“…. ยาชายแดน ไม่ใช่เรื่องของคนชายขอบพื้นที่ชายแดนแต่เพียงอย่างเดียว ยาที่เป็นปัญหาเหล่านี้ถูกลักลอบขนข้ามแดนมา และกำลังคืบคลานเข้ามาถึงชุมชน กลางหมู่บ้านในเขตเมือง ….”
เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน 2559 ได้ทราบข่าวการลักลอบขนยาสเตียรอยด์ข้ามชายแดน สปป.ลาวจำนวน 170,000 เม็ด จากเครือข่ายเภสัชกรชายแดนซึ่งร่วมกันทำงานดักจับปัญหาและแจ้งเตือนภัยภายหลังที่ศุลกากรได้สกัดจับช่วงกลางดึกของวันหยุดสุดสัปดาห์ ซึ่งเมื่อตรวจสอบแล้วก็พบว่าเป็น สเตียรอยด์และยาแก้ปวดจากประเทศจีน ลักลอบนำเข้ามาเพื่อไปขายต่อและจัดเป็นยาชุดแก้ปวด “หมอทหาร” ที่กำลังระบาดในหลายพื้นที่
ภก.สุภนัย ประเสริฐสุข
สเตียรอยด์จากจีนตัวนี้พบว่ามีการระบาดหนักมากตามแนวตะเข็บชายแดนโดยพบในพื้นที่ทางภาคเหนือ ภาคตะวันตกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือและเริ่มพบยาเหล่านี้แล้วในกลางเมือง จ.ศรีสะเกษ เชียงราย และตราด
ขณะที่เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2559 กรมอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข สปป.ลาวได้ประกาศให้เจ้าหน้าที่ทั่วประเทศเร่งกวดขันเฝ้าระวังที่มาและการกระจายยาสเตียรอยด์ที่ลักลอบข้ามแดนมาจากประเทศไทย ในข้อมูลปรากฏภาพกระปุกยาสเตียรอยด์ฉลากภาษาไทย แต่ไม่มีแหล่งผลิตและเลขทะเบียนยา เป็นสเตียรอยด์ใต้ดินตัวเดียวกับที่เป็นปัญหาระบาดอยู่ในประเทศไทย !! ยาตัวนี้เป็นที่นิยมมากขนาดนั้นเลยหรือจึงต้องมีการลักลอบขนข้ามแดนไปมาแบบนี้?
ยาวนานกว่า 40 ปีแล้วที่สุขภาพของคนไทย ถูกคุกคามด้วยยาที่มีการนำไปใช้อย่างไม่เหมาะสม โดยเฉพาะยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (เดกซาเมทาโซนและเพรดนิโซโลน) เมื่อปี 2519 สำลี ใจดี และคณะได้ระบุถึงสภาพปัญหาจากการใช้ยาของประชาชนว่ามีความนิยมนำยากลุ่มยาปฏิชีวนะ ยาแก้ปวด ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์รวมถึงกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์มาใช้โดยที่ขาดความรู้อย่างเพียงพอ ซึ่งพฤติกรรมการใช้ยาลักษณะนี้ได้สร้างผลกระทบต่อสุขภาพมาอย่างต่อเนื่องทั้งโดยความตั้งใจรู้ไม่เท่าไม่ถึงการณ์และถูกหลอกลวงให้ใช้โดยไม่รู้ตัว
สังคมไทยได้ผ่านการทำความเข้าใจ เรียนรู้และผลิตสร้างแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องนี้มาอย่างยาวนาน ทั้งการอบรมให้ความรู้ การรณรงค์สร้างความตระหนัก การปราบปรามบังคับใช้กฎหมาย รวมไปถึงการแสวงหาสิ่งทดแทนการใช้ยาที่มีอันตรายดังกล่าว ซึ่งดูเหมือนว่าน่าจะมีหนทางช่วยลดความรุนแรงของปัญหาให้บรรเทาลงได้ แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในพื้นที่ไม่เป็นเช่นนั้น เรายังคงพบผู้ป่วยเสียชีวิตเพราะการใช้สเตียรอยด์อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน มีผู้ป่วยต้องมีสุขภาพทรุดโทรมลงเพราะผลข้างเคียงจากสเตียรอยด์ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่แตกต่างไปจากอดีต
