ราวกลางเดือนมกราคม 2560 ผู้เขียนได้รับข้อความจากคุณหมอ 2 ท่านส่งเข้ามาในกล่องข้อความส่วนตัว ทั้ง 2 ท่านเป็นแพทย์ที่ปฏิบัติงานอยู่ในโรงพยาบาลชุมชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือแต่อยู่คนละจังหวัดกัน เล่าว่าเจอเคสผู้ป่วยใช้ยาน้ำสมุนไพรเจ้าหนึ่ง (ซึ่งระบุว่าโรงงานแจ้งเลิกผลิตแล้ว) แล้วมีลักษณะคล้ายผู้ป่วยที่ใช้สเตียรอยด์ต่อเนื่องมานาน และน้องเภสัชกรได้ใช้ชุดทดสอบเบื้องต้นตรวจสอบแล้ว ก็พบว่ามีสเตียรอยด์ปลอมปนจริงๆ

ส่วนอีกที่ คุณหมออีกท่านส่งข้อความมาคือ ยาผงสมุนไพรที่มีระบาดเยอะมากในชุมชน คุณหมอทั้ง 2 ท่านลงท้ายในข้อความเชิงหารือว่า “เอายังไงดีพี่ ฝากด้วยนะครับ”

นอกจากนี้ยังพบพื้นที่ซึ่งเจอปัญหาลักษณะคล้ายๆ กันในช่วงที่ผ่านมา เช่น จังหวัดศรีสะเกษที่พบปัญหายาสเตียรอยด์จากจีนทะลักเข้าไทย[1] เนื่องจากผู้ป่วยเสียชีวิตจากการใช้ยาจีนแผนโบราณ Jianbu Huqian Wan ที่พบว่ามีส่วนผสมสเตียรอยด์[2] เมื่อประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2560

และถัดไปอีกวันเดียวทางเภสัชกรสาธารณสุขและเครือข่ายเจ้าหน้าที่ก็ร่วมกันจับกุมและดำเนินคดีจับผู้เร่ค้ายาชุดหมอทหารและยาผงจินดามณี-ยาผีบอก[3] ได้ที่ อ.กระสัง จ.บุรีรัมย์พร้อมของกลางร่วม 500 ชุด ซึ่งยาเหล่านี้พบมีสเตียรอยด์ปลอมปนอยู่ด้วย และล่าสุดพื้นที่โนนสัง จ.หนองบัวลำภู พบเครือข่ายรถเร่ที่มีการนำยาน้ำแผนโบราณ (ตรวจสอบพบสเตียรอยด์ปลอมปน) ชื่อดังของจังหวัดข้างเคียงมาเร่ขายให้ชาวบ้าน

ซึ่งกรณีต่างๆ ที่เกิดขึ้นนี้ล้วนพบเจอปัญหาเพราะมีกลไกดักจับและสะท้อนปัญหาให้ได้รับทราบ รวมไปจนถึงแนวทางแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ ที่หน่วยงานที่กำกับดูแลคือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก็ไม่ได้ละเลยนิ่งนอนใจมีกลวิธีและแนวทางร่วมกับพื้นที่แก้ไขปัญหาในระดับชุมชนมาโดยตลอด

“ ….เราควรทำอย่างไร ไล่จับรถเร่ปราบปรามการลักลอบผลิต ตรวจสอบการจำหน่ายหรือเพิกเฉยยอมจำนนต่อมัน …. ”

คำถามนี้ถูกตั้งขึ้นเพื่อท้าทายคนทำงานในงานถอดบทเรียนกระบวนการเฝ้าระวังและจัดการปัญหาการปลอมปนสเตียรอยด์ด้วยเครือข่ายแกนนำด้านยาชุมชน แผนงานศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น เมื่อปลายปี 2559 ณ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นการรวบรวมคนทำงานจัดการปัญหายาไม่เหมาะสมในชุมชน จำนวน 60 คนจาก 46 พื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะประเด็นปัญหาสเตียรอยด์ที่มีการนำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม มาร่วมกันรวบรวม วิเคราะห์และหาทางออกของปัญหาร่วมกันจากทั่วประเทศ ภายหลังที่มีการขับเคลื่อนการจัดการปัญหาทั้งระบบมาแล้ว

ที่ประชุมในวันนั้นตั้งต้นด้วยการทบทวนย้อนกลับไปถามว่า “ปัญหาของใคร อะไรคือปัญหา” เพื่อทบทวนจุดคนทำงานยืนอยู่ว่าบนเส้นทางหลักที่เคยวางแผนร่วมกันหรือไม่ เครือข่ายทำงานมีข้อมูล เข้าถึงข้อมูลที่ไม่เคยรู้มากขึ้นกว่าอดีตพอสมควร และมีพัฒนาการในรูปแบบจัดการปัญหาระดับชุมชนมากกว่าที่ผ่านมา กลวิธีหนึ่งที่เห็นร่วมกันคือ กลไกชุมชนร่วมขับเคลื่อนการจัดการปัญหาสเตียรอยด์

