ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมวิทย์แจงโควิดลูกผสม XBB.1.16  แนวโน้มแพร่เร็ว แต่ต้องติดตามอีก 2 สัปดาห์ ยังไม่พบความรุนแรงกว่าสายพันธุ์เดิม แม้การกลายพันธุ์ตำแหน่งคล้ายเดลตา แต่ไม่ใช่ จึงไม่ได้รุนแรงเหมือนกัน ขณะที่อาการตาแดงไม่ใช่ข้อบ่งชี้หลักว่าต้องเป็นโควิด XBB.1.16 ส่วน ATK ยังตรวจพบเชื้อได้

 

เมื่อวันที่ 18 เมษายน ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงการข่าวเรื่องอัปเดทสายพันธุ์โควิด19 ในประเทศไทย ว่า  ปัจจุบันสายพันธุ์ที่องค์การอนามัยโลกติดตามและจัดลำดับในปัจจุบัน ได้แก่ โควิดกลายพันธุ์กลุ่ม variant of interest (VOI) สายพันธุ์ที่ติดตามได้แก่ XBB.1.5 และ สายพันธุ์ที่อยู่ใต้การติดตาม หรือเฝ้าระวัง Under Monitoring (VUM)   มี 7 สายพันธุ์ ได้แก่ BQ.1, BA.2.75, CH.1.1, XBB, XBB.1.16, XBB.1.9.1 และ XBF   ซึ่งสถานการณ์ทั่วโลกยังเป็น XBB.1.5   มีรายงานตรวจพบ 95 ประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนสูงที่สุดคิดเป็น 47.9% และเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนสายพันธุ์ XBB, XBB.1.16, XBB.1.9.1 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น พบสัดส่วน 17.6%  7.6% และ 4% ตามลำดับ  

 

ติดตาม XBB.1.16 อีก 2 สัปดาห์ว่า แพร่เร็วหรือไม่

นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า XBB.1.16 พบมากที่สุดในประเทศอินเดีย รองลงมาคือ สหรัฐอเมริกา พบการระบาดมากในช่วงสัปดาห์ที่ 12 ของปี 2566 (20-26 มี.ค.66)  โดย  XBB.1.16 ถือว่าแนวโน้มขึ้นเร็วพอสมควร จึงต้องเฝ้าระวังติดตาม หากเร็วจริงก็อาจเบียดสายพันธุ์ XBB.1.5  อย่างไรก็ตาม XBB.1.16  จัดเป็นสายพันธุ์ลูกผสมจาก BA.2.101 และ BA.2.75 มีการกลายพันธุ์เพิ่มเติมบนโปรตีนหนาม ได้แก่ E180V, F486P และ K478R ตรงนี้มีบางฝ่ายไม่เข้าใจเพราะการกลายพันธุ์บางจุดตำแหน่งเดียวกับเดลตา แต่หากดูดีๆ ตำแหน่งเบสคนละอย่าง การจะสรุปว่ารุนแรงเท่าเดลตา จึงไม่เป็นความจริง

ทั้งนี้ สายพันธุ์   XBB.1.16 อาจแพร่ได้เร็วกว่า XBB.1.5 เล็กน้อย แต่จะเร็วแค่ไหนต้องติดตามอีก 2 สัปดาห์ว่า XBB.1.16 ขึ้นเร็วแค่ไหน หากขึ้นเร็ว 20-30% ก็ถือว่าเร็ว แต่หากไม่มากก็ไม่ได้เบียดสายพันธุ์ปัจจุบัน ส่วนเรื่องภูมิคุ้มกันก็พบว่า หลบภูมิฯ ใกล้เคียงกับสายพันธุ์เดิม  ส่วนวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อลดลงบ้าง  ส่วนความรุนแรงนั้น ทางองค์การอนามัยโลกรายงานว่า ยังไม่มีหลักฐานแสดงว่า XBB.1.16 ส่งผลต่อความรุนแรงของโรค ซึ่งยังต้องติดตามต่อไป

