เภสัช รพ.สีชมพู จ.ขอนแก่น นำร่องวิจัยเชิงปฏิบัติการคัดกรอง-ส่งต่อ ผู้ป่วยได้รับอันตรายจากสเตียรอยด์ พบยาชุด-ยาลูกกลอน-ยาหม้อ ปนเปื้อนอื้อ ผงะ! ป่วย 1 ราย ค่าใช้จ่ายทางอ้อมร่วม 1.5 หมื่นบาท
ภก.เปรมศักดิ์ ปวรรณา กลุ่มงานเภสัชกรรมและคุ้มครองผู้บริโภค โรงพยาบาลสีชมพู จ.ขอนแก่น กล่าวถึงการศึกษารูปแบบการจัดการกลุ่มเสี่ยงที่ได้อันตรายจากสเตียรอยด์ โดยเครือข่ายชุมชนศรีสุข ในเวทีการประชุมเภสัชกรรมปฐมภูมิ หัวข้อ“เภสัชกรกับการพัฒนาระบบยาในการแพทย์ปฐมภูมิ” เมื่อช่วงปลายเดือน มี.ค.2560 ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง กรุงเทพฯ ตอนหนึ่งว่า พบปัญหาชาวบ้านมีพฤติกรรมการใช้สเตียรอยด์และเข้าถึงโดยทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว และยังพบแนวโน้มการปลอมปนยาสเตียรอยด์สูงขึ้นเรื่อยๆ โดยค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยในการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลทางตรงอยู่ที่รายละ 7,235 บาท ขณะที่ค่าใช้จ่ายทางอ้อมอยู่ที่ 14,711 บาท
สำหรับปัญหาสเตียรอยด์ใน อ.สีชมพู พบว่ามีผู้ป่วย 8 ราย ที่มีอาการไม่พึงประสงค์จากยาและผลิตภัณฑ์ที่ปนเปื้อนสเตียรอยด์ และพบว่ามียาและผลิตภัณฑ์สุขภาพปนเปื้อนสเตียรอยด์ถึง 35.67% ขณะที่ประชาชนมีพฤติกรรมการซื้อยากินเองจากรถเร่ ตลาดนัด มากถึง 17.85%
“เมื่อสำรวจสภาพปัญหาในพื้นที่แล้ว ก็ได้นำประเด็นดังกล่าวไปคุยกับผู้นำชุมชนและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อให้รับทราบปัญหาร่วมกัน ก่อนจะส่งคืนข้อมูลนี้กลับสู่ชุมชนเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน และค้นหาผู้ป่วยที่ได้รับอันตรายจากสเตียรอยด์มารับการรักษา” ภก.เปรมศักดิ์ กล่าว
ภก.เปรมศักดิ์ กล่าวอีกว่า เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลกลุ่มเสี่ยงและอาการไม่พึงประสงค์จากการได้รับสเตียรอยด์ จึงได้ทำการวิจัยเชิงปฏิบัติการกับกลุ่มตัวอย่าง 355 ราย ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนในพื้นที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ศรีสุข 8 หมู่บ้าน โดยใช้แบบประเมินโครงการจัดการสเตียรอยด์โดยเครือข่ายชุมชนเป็นเครื่องมือค้นหา คัดกรอง และส่งต่อผู้ป่วย
สำหรับวงจรการวิจัยเชิงปฏิบัติการ เริ่มต้นจากการวางแผน (Plan) สำรวจสภาพปัญหาของชุมชน ทบทวนสถานการณ์ปัญหาของชุมชน จากนั้นก็จัดประชุมหาข้อตกลงรูปแบบการจัดการกลุ่มเสี่ยง รวมถึงการอบรมให้ความรู้แก่ อสม. การประชุมรูปแบบการจัดผู้ป่วย การปรับปรุงแบบประเมิน การอบรมให้ความรู้ และประชุมชี้แจงทีมสหวิชาชีพ
