เปิดข้อมูลอันตราย “ยาชุด” กลุ่มเอ็นเสดหลายชนิด ตัวร้ายก่อโรคไตวายเรื้อรัง และไตวายเฉียบพลัน พบยังมีขายในร้านขายยา ไม่ใช่แค่ชนบท ล่าสุดย่านห้วยขวาง กทม.ยังแอบขาย ทั้งที่ผิดกฎหมาย ร้องหน่วยงานรัฐ อย. ดำเนินการด่วน!

 

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ที่สถาบันวิจัยสังคม อาคารวิศิษฐ์-ประจวบเหมาะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา(กพย.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  มูลนิธิเภสัชศาสตร์เพื่อสังคม (มภส.)มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา (มสพ.)สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สวส.)และชมรมเภสัชชนบท ร่วมจัดงานประชุมและแถลงข่าว “ดูแลไตอย่างไรให้มีสุขภาพดี: เมื่อต้องใช้ยา”

 

กพย.เผยยาชุด ยากลุ่มเอ็นเสด ภัยร้ายก่อโรคไต

 

โดย ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี   ผู้จัดการ กพย. กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยติด 1 ใน 5 ของประเทศในโลกที่มีอัตราการเกิดโรคไต ทั้งโรคไตเฉียบพลัน โรคไตยืดเยื้อ โรคไตเรื้อรัง ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมควบคุมโรคพบว่า ผู้ป่วยไตเรื้อรังมี 11.6 ล้านคน และมีผู้ป่วยมากกว่า 1 แสนคนต้องล้างไตในปัจจุบัน ซึ่งสาเหตุการเกิดโรคบางชนิดมาจากกินเค็ม และการใช้ยา สารเคมี และยาหลายชนิดก่อปัญหาโรคไตได้ ทั้งยาชุด ยาแก้ปวด ยาสมุนไพรบางชนิดต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน

 

โดยเฉพาะ ยาชุด  ยังคงเป็นปัญหา และมีอันตราย เพราะไม่มีชื่อทางยาใดๆ ซึ่งมีส่วนประกอบ ทั้งสเตียรอยด์ กลุ่มยาเอ็นเสด พาราเซตามอล ยากล่อมประสาท ยาปฏิชีวนะ ยาแก้แพ้ เมทีลีนบลู ซึ่งถอนทะเบียนแล้วแต่ยังมีคนเจอ ไซบูทรามีน วิตามิน นอกจากนี้ ยังมียากษัยเส้นบำรุงไต แต่องค์ประกอบพบกลุ่มเอ็นเสด ซึ่งมีผลทำให้ไตวายได้ง่าย   ทั้งนี้  ยาเอ็นเสด เป็นยาอันตรายหรือควบคุมพิเศษ มีทั้งหมด 29 ชื่อสามัญทางยา รวม 1,163 ทะเบียนตำรับยา มียาฉีดจำนวน 8 ชื่อสามัญทางยา รวม 49 ทะเบียนตำรับยา ซึ่งมีคำเตือนเยอะมาก ทั้งห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์ ห้ามใช้ในผู้มีเลือดออกในกระเพาะอาหาร และที่สำคัญห้ามใช้ในคนเป็นโรคตับ โรคไต อย่างรุนแรง หลายคนไม่รู้ อย่างชาวบ้านมีการใช้กันมาก ใช้โดยไม่รู้จักชื่อยา หลายครั้งใช้โดยไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคไต ที่สำคัญไม่มีเครื่องมือตรวจว่า กินยาเอ็นเสดไปแล้ว

 

“จริงๆยาชุดหลังๆ เลี่ยงสเตียรอยด์  หันมาใช้เอ็นเสดแทน และใช้หลายเม็ดด้วยกัน ดังนั้น มาตรการควบคุม ควรมีการสแกนในชุมชน ใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล” ผศ.ภญ.นิยดา กล่าว

 

 

งบประมาณกองทุนไตพุ่งสูงขึ้นระหว่างปี 2553-2565 โตขึ้นเกือบ 6 เท่า

 

