ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เสนอมาตรการ “7 ร่วม” คุมเข้มพื้นที่เล่นน้ำ สงกรานต์ปลอดเหล้า 

สสส. สานพลังเครือข่ายงดเหล้า เสนอมาตรการ “7 ร่วม” คุมเข้มพื้นที่เล่นน้ำ สงกรานต์ปลอดเหล้า กว่า 100 แห่งทั่วประเทศ หลังโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย หวั่นทำนักดื่มเพิ่ม เน้นใช้กติกาชุมชน-ท้องถิ่นควบคุม สร้างคุณค่าวัฒนธรรมประเพณี สนุก ปลอดภัย คืนความสุขคนไทย “ไม่เมา ไม่เจ็บ ไม่ตาย”

เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2566 ที่โรงแรมอมารี แอร์พอร์ต ดอนเมือง กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) จัดงาน “สงกรานต์ 4 รีเทิร์น คุณค่า ความสุข ความสนุก ความปลอดภัย กำลังจะกลับมา” โดยมีรศ.ดร.แล ดิลกวิทยรัตน์ กรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สสส. นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผอ.สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข นายวิษณุ ศรีทะวงศ์ ผู้จัดการแผนงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สคล. เข้าร่วมงาน 

"เสนอมาตรการ “7 ร่วม” คุมเข้มพื้นที่เล่นน้ำ สงกรานต์ปลอดเหล้า "

ภายในงานมีการแสดงทางวัฒนธรรม สงกรานต์ 4 RETURN พร้อมตัวแทนเจ้าภาพจัดงาน 5 พื้นที่ ได้แก่ 

  1. นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์  นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น พื้นที่ถนนข้าวเหนียว จ.ขอนแก่น ตัวแทนพื้นที่จัดงานสงกรานต์ร่วมสมัย 
  2. นายณรงค์ พรหมจิตต ผู้จัดการฝ่ายอิเวนท์ ศูนย์การค้าไลม์ไลน์อเวนิว ภูเก็ต สงกรานต์โนแอล LimeLightAvenue จ.ภูเก็ต ตัวแทนพลังพื้นที่จัดงานเอกชนไร้น้ำเมา
  3. นายสมนึก มุ่งชูเกียรติสกุล รองนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองจันทบุรี สงกรานต์กลางคืน ถนนข้าวทิพย์ จ.จันทบุรี ตัวแทนงานสงกรานต์กลางคืนปลอดเหล้า 
  4. นายวิจารณ์ กุลชนะรัตน์ นายกเทศมนตรีตำบลวังกะ กาญจนบุรี ถนนข้าวสามวัฒนธรรม มอญสังขละบุรี จ.กาญจนบุรี  ตัวแทนวิถีวัฒนธรรมชาติพันธุ์ที่ทรงคุณค่า
  5. นางมาลัย มินศรี  ผู้ประสานงานท่องเที่ยวปลอดภัยบางกอกใหญ่ กรุงเทพ สงกรานต์บางกอกใหญ่ ไร้แอลกอฮอล์ ตัวแทนพื้นที่ส่งเสริมวิถีวัฒนธรรมร่วมสมัยฝั่งธนบุรี  

"เสนอมาตรการ “7 ร่วม” คุมเข้มพื้นที่เล่นน้ำ สงกรานต์ปลอดเหล้า "

สงกรานต์ปลอดเหล้า 

ศ.ดร.แล ดิลกวิทยรัตน์ กรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สสส. เปิดเผยถึงการคุมเข้มพื้นที่เล่นน้ำ สงกรานต์ปลอดเหล้า ว่า จากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ มีการกลับมาจัดงานสงกรานต์อีกครั้ง หลังจากที่ไม่ได้จัดงานสงกรานต์เต็มรูปแบบมานาน เริ่มตั้งแต่ปี 2563 จนกระทั่งปี 2565 การจัดงานสงกรานต์ครั้งนี้จึงมีสิ่งที่น่าเป็นห่วง เพราะรูปแบบการส่งเสริมการท่องเที่ยวไม่ได้ควบคุมกิจกรรมส่งเสริมการตลาดของธุรกิจแอลกอฮอล์ แนวโน้มที่ประชาชนจะดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงมีมากขึ้น โดยเฉพาะค่านิยมในการจัดงานวันสงกรานต์ในช่วงกลางคืน จากเดิมที่จัดช่วงกลางวัน สสส.จึงได้ร่วมกับกลุ่มที่มีเจตนารมณ์เดียวกัน เป็นภาคีเครือข่าย ร่วมวางแนวทางลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพรูปแบบใหม่ 