อาการตาแดงไม่ใช่ข้อบ่งชี้หลักว่าเป็น XBB.1.16

“สำหรับอาการไม่ได้แตกต่างมาก มีประเด็นเดียวที่สำคัญในอินเดีย โดยเฉพาะเด็ก พบลักษณะอาการทางคลินิกของโรคเยื่อบุตาอักเสบ มีตาแดง คันตา มีขี้ตาร่วมด้วย หรือบางทีอาจลืมตาไม่ค่อยได้ แต่ไม่ได้มีหนองอะไร ซึ่งเกิดขึ้นได้ แต่ยังไม่มีตัวเลขชัดเจน นอกจากนี้ อยากเตือนว่า ที่มีอินโฟกราฟิกออกมาแยกอาการจากโควิดต่างสายพันธุ์ เช่น ตาแดงไม่มีไข้ แสดงว่าเป็น ซึ่งอาจไม่ใช่อย่างนั้น การมีอาการตาแดงหรือไม่มีย่อมไม่ได้หมายความว่าเป็น XBB.1.16 ” นพ.ศุภกิจ กล่าว

นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า  สถานการณ์สายพันธุ์ในประเทศไทยในช่วงสัปดาห์ที่ 8-14 เม.ย.66 มี 2 สายพันธุ์ต้องจับตามอง คือ XBB.1.16 และ XBB.1.9.1 มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น  โดยสายพันธุ์ XBB.1.16 ในไทยพบแล้ว 27 ราย ข้อมูล ณ วันที่ 17 เม.ย.2566 ซึ่งเป็นผู้ติดเชื้อในช่วงเดือนมี.ค.และเม.ย.2566 ซึ่งจากข้อมูลตอนนี้อาจมีความเป็นไปได้ที่   XBB.1.16 แพร่เชื้อในระดับที่มากกว่าสายพันธุ์ย่อย XBB.1 และ XBB.1.5 มีศักยภาพการหลบภูมิคุ้มกันคล้ายกับ XBB.1 และ XBB.1.5  และยังไม่มีหลักฐานเรื่องความรุนแรงเพิ่มขึ้น ที่สำคัญวัคซีนยังใช้ได้  ส่วน LAAB ยังใช้ได้ แต่ยอมรับว่าเมื่อเป็น XBB ก็ประสิทธิภาพอาจลดลงบ้าง

“การตรวจ ATK ยังตรวจพบได้ บางคนบอกตรวจไม่ได้ ขอนั่งยันนอนยันว่าไม่จริง ยังตรวจได้หมด เพราะการตรวจ ATK ตรวจโปรตีนโควิด ไม่ว่าพันธุ์ไหนก็ต้องมี เพียงแต่ต้องเข้าใจพื้นฐานของ ATK ว่าหากเชื้อไม่มากก็อาจหาไม่เจอได้ ซึ่งต้องใช้เวลาหลังติดเชื้อ 4-5 วัน แต่การตรวจ PCR จะตรวจได้เจอมากกว่า ทั้งนี้ ยกเว้นชุดตรวจ ATK เสื่อมสภาพก็อีกเรื่องหนึ่ง” นพ.ศุภกิจ กล่าว

 

นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ข้อมูลล่าสุดจากประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 15 เม.ย. ยืนยันว่า อาการของ XBB.1.16 ไม่แตกต่างจากไข้หวัดใหญ่ อาการคล้ายกันมาก ส่วนอาการเยื่อบุตาอักเสบพบมากในผู้ป่วยเด็กเล็กในอินเดีย และคู่กับมีไข้ ย้ำว่าไม่จำเป็นต้องตื่นตระหนักจนเกินไป ขณะที่ ปัจจุบันวัคซีนโควิดยังได้ผลดี อย่างไรก็ตาม การเพิ่มกำลังเฝ้าระวังสายพันธุ์ ปลัดสธ. สั่งการให้โรงพยาบาล (รพ.) จังหวัดทุกแห่ง ส่งตัวอย่างเชื้อ อย่างน้อย 15 ตัวอย่าง ด้วยเกณฑ์ 1.เสียชีวิต 2.มีอาการรุนแรง 3.เป็นชาวต่างชาติ 4.บุคลากรการแพทย์ 5.กลุ่มผู้ที่ภูมิบกพร่อง และ 6.การติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์ ทั้งเล็กและใหญ่ โดยให้ส่งตัวอย่างมายังศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ฉะนั้น ส่วนกลางจะได้ตัวอย่างสัปดาห์ละ 700 ตัวอย่าง เพื่อถอดรหัสพันธุกรรมหาสายพันธุ์ในระดับประเทศ

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org