ภก.ไตรเทพ ฟองทอง  สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของงบประมาณรายจ่ายกองทุนไตวายเรื้อรัง ระหว่างปีงบประมาณ 2553-2565 เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างปี 2553 กองทุนไตมีประมาณ 2,218 ล้านบาท แต่เมื่อปี 2565 สูงถึง 11,808.81 ล้านบาท โตขึ้นมาเกือบ 6 เท่า ซึ่งโตเร็วมาก โดยปัจจุบันมีคนไข้ที่ขึ้นทะเบียนรักษารูปแบบต่างๆ รวมทั้งหมด 70,891 ราย  

 

ข้อมูลบริการโรคไตเรื้อรัง จากระบบฐานข้อมูลผู้ป่วยใน สปสช. ระหว่างปี 2561 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นข้อมูลที่รพ.ต่างๆ ส่งเข้ามา พบว่า แต่ละปีคนไข้จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และยังพบว่า คนไข้ยิ่งอายุมากยิ่งเจอโรคมาก ขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพก็จะสูงขึ้น เฉลี่ยค่าใช้จ่ายต่อคนในการแอดมิท รพ. ประมาณ 3-5 หมื่นบาท

 

สรุปข้อมูลงบประมาณรายจ่ายกองทุนไตวายเรื้อรัง (Chronic kidney disease :CKD) เมื่อเปรียบเทียบปี 2561 กับปี 2565 พบปี 2561 อยู่ที่ประมาณ 9,699.66 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นในปี 2565 เป็น 11,808.86 ล้านบาท คิดการปรับขึ้นประมาณกว่า 21% ขณะที่คนไขก็เพิ่มสูงขึ้น อย่างจำนวนผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง จากปี 2561 อยู่ที่ 268,464 ราย เพิ่มเป็น 304.369 ราย เพิ่มขึ้น 13.37%  จำนวนการแอดมิท เพิ่มขึ้น 7.87% จำนวนวันนอนเพิ่มขึ้น 14.40%  ค่าใช้จ่ายรพ.รวมเพิ่มขึ้นอีก 14.40%

 

นอกจากนี้ ในส่วนกองทุนไตวายเฉียบพลัน (Acute renal failure : ARF) ปี 2561 จำนวนผู้ป่วย 159,685 ราย ปี 2565 ขณะที่ปี 2565 ผู้ป่วย 218,424 ราย เพิ่มขึ้น 36.79% จำนวนแอดมิทก็เพิ่มขึ้น 37.83% จำนวนวันนอนก็เพิ่มขึ้น 34.70% และค่าใช้จ่ายสูงขึ้นเช่นกันถึง 62.44%

 

เครือข่ายผู้ป่วยชี้ใช้ยาชุด ยาหม้อ กลับซ้ำเติมอาการ

 

ด้าน นายธนพล ดอกแก้ว  นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย และประธานเครือข่ายผู้ป่วยโรคเรื้อรัง กล่าวว่า โรคไตที่เกิดจากการใช้ยาบางชนิด เป็นปัจจัยสำคัญ แต่คนยังพูดน้อยมาก ยกตัวอย่าง ตนเองป่วยโรคไตเสื่อม มีภาวะหน้าบวม ท้องบวม ขาบวม  หอบเหนื่อยง่าย  จนพบว่าเรามีภาวะไตเสื่อม แต่ก่อนจะรู้ตัว ก็เสียโอกาสการรักษาไปมาก เพราะเข้าใจผิดรักษาเองผิดวิธี ซึ่งเริ่มตั้งแต่ตอนทำงานที่จีน มีปัญหาเรื่องการสื่อสาร เมื่อป่วยจึงไม่ค่อยไปพบแพทย์ และใช้ยาชุดที่ซื้อจากประเทศไทย ปวดหัวปวดเมื่อยกินยาชุดตลอด กินยาจนติดเป็นนิสัย กระทั่ง 3 ปีกว่าๆ เริ่มมีอาการผิดปกติ  จนกลับมาไทยและตรวจสุขภาพทำให้รู้ว่า เป็นไตวาย

