กพย.ย้ำอันตรายยาชุด ชี้มีส่วนผสมของยากลุ่มเอ็นเสด รับประทานมากมีพิษทำลายไต ขณะที่สถานการณ์โรคไตน่าเป็นห่วง ผู้ป่วยแตะ 8 ล้านคน ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายพุ่งปีละ 8,000 ราย จี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดระบบควบคุมตรวจสอบยาตั้งแต่นำเข้าถึงร้านขายของชำ พร้อมเข้มงวดจับกุมขจัดยาชุดให้หมดจากประเทศไทย
ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จัดแถลงข่าว “ยาที่เป็นอันตรายต่อไต” เนื่องในโอกาสวันไตโลก 9 มี.ค. 2560 โดยย้ำเตือนถึงอันตรายจากการใช้ยาในกลุ่มเอ็นเสดอย่างไม่สมเหตุผลว่า เป็นอันตรายต่อเนื้อเยื่อไตและเป็นสาเหตุให้เกิดอาการไตวายเรื้อรัง รวมทั้งเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้มงวดจับกุมการขายยาชุด และมีระบบการตรวจสอบการกระจายยาตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
ศ.นพ.ชัยรัตน์ ฉายากุล อายุรแพทย์โรคไต คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และประธานอนุกรรมการโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาสมเหตุผล กล่าวว่า จากการสำรวจสถิติผู้ป่วยโดยสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย พบว่าประชากรไทย 17% หรือประมาณ 8 ล้านราย กำลังป่วยด้วยโรคไตเรื้อรัง ถือเป็นตัวเลขที่สูงมาก และสูงเป็นลำดับ 3 ของประเทศในอาเซียน และที่น่าเป็นห่วงคือในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายประมาณ 2 แสนคน และมีอัตราการเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 8,000 ราย
ศ.นพ.ชัยรัตน์ กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคไตวายเรื้อรัง ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากเบาหวานและความดันเลือดสูง แต่อีก 5-10% เกิดจากการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม คือ 1.กลุ่มยาแก้ปวดในกลุ่มเอ็นเสด (NSAID) 2.ยาปฏิชีวนะที่ใช้โดยไม่จำเป็นและ 3.ยาบำรุงหรือยาเสริมที่ใช้กันทั่วไป
“ยาที่ทำให้เกิดโรคไต พบในผู้ป่วย 4 แบบ คือ 1.ทานยาที่เป็นพิษต่อไตโดยตรง แบบนี้พบบ่อยที่สุด 2.ยาที่มีผลให้เลือดไปเลี้ยงไตน้อยลง 3.ยาที่ทำให้เกิดการตกตะกอนในท่อไตหรือท่อปัสสาวะ 4.แพ้ยา นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับขนาด ปริมาณ และระยะเวลา หากทานต่อเนื่องเป็นเวลานานก็จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคไตวายเรื้อรัง ดังนั้นถ้าดูแลการใช้ยาให้เหมาะสมได้ดีขึ้น เชื่อว่าปัญหาโรคไตก็จะดีขึ้นตามไปด้วย” ศ.นพ.ชัยรัตน์ กล่าว
ด้าน ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล ประธานคณะทำงานสร้างเสริมความเข้มแข็งภาคประชาชนด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผล กล่าวว่า อยากจะเน้นย้ำในเรื่องการใช้ยากลุ่มเอ็นเสด หรือ ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เอ็นเสดเป็นชื่อกลุ่มยาซึ่งมีชื่อยาแยกย่อยนับสิบๆ ชื่อ เช่น ไดโคลฟีแนค (Diclofenac) ไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) เมเฟนามิค (Mefenamic) ฯลฯ ซึ่งหากรับประทานจำนวนมาก หรือไม่สมเหตุผล จะมีผลเสียต่อไต นอกจากนี้ ยังมีผลเสียอื่นๆ เช่น ทำให้เป็นแผลในกระเพาะอาหาร ทำให้เส้นเลือดหัวใจอุดตัน ความดันตก เป็นพิษต่อเลือดและเกร็ดเลือด เป็นต้น
“ถ้าทานยาโดยขาดความรู้ ไม่สมเหตุผล เท่ากับเรากำลังกินยาพิษเข้าไป ผู้ป่วยบางรายเป็นนักกีฬา แต่ซื้อยาชุดมาทานเองเพื่อลดอาการปวดอักเสบ แต่มีผลทำให้ไตวายจนสุดท้ายถึงขั้นเสียชีวิตก็มี” ผศ.นพ.พิสนธิ์ กล่าว
ผศ.นพ.พิสนธิ์ กล่าวอีกว่าในส่วนของผู้กำกับดูแลนโยบายอย่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เข้าใจถึงปัญหานี้เป็นอย่างดี และสนับสนุนโครงการโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล เพื่อดูแลการใช้ยาอย่างเป็นระบบ โดยมีตัวชี้วัดว่าโรงพยาบาลรัฐไม่ควรจ่ายยาเอ็นเสดอย่างซ้ำซ้อนเกิน 5% ของจำนวนประชากร และไม่ควรจ่ายยาเอ็นเสดเกิน 10% ในกลุ่มผู้ป่วยไตวายระดับ 3 ขึ้นไป