ดูเหมือนง่ายเป็นไปตามทฤษฎีและหลักวิชาการของการทำงานเครือข่ายในชุมชนก็มีบอกไว้ ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเลย แต่ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ยากที่จะทำอย่างต่อเนื่องและติดตามเกาะติดให้เห็นผลจริงจัง ที่ผ่านมาเราตั้งต้นการทำงานด้วยการดึงเครือข่ายมาช่วยงานกันทั้งนั้น จะพบว่าเรามีพื้นที่นำร่องมากมาย มีบ้านหรือชุมชนต้นแบบจัดการปัญหาเยอะแยะและเติมงบประมาณในมหกรรมต่างๆ ในจำนวนที่สูงมาก (เมื่อเทียบกับการใช้งบประมาณอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ปัญหา) เมื่อเวลาผ่านไป สิ่งที่คงอยู่คือภาพถ่ายและป้ายต่างๆ ที่ติดอยู่ในศาลากลางบ้าน ร้านค้าของชุมชนและโรงเรียนต่างๆ และความสำเร็จในแง่การตลาด ที่ได้นำเสนอผ่านงานมหกรรมต่างๆ

6 ชุมชน[4] และ 18 พื้นที่[5] ได้บอกถึงแนวทางทำงานเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหายาไม่เหมาะสมในชุมชนตรงกันว่า ต้องเกาะติดการทำงานและแก้ไขปัญหา และสานพลังของชุมชนในพื้นที่แก้ไขปัญหา โดยพื้นที่เหล่านี้อยู่กับปัญหาสเตียรอยด์ที่มีการนำมาใช้ในทางที่ไม่เหมาะสมมาอย่างยาวนาน ผ่านการเรียนรู้และเข้าใจสภาพปัญหาของพื้นที่เป็นอย่างดี ทุกคนกล่าวคล้ายกันว่า ต้องแก้ไขปัญหาแบบเกาะติด ติดตามและให้เวลาในการทำงานอย่างน้อย 3 ปีขึ้นไปจึงจะเริ่มเห็นผล โดยระหว่าง 3 ปีนั้นคือการสานพลังชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ, เครือข่ายผู้นำของชุมชน, ผู้ปฏิบัติงานและเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ และกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนคือ นายอำเภอหรือปลัดอำเภอของพื้นที่  

ดังนั้นนอกจากการขับเคลื่อนการทำงานระดับต้นทางของปัญหา ทั้งการนำเข้าส่งออก การขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎหมายและหลักเกณฑ์ ระเบียบวิธีการต่างๆ แล้ว เภสัชกรในชุมชนและเจ้าหน้าที่ของพื้นที่จึงเป็นหัวใจสำคัญน่าจะลองผสานการทำงานให้เวลาและเกาะติดกับปัญหาในพื้นที่อย่างจริงจัง มีแนวทางที่ชัดเจน ที่จะให้ชุมชนและผู้คนในพื้นที่ร่วมเป็นเจ้าของปัญหาและปกป้องภัยของยาไม่เหมาะสมในพื้นที่ได้ด้วยตัวของชุมชนเอง

6 ชุมชนและ18 พื้นที่เป็นสิ่งที่บ่งบอกว่า ได้ทำแล้วและเห็นผลจริงในแนวทางทำงานเกาะติดและใช้ชุมชนขับเคลื่อนปัญหานี้ แม้ในหลายพื้นที่อาจจะยังไม่สามารถประเมินผลได้แต่ก็เห็นผลที่สะท้อนเกิดขึ้นในชุมชนในทิศทางที่ดีขึ้น ผู้เขียน, ภญ.กนกพร ธัญมณีสินและ ภก.สุโรจน์ แพงมา ได้รับโอกาสไปแลกเปลี่ยนการทำงานกับพื้นที่ โนนคูน จ.ศรีสะเกษ เมื่อกลางปี 2559 ในประเด็นการจัดการปัญหายาไม่เหมาะสมในชุมชน ได้ร่วมเป็นฟันเฟืองเล็กๆ กลไกการทำงาน  เหตุเกิดที่ไหน ที่นั่นร่วมดำเนินการก่อน”