ศ.ดร.แล กล่าวอีกว่า สสส.ขอชื่นชมพื้นที่ ซึ่งดำเนินงานได้อย่างสอดคล้องกับเจตนารมณ์ที่ทำให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดี อีกทั้งจะรณรงค์ให้สังคมเห็นคุณค่าที่แท้จริงของประเพณีสงกรานต์ว่า ไม่ได้มีแค่การเล่นสาดน้ำ แต่วัฒนธรรมประเพณีเชื่อมโยงศาสนา สร้างกิจกรรมแห่งความสุขในครอบครัวได้โดยไม่ต้องมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้

"สงกรานต์ปลอดเหล้า "

"การมีนโยบายและมาตรการควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่รัดกุม หนักแน่น สสส.เชื่อว่า ปัญหาอาชญากรรม ความรุนแรง อุบัติเหตุ จะน้อยลง สสส.และเครือข่ายงดเหล้า ใช้แนวคิดสร้างคุณค่า ความสุข สนุก ปลอดภัย คืนความสุขแบบ “สนุก ไม่เมา ไม่เจ็บ ไม่ตาย” เดินทางท่องเที่ยว กลับบ้านอย่างความปลอดภัย ปีนี้เดินหน้าปูพรมนำร่องและขยายพื้นที่เล่นน้ำปลอดภัยลดปัจจัยเสี่ยงตามถนนตระกูลข้าวกว่า 60 แห่ง และพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้ากว่า 100 แห่งทั่วประเทศ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ เชื่อมั่นว่า ด้วยความสามารถและเจตนาที่มุ่งมั่น สงกรานต์นี้จะปลอดภัย" รศ.ดร.แล กล่าว

ด้าน นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผอ.สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีแรกที่กลับมาจัดงานสงกรานต์ จึงต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ซึ่งได้มีมติบูรณาการขับเคลื่อนมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงวันสงกรานต์ โดยอุบัติเหตุส่วนใหญ่จะเกิดถนนสายรองมากกว่าถนนหลัก จึงมีแนวทางในเชิงป้องกันโดยใช้มาตรการต้นน้ำ เช่น กำหนดพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ปลอดเหล้า เพื่อสร้างความปลอดภัย ลดการผลิตคนเมาลงสู่ท้องถนน รณรงค์ดื่มไม่ขับ ขับไม่ดื่ม ส่งเสริมการตั้งด่านและวางมาตรการชุมชน และบังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 อย่างเข้มงวด เช่น ควบคุมไม่ให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นอกเวลาที่กฎหมายกำหนด ห้ามขายให้เด็ก เยาวชน และคนเมา แนวทางเหล่านี้จะขับเคลื่อนงานผ่านกลไกคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับจังหวัด และ กทม. รวมถึง ส่งเสริมให้นายอำเภอนักรณรงค์มีส่วนร่วมรณรงค์

"สงกรานต์ปลอดเหล้า "

"คนไทยยังอยู่กับวัฒนธรรมการดื่มเหล้า อยากให้คนไทยเปลี่ยนวิธีคิด เลิกค่านิยม เรื่องการกินเหล้าในช่วงสงกรานต์ เพราะสงกรานต์ในอดีตไม่มีกินเหล้า แต่ตอนหลังเน้นการสาดน้ำเป็นเรื่องหลัก ต้องเฮฮาเรื่องการสาดน้ำ เวลาจัดงานจึงต้องมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเกิดผลกระทบมากมาย กินเหล้าแล้วเกิดอุบัติเหตุรถล้มคว่ำ มีประเด็นทะเลาะวิวาท การล่วงละเมิดทางเพศ และความรุนแรงอื่น ๆ จากวัฒนธรรมดีงามก็กลายเป็นอีกด้านหนึ่งขึ้นมา บางคนเรียกว่าเป็น Water War สงครามการฉีดน้ำ" นพ.นิพนธ์ เพิ่มเติม

นพ.นิพนธ์ กล่าวอีกว่า คนไทยควรกลับไปดูว่า ทำไมจึงให้หยุด 3-4 วัน ช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพื่อกลับไปพบปะญาติผู้ใหญ่ มีการรดน้ำดำหัว สรงน้ำพระ มีพิธีเข้าวัดทำบุญ ถึงเวลาแล้วที่จะเปลี่ยนกลับไป แต่การเปลี่ยนความเชื่อต้องใช้เวลา บางคนบอกว่า ก็มันสนุก แต่ถ้าเกิดอุบัติเหตุกับตนเอง ความเชื่อนั้นคงไม่สนุก จึงต้องช่วยกันสร้างสิ่งแวดล้อม มีกิจกรรมท้องถิ่น จัดพื้นที่ปลอดภัยไร้แอลกอฮอล์ จัดให้มีพื้นที่สนุกได้โดยไม่มีแอลกอฮอล์ ค่อย ๆ เปลี่ยนความเชื่อเหล่านี้ไปควบคู่กัน ซึ่งคาดว่า ปีนี้อุบัติเหตุจะเพิ่มขึ้น การดื่มแอลกอฮอล์คงห้ามไม่ได้ แต่ดื่มแล้วไม่ควรขับรถเพื่อลดความเสี่ยงอุบัติเหตุ 