ขณะเดียวกัน ฉลากยาในโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล จะออกแบบเป็นภาษาไทยเพื่อให้ประชาชนอ่านเข้าใจ มีคำเตือนและข้อระวังการใช้ ตลอดจนมีคำอธิบายต่างๆ ในซองยา ดังนั้นในจุดนี้ประชาชนจะมีความปลอดภัยมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ที่น่ากังวลคือประชาชนยังสามารถเข้าถึงยากลุ่มเอ็นเสดได้เป็นการทั่วไปนอกเหนือจากโรงพยาบาล โดยเฉพาะยาชุดซึ่งมีราคาถูกและซื้อหาง่ายมาก ทั้งร้านขายของชำในต่างจังหวัด หรือแม้แต่ใน กทม.ก็มีขายอย่างแพร่หลาย ในยาชุด 1 ชุด มักมียากลุ่มเอ็นเสดซ้ำซ้อนกัน 2-3 เม็ด บางชุดเขียนว่ายาบำรุงไตเสียด้วยซ้ำ
“ประเด็นนี้มีการขับเคลื่อนมานานหลายปี แต่สถานการณ์ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ดังนั้นขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำจัดยาชุดออกไปจากประเทศไทย และมีกระบวนการควบคุมยาในทุกจุดที่มีการจ่ายยา ทั้งที่โรงพยาบาล คลินิก ร้านขายยา ส่วนจุดที่ไม่ใช่จุดจ่ายยา เช่น ร้านขายของชำ ต้องเข้มงวดกวดขันในการจับกุมเพราะการขายยาแบบนี้ ผู้ขายไม่ใช่เภสัชกร และการขายยาชุดมีโทษจำคุก 5 ปี ปรับ 2 หมื่นบาท รวมทั้งสื่อมวลชนต้องเกาะติดประเด็นสร้างการรับรู้ในสังคมด้วยเช่นกัน” ผศ.นพ.พิสนธิ์ กล่าว
ขณะที่ ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวว่าปัญหายาชุดเหล่านี้ไม่ได้ลอยมาจากฟากฟ้า แต่มีที่มาตั้งแต่การนำเข้า การขึ้นทะเบียนยา ผลิตที่โรงงานไปจนถึงร้านขายส่ง ขายปลีก ไปถึงร้านขายของชำ ที่ผ่านมามักเจอคนไข้เมื่ออาการหนักแล้ว โจทย์คือหาให้เจอว่ายาเหล่านี้มาได้อย่างไร และทำอย่างไรจึงจะสแกนให้เจอตั้งแต่ในระดับชุมชน
ผศ.ภญ.นิยดา กล่าวอีกว่า สำหรับข้อเรียกร้องในเชิงระบบนั้น เสนอให้มีการจัดการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดย 1.ถอนทะเบียนยาที่ไม่เหมาะสม เช่น ยาเอ็นเสดที่ผสมสเตียรอยด์ จากการสืบค้นทะเบียนยาของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พบว่ายาที่ขึ้นทะเบียนบางตัวมีส่วนผสมที่ไม่เหมาะสม เช่น ยาทะเบียน2A6/2550 มีส่วนผสมของเอ็นเสดและสเตียรอยด์ โดยบอกว่า Export Only ซึ่งหากคนในประเทศไม่ควรทาน คนในประเทศอื่นก็ไม่สมควรได้ทานด้วย
2.ยาบางกลุ่มต้องย้ายประเภท ยาเอ็นเสดชนิดฉีดต้องควบคุมมากกว่ายาอันตราย ร้านขายยาไม่ควรขาย เพราะขณะนี้เริ่มมีการใช้ยาเอ็นเสดชนิดฉีดโดยอ้างว่าทำให้ไม่มีผลกับกระเพาะ ทั้งๆ ที่ในความจริงแล้วมีผลไม่ต่างจากชนิดรับประทานแต่อย่างใด
3.จัดระบบควบคุมการกระจาย ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายทางในชุมชน โรงงานถ้าผลิตยาเม็ดใดๆ ควรมีรายงานการผลิตและรายงานการจำหน่ายที่ตรวจสอบได้ ที่ผ่านมายาบางตัวระบุว่าส่งออกเท่านั้น แต่กลับมีขายในประเทศและซื้อหาได้ทั่วไป
นอกจากนี้ ยังควรกำกับดูแลการโฆษณาชวนเชื่อ ด้วยการชี้แจงข้อเท็จจริงให้ประชาชนรับทราบ เช่น ยาเอ็นเสดที่ใช้ภายนอก สามารถโฆษณาได้ แต่กลับใช้ชื่อเดียวกันทั้งยากินและยาภายนอก ก็เท่ากับโฆษณายากินเช่นกัน
ด้านนายธนพล ดอกแก้ว ประธานครือข่ายพลเมืองขับเคลื่อนสิทธิด้านสุขภาพ (Healthy Forum) เครือข่ายผู้ป่วยโรคเรื้อรัง กล่าวว่า ตนเป็นหนึ่งในผู้ป่วยโรคไตที่เมื่อรู้ว่ามีอาการป่วยเกี่ยวกับไต ก็พยายามหาทางรักษาด้วยการซื้อยากินเองโดยไม่ทราบว่ายาที่รับประทานมีฤทธิ์ทำลายไต
“จริงๆแล้ว การรักษามีแค่ 3 วิธี คือ 1.ฟอกเลือด 2.ล้างไตทางช่องท้อง และ 3.ปลูกถ่ายอวัยวะ สิ่งที่เราทำมาทั้งหมด จากโฆษณา จากคำบอกเล่า มันเป็นเรื่องโกหกทั้งนั้น ดังนั้น ข้อแนะนำสำหรับผู้ป่วยไตก็คือ ให้ไปพบแพทย์ ไปตรวจตรงเวลา ไม่ซื้อยากินเอง ปฏิบัติตัวตามแพทย์สั่ง แค่นี้ก็จะปลอดภัย” นายธนพล กล่าว
- 436 views