เมื่อปัญหาเดิมยังยืดเยื้อ ไม่สามารถบรรเทาความรุนแรงลงได้ กลับพบว่ามีความยุ่งเหยิงมากยิ่งขึ้นเมื่อ ยาสเตียรอยด์ถูกตรวจสอบพบในยาน้ำแผนโบราณ เครื่องดื่มน้ำสมุนไพร ครีมหน้าขาวผิวขาว กลายเป็นว่าซึ่งผู้ใช้ยาและผลิตภัณฑ์เหล่านี้ถูกหลอกลวงให้ใช้สเตียรอยด์ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานโดยไม่รู้ตัวและไม่มีสิทธิ์เลือก การปลอมปนลงไปผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนี้ ก็เพื่อเร่งผลหรือบดบังอาการเจ็บป่วย ให้ดูเหมือนว่ายาแรงดีมีประสิทธิภาพเห็นผลรวดเร็ว ขณะที่ผลข้างเคียงได้สร้างภัยร้ายต่อสุขภาพอย่างเงียบๆ
ผู้ป่วยที่ใช้สเตียรอยด์ต่อเนื่องนานๆ จนถึงขั้นมีอาการแสดงลักษณะ หน้าบวม หลังมีหนอก กล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรงและลีบ ผิวหนังแตกลายสีชมพูม่วงคล้ำ หรือทางการแพทย์เรียกอาการ Cushing's syndrome นั้น พบว่ามีโอกาสเกิดสภาวะที่ต่อมหมวกไตไม่สามารถทำงานได้สูงกว่าภาวะปกติ อีกทั้งมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและเลือดออกในระบบทางเดินอาหารมากกว่าผู้ป่วยไม่ใช้สเตียรอยด์
ขณะที่ค่าใช้จ่ายต้นทุนในการรักษาพบว่า มีระยะเวลาเฉลี่ยต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลนานถึง 7.67 วันซึ่งนานกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่นถึง 2.19 วัน คิดเป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นถึง 4,455 บาทต่อวัน[1] ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเกินจำเป็น นอกจากนี้ยังพบค่าใช้จ่ายแฝงอันเกิดจากการภาระงานที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขต้องดำเนินการดูแลและแก้ไขปัญหาจากการที่ผู้บริโภคใช้สเตียรอยด์อย่างไม่เหมาะสมอีกด้วย
สถานการณ์ปัญหาสเตียรอยด์เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนานและไม่มีท่าทีว่าจะลดความรุนแรงลงนั้น ปัญหาสำคัญประการหนึ่งคือการรั่วไหลสเตียรอยด์ออกนอกระบบการควบคุมกำกับ ข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยารายงานว่าปริมาณที่มีการผลิตและนำเข้ายาสำเร็จรูประหว่างปี 2551 – 2555 พบว่า Dexamethasone มีการผลิตนำเข้าจำนวนโดยเฉลี่ย 430 ล้านเม็ดนั้น มีการกระจายไปยังบริษัทยามากถึงร้อยละ 91.05 ขณะที่กระจายไปยังโรงพยาบาลเพียงร้อยละ 0.87 เท่านั้น[2]
นั่นหมายถึงสเตียรอยด์ในระบบที่รัฐสามารถควบคุมกำกับดูแลได้นั้นไหลเวียนอยู่นอกโรงพยาบาลเป็นหลัก ขณะที่ระบบ FDA Reporter ของหน่วยงานที่ใช้ตรวจสอบดักจับปัญหาก็ยังทำงานได้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ ยาที่มีความเป็นพิษสูงนี้จึงมีโอกาสรั่วไหลออกนอกระบบสูงมาก
เมื่อปลายปี 2557 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่นและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ร่วมกันทลายแหล่งกระจายยารายใหญ่แห่งหนึ่ง พบสเตียรอยด์จำนวนเกือบ 2,000,000 เม็ด โดยเป็นยาที่ลักลอบผลิต ไม่มีการขออนุญาตและไม่รายงานการผลิตไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เตรียมพร้อมกระจายขายให้รถเร่และจัดทำเป็นยาชุดขายในหมู่บ้าน เป็นสิ่งยืนยันว่าสเตียรอยด์ใต้ดินลักลอบผลิตนั้นมีอยู่จริง หาใช่มีเฉพาะสเตียรอยด์ในระบบเท่านั้นที่รั่วไหลออกไปจากระบบควบคุมกำกับ