จากนั้นเข้าสู่วิธีการปฏิบัติ (Act) ขั้นตอนที่ 1 คือการค้นหากลุ่มเสี่ยงที่มีประวัติได้รับสเตียรอยด์ โดย อสม. จากนั้นขั้นตอนที่ 2 คือการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงที่มีประวัติได้รับสเตียรอยด์ โดยเจ้าหน้าที่ รพ.สต.และพยาบาลวิชาชีพ ขั้นตอนที่ 3 คือการส่งต่อผู้ป่วย จาก รพ.สต.สู่โรงพยาบาล ขั้นตอนที่ 4 คือการวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยโดยทีมสหวิชาชีพโรงพยาบาล
“กระบวนการจะเริ่มตั้งแต่ห้องบัตรค้นแฟ้มประวัติผู้ป่วย พยาบาลจะซักประวัติเพื่อคัดกรองเบื้องต้น ส่วนแพทย์จะตรวจร่างกาย และสั่งตรวจระดับ cortisol ในเลือด นักเทคนิคการแพทย์เจาะเลือดเพื่อตรวจ cortisol ไปจนถึงแพทย์แจ้งผลการตรวจเลือด ติดตามการรักษา และให้เภสัชกรแนะนำให้ความรู้และติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง”ภก.เปรมศักดิ์ กล่าว
สำหรับขั้นตอนที่ 5 คือการศึกษาเชิงคุณภาพ โดยการสัมภาษณ์เชิงลึกถึงสาเหตุและความจำเป็นในการใช้ยา และวัดผลลัพธ์การดูแลผู้ป่วยโดยใช้หลักการ ECHO model
ภก.เปรมศักดิ์ กล่าวอีกว่า เมื่อเสร็จขั้นตอนการปฏิบัติแล้ว ก็จำเป็นต้องสังเกต (Observation) รวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ผล โดยจากการศึกษาสามารถจำแนกรูปแบบยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพที่กลุ่มเสี่ยงมีโอกาสได้รับสเตียรอยด์ ออกเป็นยาชุด 38.10% ยาลูกกลอน 20.80% ยาหม้อยาต้ม 14.79% ยาน้ำสมุนไพร 11.03% ยาฉีดจากคลินิกหรือสถานพยาบาล 10.03%
นอกจากนี้ ผลการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับอันตรายจากสเตียรอยด์ยังบ่งชี้ว่า มีกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสได้รับสเตียรอยด์ถึง 253 ราย หรือ 71.27% ของกลุ่มตัวอย่าง ในจำนวนนี้มารับการคัดกรอง 218 ราย หรือ 86.17% โดยพบผู้ที่มีอาการเข้าเกณฑ์ภาวะ Cushing’s syndrome 13 ราย หรือ 5.96% จึงนำส่งต่อไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล และแพทย์วินิจฉัยว่ามีภาวะ Cushing’s syndrome, Adrenal insufficiency 13 ราย คิดเป็น 100 % ตามที่ได้คัดกรองมา
ภก.เปรมศักดิ์ กล่าวว่า จากการวิจัยระบบคัดกรองและส่งต่อผู้ป่วยสามารถสรุปบทเรียนเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายได้ว่ารูปแบบยาที่ประชาชนชอบใช้ คือยาชุด ยาลูกกลอน ยาน้ำสมุนไพร ดังนั้นบุคลากรทางสาธารณสุขจึงควรสร้างความรู้และความตระหนักแก่ประชาชน และใช้มาตรการควบคุมกำกับ
สำหรับอาการไม่พึงประสงค์ที่พบมากที่สุด คือหน้าวงพระจันทร์ (moon face) หนอกที่ต้นคอหรือไหล่ (buffalo hump) เป็นเครื่องบ่งชี้ ซึ่งประชาชนควรรู้และตระหนักถึงอันตรายที่เกิดจากสเตียรอยด์ ดังนั้นควรมีนโยบายให้เจ้าหน้าที่ รพ.สต. และ อสม. สามารถคัดกรอง และส่งต่อผู้ป่วยที่ได้รับอันตรายจากสเตียรอยด์เพื่อรับการรักษา
- 679 views