"สงกรานต์ปลอดเหล้า"

ขณะที่ นายวิษณุ ศรีทะวงศ์ ผู้จัดการแผนงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สคล. กล่าวว่า วันสงกรานต์แบบสนุกจัดเต็มจะกลับมาอีกครั้ง สคล. สำรวจความคิดเห็นจากประชาชนเรื่องกิจกรรมสงกรานต์ปลอดเหล้า ปี 2565 พบว่า  84% ชอบเที่ยวสงกรานต์ปลอดเหล้า เกือบ 100% เชื่อว่าช่วยลดอุบัติเหตุจากการดื่มแล้วขับ 89% ช่วยลดการทะเลาะวิวาท 88%  รู้สึกปลอดภัยในการออกมาท่องเที่ยว

"สงกรานต์ 4 รีเทิร์น คุณค่า ความสุข ความสนุก ความปลอดภัย กำลังจะกลับมา ปีนี้เปลี่ยนค่านิยม สู่วัฒนธรรมเดิม เพิ่มเติมความปลอดภัย ให้การเล่นน้ำสนุกได้โดยไม่ต้องมีแอลกอฮอล์ สงกรานต์ปลอดเหล้า "

สงกรานต์ปลอดเหล้า ปีนี้มีข้อเสนอ 7 มาตรการ ได้แก่ 

  1. ร่วมกันกำหนด ไม่ให้มีกิจกรรมส่งเสริมการดื่มการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่สาธารณะ 
  2. ร่วมกันสนับสนุน สร้างพื้นที่สงกรานต์ปลอดเหล้าปลอดภัย เล่นน้ำปลอดภัย 
  3. ร่วมใช้ มาตรการ ไม่ให้คนนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาในงาน มีนโยบายท้องถิ่นและกติกาชุมชนควบคุม 
  4. ร่วมกันควบคุมและเฝ้าระวัง ไม่ให้ธุรกิจแอลกอฮอล์ฉวยโอกาสจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายแล้วทิ้งปัญหาภาระและผลกระทบ ทั้งอุบัติเหตุ ทะเลาะวิวาท ความสูญเสียให้สังคม 
  5. ร่วมกันส่งเสริม กิจกรรมตามประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น ส่งต่อวิถีวัฒนธรรมสู่เด็กเยาวชน 
  6. ร่วมกันดูแลเด็กเยาวชน ที่เล่นน้ำสงกรานต์เวลากลางคืน ป้องกันอุบัติเหตุ อาชญากรรม และการคุกคามทางเพศ 
  7. ร่วมกันสื่อสาร ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติและสังคมเข้าใจและตระหนักถึงความปลอดภัย ในเหตุผลที่ต้องร่วมกันควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่สาธารณะ

"สงกรานต์ปลอดเหล้า "

"การเปลี่ยนค่านิยมทำได้ยาก แต่ทุกคนสามารถรวมพลังช่วยกันเปลี่ยนได้ ยิ่งปลอดภัยนักท่องเที่ยวยิ่งมา สงกรานต์นี้ ทุกคนควรมีความสุข สนุก ไม่ใช่แค่เรื่องการสาดน้ำอย่างเดียว มีกิจกรรมอื่น ๆ อีกเยอะ ถ้าควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ดี กิจกรรมท่องเที่ยว จะขยายและเข้าถึงได้อีกเยอะ แต่ถ้าสงกรานต์ไม่ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีแนวโน้มว่า สงกรานต์ปีนี้จะรุนแรง เนื่องจากคนอั้นมานาน ถ้าเราจะทำให้สงกรานต์ เต็มไปด้วยคุณค่า ความสุข ความสนุก ความปลอดภัย จำเป็นต้องกลับมาควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ โดยเฉพาะพื้นที่ ที่เล่นน้ำ" นายวิษณุ กล่าวเพิ่ม

สงกรานต์ 4 รีเทิร์น คุณค่า ความสุข ความสนุก ความปลอดภัย กำลังจะกลับมา ปีนี้เปลี่ยนค่านิยม สู่วัฒนธรรมเดิม เพิ่มเติมความปลอดภัย ให้การเล่นน้ำสนุกได้โดยไม่ต้องมีแอลกอฮอล์ สงกรานต์ปลอดเหล้า 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : สงกรานต์ ปี66 ลุยย้อนกลับดำเนินคดีร้านขายเหล้าให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org

เรื่องที่เกี่ยวข้อง