 

“ขณะนั้นป่วยไตวายสเตจ 4  แต่กลับไม่เข้าสู่กระบวนการรักษาอย่างถูกวิธี  แต่ไปหายารักษาโรคไตตามคำบอกเล่า  อย่างยาผีบอก  ยาหม้อ ยาลูกกลอน ยารถเร่ แม้กระทั่งกินยาจีน กินแบบนี้เป็นเวลาปีกว่าๆ สุดท้ายไตพัง เกิดไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย จนต้องเข้าสู่การบำบัดทดแทนไต ช่วงนั้นยังไม่ครอบคลุมการรักษา มีค่าใช้จ่ายสุงมาก  ต้องมีเงินไปฟอกไตครั้งละ 6 พันบาท เดือนละ 12 ครั้ง เฉลี่ยเดือนละ 7 หมื่นกว่าบาง คูณไปหนึ่งปี ดังนั้น  เราควรตระหนักใส่ใจเรื่องสุขภาพ การใช้ยาก็ต้องระวัง” นายธนพล กล่าว

 

ผู้ป่วย จี้ อย.คุมร้านยาจริงจัง เหตุพบลอบขาย ยาชุด

 

นายธนพล กล่าวว่า  มีข้อเสนอ 3 ข้อ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการใช้ยาจนเสี่ยงเกิดโรคไต คือ 1.อยากให้ภาครัฐออกมาจัดการเรื่องโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างเคร่งครัด เพราะที่ผ่านมารัฐยังจัดการพวกโฆษณาเกินจริงไม่ได้เสียที 2.ฝากให้กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กำกับร้านขายยาอย่างจริงจัง เพราะยังมีขายยาชุดอยู่ ทั้งร้านที่มีเภสัชกร และไม่มีเภสัชกร ซึ่งเราลงพื้นที่อย่างร้านขายของชำ ก็พบว่าเขาผลิตยาเองไม่ได้ ก็เดินไปซื้อยาจากร้านขายยานั่นเอง  และ 3.ขอให้ประชาชนก่อนจะใช้ยา ควรศึกษาหาข้อมูลก่อน อย่าหลงเชื่อจากสื่อโฆษณาต่างๆ จากที่ทำงานโรคไตมา บอกได้เลยว่า ยาสมุนไพรต่างๆที่มาโฆษณาชวนเชื่อ มีแต่บอกข้อดี ไม่เคยพูดข้อเสีย หากป่วยต้องไปพบแพทย์รักษาให้ถูกต้อง

 

ร้านชำลอบขายยาชุด ด้านเภสัชชี้อันตรายยากลุ่มเอ็นเสด  

 

ภก.สุภนัย ประเสริฐสุข  ประธานชมรมเภสัชชนบท กล่าวว่า  ยาชุดจะมีชื่อต่างๆ เชิญชวน เช่น ยาชุดหมอทหาร ในชนบทจะทำให้ดึงดูดคนเข้าไปใช้ และยังมีชื่อ ยาชุดทหารผ่านศึก หมายถึงขั้นกว่าอีก ระงับปวดได้รุนแรงฉับพลัน ตรงนี้น่าตกใจมาก เพราะหลายครั้งเจอในร้านยา ขณะนี้ก็มีการทำงานควบคุม เฝ้าระวังกันอยู่ แต่ก็ยังพบปัญหาอย่าง  89.72% ของร้านชำในจังหวัดที่ไม่ได้ทำกิจกรรมอย่างจริงจังต่อเนื่อง จะพบยาเหล่านี้ซุกซ่อน สร้างอันตรายให้คนในพื้นที่

 

  

 

 