โจทย์สำคัญคือเรายังไม่รู้ว่าสเตียรอยด์ที่แท้จริงมาจากที่ไหน มีกระบวนการกระจายรั่วไหลไปสู่ประชาชนได้อย่างไร ทั้งที่ยานี้ควรจะต้องอยู่ในการควบคุมการใช้โดยแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อความปลอดภัยในการใช้ ภาณุโชติ ทองยัง ประธานชมรมเภสัชชนบท ได้ตั้งโจทย์ท้าทายว่า “.... สเตียรอยด์อยู่ดีๆ ไม่ได้ตกลงมาจากฟ้า ต้องมีต้นทางที่มา ....”[3]
ข้อมูลที่มีอยู่ยังไม่ได้สะท้อนมากพอจนแสดงให้เห็นว่า สเตียรอยด์ที่แท้จริงมาจากไหน ข้อมูลที่เรารับรู้ในปัจจุบันนี้ไม่แตกต่างจากจุดที่เคยยืนเมื่อ 40 ปีที่ผ่านมา ทุกคนรู้ว่ายาชุดสเตียรอยด์มาจากร้านขายของชำรวมถึงร้านขายยานั่นแหละขายสเตียรอยด์ให้ เพราะชาวบ้านไม่รู้จึงต้องใช้ยาชุด เพราะกินแล้วหายดีในเวลารวดเร็ว ไปทำงานต่อได้ ปากท้องคือสิ่งสำคัญมากกว่าความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นในระยะยาว การแก้ปัญหาจึงวนเวียนอยู่ที่การอบรมให้ความรู้ การบังคับใช้กฎหมายเป็นครั้งคราวเมื่อเกิดปัญหาแล้วก็จบ
สถานการณ์ยาไม่เหมาะสมในปัจจุบันพบว่าเหตุการณ์ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต และทวีความรุนแรงซับซ้อนมากยิ่งขึ้น กลไกการจัดการปัญหาที่มีอยู่ยังไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยาสเตียรอยด์ในระบบยังควบคุมไม่ได้ เกิดการรั่วไหลออกนอกระบบและถูกซ้ำเติมเพิ่มความยุ่งเหยิงด้วยยาข้ามแดนเข้ามาในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง
“… สังคมไทยตอนนี้เราพบว่ายาที่มีอันตรายไม่เหมาะสมในการใช้ประชาชนกลับเข้าถึงกันได้ง่ายมาก ขณะที่ยาจำเป็นพื้นฐานที่มีคุณภาพเรากลับพากันเข้าถึงได้ยาก....”
เราจำเป็นต้องแสวงหาความร่วมมือในการจัดการปัญหาสร้างเครือข่ายร่วมทำงาน มากกว่าล้อมรั้วแก้ปัญหาเฉพาะในบ้านใครบ้านมัน เพราะถ้าระบบบ้านใครอ่อนแอกว่าจะทำให้ที่นั่นกลายเป็นแหล่งรังสำหรับพัก/สร้าง/ผลิตสินค้าเหล่านี้แล้วลักลอบข้ามรั้วส่งให้เพื่อนบ้าน ไม่สามารถแก้ปัญหาทั้งระบบอย่างได้ผลเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ผู้เขียน: ภก.สุภนัย ประเสริฐสุข เภสัชกร สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น / ผู้ประสานงานเครือข่ายจัดการปัญหาสเตียรอยด์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
[1] เพชรรัตน์ พงษ์เจริญสุข, กฤติยา ชื่นงูเหลือม, อัมรินทร์ ทักขิญเสถียร, รัชตะ รัชตะนาวิน. การศึกษาต้นทุนทางตรงจากการใช้ยาสเตยีรอยด์ โดยไม่มขี้อบ่งชี้ทางการแพทย์ในประเทศไทย. วารสารเภสัชกรรมโรงพยาบาล vol 17, supp. ( June 2007)
[2] เนาวรัตน์ ทิพย์อุทัย (2556).โครงการศึกษาความคิดเห็นต่อมาตรการการกำหนดรูปแบบหรือการแสดงสัญลักษณข์องยา steroid รูปแบบ รับประทาน: แผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ
[3] สเตียรอยด์’ดูดวิญญาณ. www.waymagazine.org/report/สเตียรอยด์ดูดวิญญาน
- 138 views