหาด้านสุขภาพที่เป็นที่ยอมรับและต่อเนื่อง ซึ่งไม่ถือเป็นเหตุฉุกเฉินด้านสาธารณสุขที่เป็นข้อกังวลระหว่างประเทศ (PHEIC)
จึงขอประกาศยกเลิกสถานะฉุกเฉินของโรคโควิด-19 แล้ว โดยจะไม่ใช่ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับโลกอีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ องค์การอนามัยโลก เคยประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นภาวะฉุกเฉินระดับสูงสุดเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2563 และในระยะเวลา 3 ปีได้เกิดการระบาดใหญ่ขึ้น จากนั้นก็เริ่มเข้าสู่ช่วงขาลง จนกระทั่งล่าสุดวันนี้
ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอนามัยโลกได้ประกาศข้อแนะนำชั่วคราวต่อรัฐภาคี ดังนี้
- รักษาขีดความสามารถที่เพิ่มขึ้นของประเทศและเตรียมพร้อมสำหรับเหตุการณ์ในอนาคตเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดวงจรของความตื่นตระหนกและการละเลย รัฐภาคีควรพิจารณาว่าจะปรับปรุงความพร้อมของประเทศสำหรับการระบาดในอนาคตได้อย่างไร เพื่อให้สอดคล้องกับคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก รัฐภาคีควรปรับปรุงแผนการเตรียมความพร้อมสำหรับการระบาดของเชื้อก่อโรคระบบทางเดินหายใจ โดยผสมผสานการเรียนรู้จากการถอดบทเรียนทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น รัฐภาคีควรดำเนินการฟื้นฟูโครงการด้านสุขภาพที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
- บูรณาการการฉีดวัคซีนโควิด 19 เข้ากับโปรแกรมการฉีดวัคซีนตลอดชีวิต รัฐภาคีควรเพิ่มความครอบคลุมของการฉีดวัคซีนโควิด 19 สำหรับทุกคนในกลุ่มเป้าหมายที่มีความสำคัญ (ตามที่กำหนดโดย SAGE Roadmap ของเดือนเมษายน 2566) ตามที่องค์การอนามัยโลกได้แนะนำการใช้วัคซีนและดำเนินการแก้ไขปัญหาการยอมรับและความต้องการวัคซีนกับชุมชนอย่างต่อเนื่อง
- รวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลการเฝ้าระวังโรคเชื้อก่อโรคระบบทางเดินหายใจที่หลากหลาย เพื่อให้เกิดการรับรู้สถานการณ์อย่างรอบด้าน รัฐภาคีควรคงไว้ซึ่งการรายงานข้อมูลการตายและการเจ็บป่วย รวมทั้งข้อมูลการเฝ้าระวังเชื้อสายพันธุ์ที่แตกต่างกันไปยังองค์การอนามัยโลก การเฝ้าระวังควรรวมข้อมูลหลากหลายที่เหมาะสมกับตัวแทนประชากรในแต่ละกลุ่มเฝ้าระวัง การเฝ้าระวังเหตุการณ์ การเฝ้าระวังน้ำเสียจากสิ่งปฏิกูล การเฝ้าระวังระดับภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อ และการเฝ้าระวังกลุ่มประชากรสัตว์ที่อาจมีความเสี่ยงต่อเชื้อ SARS-COV-2 รัฐภาคีควรใช้ประโยชน์จากข้อมูล Global Influenza Surveillance and Response System (GISRS) และสนับสนุนการจัดตั้ง WHO Global Coronavirus Laboratory Network (CoViNet)
- เตรียมพร้อมสำหรับมาตรการตอบโต้ทางการแพทย์ที่ได้รับอนุญาตภายใต้กรอบการกำกับดูแลของประเทศ เพื่อให้ในระยะยาวจะเชื่อมั่นได้ว่าสามารถจัดหาได้เเละพร้อมใช้ทุกเมื่อ รัฐภาคีควรเสริมสร้างอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลเพื่อสนับสนุนการอนุญาตระยะยาว สำหรับการใช้วัคซีน การวินิจฉัยโรค และการบำบัดรักษา
- ส่งเสริมการทำงานร่วมกับชุมชนและผู้นำชุมชนต่อไป เพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างเข้มแข็ง สามารถกลับคืนสู่สภาพปกติได้ โดยรวมถึงการสื่อสารความเสี่ยงและการมีส่วนร่วมของชุมชน และโปรแกรม/เครื่องมือการจัดการข่าวสาร ข่าวลือ ข่าวลวง (infodemic) รัฐภาคีควรปรับใช้แนวทางการสื่อสารความเสี่ยงโดยมีชุมชนเป็นส่วนร่วมและกลยุทธ์การจัดการข้อมูลข่าวสาร เเละหาวิธีการเเก้ไขให้เข้ากับบริบทของท้องถิ่น
- ยกเลิกมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 โดยอิงตามการประเมินความเสี่ยง และไม่จำเป็นต้องแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19
- สนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาวัคซีนที่ลดการแพร่เชื้อและนำไปใช้ในวงกว้างต่อไป เพื่อศึกษาวิจัยในมิติต่างๆ อาทิ อุบัติการณ์ ผลกระทบของสภาวะหลังการป่วยด้วยโรคโควิด 19 และวิวัฒนาการของเชื้อไวรัส SARS-COV-2 ในประชากรที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง และเพื่อใช้ในการพัฒนาแนวทางการดูแลรักษาแบบบูรณาการ
อ่านรายงานแถลงการณ์องค์การอนามัยโลก
ข่าวเกี่ยวข้อง : สธ.เผย WHO ยุต“โควิด19” เป็นภาวะฉุกเฉินสาธารณสุขโลก แต่ยังเป็นโรคประจำถิ่น พร้อมเฝ้าระวังต่อเนื่อง
- 4312 views