ภก.วีรชัย ไชยจามร  คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า  ยากลุ่มเอ็นเสด ไปทำลายสมดุลความดันในกรวยไต ทำให้เสี่ยงไตวายเฉียบพลัน หรือไตวายเรื้อรัง อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงจากการเกิดโรคไตจากยา ส่วนใหญ่จะมีภาวะขาดน้ำ  ซึ่งมักพบในคนไข้บางกลุ่ม เช่น คนไข้ที่มีภาวะไตแย่ หรือตับแย่ลง เช่น ตับแข็ง หรือภาวะหัวใจล้มเหลว ปริมาณน้ำในหลอดเลือด น้ำที่ไปท่อไตจะน้อย ทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ และส่งเสริมการเกิดโรคไตจากยา นอกจากนี้ ในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน รวมไปถึงการได้รับยาที่มีผลต่อไต มากกว่า 1 ชนิด คือ ยาชุด ทั้งหมดล้วนเป็นความเสี่ยง ที่เรามักจะเจอบ่อยร่วมกับตัวสเตียรอยด์

 

ปัญหายาชุด ไม่ใช่เฉพาะต่างจังหวัด

ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล   กรรมการแพทยสภา/คณะทำงานสร้างเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลภาคประชาชน (สยส.) กล่าวว่า  ปัจจัยเสี่ยงต่อการมีไตเสื่อมจากการใช้เอ็นเสด คือ 1. เป็นผู้สูงอายุ ต้องหลีกเลี่ยงยากลุ่มนี้   2.เป็นโรคไตตั้งแต่ระยะที่ 3 ต้องหลีกเลี่ยง โดยกระทรวงสาธารณสุข มีตัวชี้วัดให้รพ.ทุกแห่งในสังกัดหลีกเลี่ยงการใช้เอ็นเสดในคนที่ค่าไตระยะที่ 3 และยังมีตัวชี้วัดไม่ให้รพ.สั่งยาเอ็นเสดซ้ำซ้อน ถือเป็นการใช้ยาไม่สมเหตุสมผล ห้ามกระทำ  3.ร่างกายขาดน้ำ ต้องระมัดระวังห้ามใช้เอ็นเสด เสี่ยงไตวายเฉียบพลันได้ 4.มีโรคประจำตัว เช่น หัวใจล้มเหลว ตับแข็ง ห้ามใช้ยาเอ็นเสด 5.ใช้ร่วมกับยาขับปัสสาวะ 6. ใช้ร่วมกับยาลดความดันเลือดบางชนิด เช่น อีนาลาพริล โลซาแทน 7.ใช้เอ็นเสดหลายชนิดร่วมกัน และ 8.ใช้เอ็นเสดในขนาดสูง ใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน

 

“ปัญหายาชุด ไม่ได้พบเฉพาะต่างจังหวัด ในกรุงเทพฯก็พบเช่นกัน อย่างล่าสุดมีคนโพสต์ปัญหานี้ย่านห้วยขวาง ได้ยาชุดที่มักมีเอ็นเสดเป็นส่วนประกอบ และหลายครั้งมีเอ็นเสดหลายตัว  ทำให้เกิดปัญหา ผลกระทบต่อร่างกาย  การขายยาชุด ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย  ซึ่งยาชุด ถือเป็นยาพิษ ก่อปัญหาต่างๆ รวมทั้งเรื่องไต” ผศ.นพ.พิสนธิ์ กล่าว

ฝาก อย.กำกับฉลากยาเอ็นเสด และเสนอรพ.ทำ HA กรณีการใช้ยา

ผศ.นพ.พิสนธิ์ กล่าวอีกว่า  ฝากถึง อย.ควรออกเป็นกฎหมายกำกับที่ฉลากยาว่า  ยาชนิดไหนเป็นยาเอ็นเสด กำหนดให้ชัดเจน และระบุเตือนว่า ยานี้เสี่ยงไตวาย เป็นต้น และรพ.ควรรายงานข้อมูลดังกล่าวไปยัง HA เช่น คนไข้เป็นไตอาจมีความสัมพันธ์กับยา  ซึ่งหากมีโอกาสจะขอหารือกับทางสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. ในการเก็บข้อมูลตรงนี้

   

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org