โนนคูน เป็นอำเภอเล็กๆ ใน จ.ศรีสะเกษไกลจากตัวเมืองพอสมควรแต่มีพื้นที่อยู่ใกล้กับ จ.อุบลราชธานีมากกว่า ที่นี่เจอปัญหายาไม่เหมาะสมไหลบ่าทะลักเข้ามาในชุมชนจำนวนมาก (อาจจะด้วยพื้นที่มีกลไกดักจับปัญหาและสะท้อนปัญหาโดยคนในพื้นที่จริงๆ ที่ดีจึงทำให้เห็นปัญหา) ความน่าสนใจของพื้นที่นี้คือ ชุมชนร่วมกันเป็นเจ้าของปัญหา แพทย์ผู้อำนวยการโรงพยาบาล สาธารณสุขอำเภอและเภสัชกรของพื้นที่ ก็ไม่ได้มองเฉพาะปัญหาของตัวเองและมุ่งหวังให้หน่วยงานอื่นและชาวบ้านมาช่วยทำงานเท่านั้น ปัญหาของปศุสัตว์อำเภอ นโยบายของพัฒนาชุมชนพื้นที่ ก็เป็นปัญหาและงานของโรงพยาบาลและสาธารณสุขอำเภอด้วยเช่นกัน

หลายครั้งปัญหาของชาวบ้านโนนคูน ไม่ใช่เรื่องยาและสาธารณสุขสำคัญเป็นอันดับแรก เภสัชกรและแพทย์ก็สนับสนุนช่วยกับชาวบ้านทำงานแก้ไขปัญหานั้นๆ ให้ลุล่วงได้ก่อนและค่อยๆ สานสัมพันธ์แสดงให้เห็นการซ้อนทับและความสัมพันธ์ระหว่างปัญหาพื้นฐานเรื่องปากท้อง ความเป็นอยู่กับปัญหาความเจ็บป่วยนั้นล้วนเชื่อมโยงกัน สามารถทำร่วมกันและแก้ไขปัญหาไปพร้อมๆ กันได้  

ผู้เขียนได้พบกับตัวเองเมื่อมีโอกาสเข้าไปช่วยทำงานที่โนนคูนคือ ระหว่างที่ร่วมแลกเปลี่ยนกับชาวบ้าน ตัวแทนเจ้าหน้าที่อยู่นั้น ก็มีข้อมูลแจ้งว่ามีคนเข้ามาเร่ขายยาในพื้นที่ อยากให้ผู้เขียนและทีมช่วยทำงานกับพื้นที่ด้วย หลังจากได้รับข้อมูลไม่นาน ทีมทำงานของพื้นที่ก็พร้อมหน้ากัน ทราบว่าข้อมูลและข่าวที่แจ้งมานั้น เกิดจากชาวบ้านและ อสม.ช่วยกันแจ้งข่าวมายังเภสัชกรของโรงพยาบาล ว่ามีคนมาเร่ขายยาในหมู่บ้าน เดี๋ยวชาวบ้านจะช่วยถ่วงไว้ไม่ให้ออกจากหมู่บ้าน สักพักผู้เขียนก็ได้พบทีมทำงาน ทั้งแพทย์ ปศุสัตว์อำเภอ เจ้าหน้าที่จากสาธารณสุขอำเภอ ตำรวจในพื้นที่ ผู้ใหญ่บ้านและตัวแทน อสม. ซึ่งเราใช้เวลาวางแผนไม่นานก็เข้าพื้นที่และสกัดจับรถเร่ขายยาในพื้นที่ได้

ถ้าตัดภาพเฉพาะการวางแผนและดำเนินคดีก็ดูเหมือนจะไม่มีอะไร แต่ข้อความระหว่างบรรทัดก่อนและหลังเหตุการณ์นั้นเต็มไปด้วยตัวอักษรมากมาย ข้อมูลที่ชาวบ้านแจ้งส่งต่อข้อมูลมายังเจ้าหน้าที่นั้น ไม่สามารถบังคับกันได้ถ้าขาดความเชื่อมั่นไว้วางใจ ผูกใจรักใคร่ช่วยเหลือกันมาก่อน สะท้อนให้เห็นการฝังตัวทำงานในพื้นที่ร่วมกันกับชาวบ้านมานาน ทั้งการได้รับความร่วมมือจากแพทย์ ปศุสัตว์อำเภอ ตำรวจโดยไม่ต้องร้องขอเป็นทางการก็ออกมาสนับสนุนการทำงานทันที และภายหลังการจับกุมก็มีการประสานความร่วมมือกับสาธารณสุขจังหวัดให้ดำเนินการจัดการปัญหาต่อได้ สิ่งเหล่านี้คือเบื้องหลังและเงื่อนไขเล็กๆ ที่สำคัญของชุมชนที่ทำให้การจัดการปัญหาสำเร็จลุล่วงได้

หลายพื้นที่ในวันนี้ เช่น โนนสัง หนองบัวลำภู เภสัชกรก็ให้เวลากับแนวทางการทำงานเกาะติด ใช้กลวิธีให้ชุมชนเป็นกลไกในการจัดการปัญหาเอง จากเดิมที่ชาวบ้านมองแบบแยกส่วนกับเจ้าหน้าที่ เมื่อผ่านการทำงานเรียนรู้เข้าใจ มองเห็นเป้าหมายเดียวและเกิดความไว้วางใจในที่สุด

ผู้เขียนได้มีโอกาสสัมผัสและเห็นน้องเภสัชกรและทีมงานเข้าไปทำประชาคมในหมู่บ้าน บางครั้งมืดค่ำก็ยังเข้าชุมชนไปสนับสนุนการทำงานกับเจ้าหน้าที่ ถ้าสลายกรอบงานเค้า-งานเรา ชาวบ้าน-เจ้าหน้าที่ ให้เจือจางลงได้ก็จะไม่เห็นว่าเป็นภาระที่หนักนอกเหนือหน้าที่รับผิดชอบ สิ่งเหล่านี้ต้องให้เวลาและค่อยๆ เรียนรู้แก้ไขปัญหา

6 ชุมชน 18 พื้นที่จึงไม่ใช่พื้นที่ต้นแบบหรือนำร่องแต่เป็นพื้นที่แห่งกำลังใจ พื้นที่ของเพื่อนที่พร้อมจะสนับสนุนการทำงานกันและกัน พื้นที่ซึ่งแสดงดอกผลของการทำงานแบบเกาะติดการแก้ไขปัญหายาไม่เหมาะสมในชุมชนอย่างเกิดมรรคผล วันข้างหน้าพื้นที่เหล่านี้อาจอ่อนกำลังลงและอาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้สำเร็จ ก็ไม่ใช่สิ่งที่สำคัญอะไรเพราะอย่างน้อยวันนี้เมล็ดพืชของคนทำงานแบบเกาะติดที่เคยถูกหว่านไปในหลายพื้นที่ในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศนั้นได้เติบโต ผลิบานและเริ่มแพร่พันธุ์แล้ว ความงดงามหาได้อยู่ที่ความสำเร็จปลายทางแต่เพียงอย่างเดียว บางครั้งการสร้างกลไกและคนทำงานของพื้นที่ให้เกิดขึ้นอาจสำคัญกว่าผลสำเร็จการแก้ไขปัญหาที่ชี้วัดออกมาเป็นตัวเลข

บทเรียน 40 ปีของปัญหาสเตียรอยด์บ่งบอกว่า ปัญหาปรับเปลี่ยนตัวเองอยู่ตลอดเวลา ต้องเท่าทันและควบคุมไม่ให้ปัญหาไม่ให้สร้างผลเสียหายต่อประชาชนได้พร้อมๆ กับการมีกลไกดักจับและสะท้อนปัญหาที่ดีและมีประสิทธิภาพอยู่ตลอดเวลา น่าจะชี้วัดความสำเร็จของการจัดการปัญหายาไม่เหมาะสมของสังคมไทยได้ดีกว่าการจัดการปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้นได้จริงสำหรับบริบทสังคมไทย

ผู้เขียน : ภก.สุภนัย ประเสริฐสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองบัวลำภู, ผู้ประสานงานเครือข่ายจัดการปัญหาสเตียรอยด์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, เครือข่ายติดตามปัญหายาชายแดนและผลิตภัณฑ์สุขภาพข้ามแดน

ภก.สุภนัย ประเสริฐสุข



[1] https://news.thaipbs.or.th/content/260547

[2] http://www.isranews.org/isra-news/item/54300-medicine-54300.html

[3] http://www.manager.co.th/OnlineSection/ViewNews.aspx?NewsID=9600000020039

[4] เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด, ลอง จ.แพร่, โนนสัง จ.หนองบัวลำภู, สีชมพู จ.ขอนแก่น, ปทุมราชวงศา จ.อำนาจเจริญ, โนนคูณ จ.ศรีสะเกษ)

[5] วารินชำราข จ.อุบลราชธานี, ดอกคำใต้ จ.พะเยา, เวียงแก่น จ.เชียงราย, เวียงสา จ.น่าน, ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ, วาริชภูมิ - วานรนิวาส – สว่างแดนดิน –พรรณนานิคม จ.สกลนคร, น้ำพอง-บ้านฝาง จ.ขอนแก่น, ด่านซ้าย จ.เลย, สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา, เสนางคนิคม จ.อำนาจเจริญ,โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี, เขาชัยสน จ.พัทลุง, พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.อุทัยธานี