“ยารักษาโรค” เป็น 1 ในปัจจัย 4 ที่ทุกคนเกี่ยวข้องตลอดทุกช่วงชีวิต แต่ถึงแม้จะคุ้นชินเพียงใดก็ยังพบการใช้ยาที่ “ไม่สมเหตุสมผล” ให้เห็นอยู่เสมอ
ปัญหาใหญ่ที่ฝังรากลงลึกในระบบสาธารณสุขไทย ก็คือ “การใช้ยา” ไม่ว่าจะเป็นการสั่งยาไม่สมเหตุผลโดยแพทย์ การซื้อยารับประทานเองตามความเชื่อ หรือพฤติกรรมการรับประทานที่ไม่ถูกต้อง
ผลพวงจากการใช้ยาไม่ถูกต้อง นำมาซึ่งความสูญเสียโดยไม่จำเป็น เช่น ปัญหาเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ ที่ทุกๆ 15 นาทีจะมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาฯ 1 ราย
สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจปีละกว่า 1 หมื่นล้านบาท
เพื่อจัดการปัญหาข้างต้น โครงการโรงพยาบาลที่ใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล หรือ Rational Drug Use (RDU) Hospital จึงเกิดขึ้น หวังกระตุ้นให้บุคคลากรทางการแพทย์ตระหนักถึงสภาพปัญหา เกิดจิตสำนึก และให้ความสำคัญต่อการใช้ยาอย่างเหมาะสม เพื่อประโยชน์ของผู้รับบริการโดยรวม
นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา กรรมการสุขภาพแห่งชาติ ให้ภาพนโยบายระดับชาติว่า รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ทำหน้าที่ดูแลเรื่องยาในระดับประเทศ โดยกำหนดยุทธศาสตร์ 4 ด้าน ซึ่ง 1 ในนั้นคือ “การใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล” และมีการตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล ที่มี ศ.คลินิก อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เป็นประธาน เพื่อดูแลเป็นการเฉพาะ
“คณะอนุกรรมการชุดนี้ได้หารือกันและเห็นว่าควรมุ่งเน้นไปที่ผู้ให้บริการ หรือ Provider โดยโฟกัสไปที่โรงพยาบาลของรัฐ ตลอดจนเครือข่ายโรงพยาบาลระดับมหาวิทยาลัย (UHOSNET) ด้วย ซึ่งเป็นเป้าหมายในการเป็น RDU” นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าว
ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล อาจารย์ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยสถานการณ์การใช้ยาอย่างไม่สมเหตุผลในประเทศไทยว่า มีการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่สมเหตุผลถึง 91.2% Static 80.6% ยาต้านเชื้อรา 74% Vancomycin 59.5% Allopurinol 46.9% เป็นต้น
สำหรับประเด็นที่ไม่สมเหตุสมผล มีตั้งแต่การใช้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ ไม่ถูกขนาด ไม่ถูกระยะเวลา
ผศ.นพ.พิสนธิ์ กล่าวต่อไปว่า โครงการ RDU Hospital จะเป็นต้นแบบการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งจะแสดงให้เห็นว่าการใช้ยาอย่างสมเหตุผลเป็นอย่างไร ขณะนี้มีโรงพยาบาลเข้าร่วมโครงการประมาณ 50-60 แห่ง จากนั้นจะเน้นการพัฒนาระบบ และการตระหนักรู้แก่ทุกคนที่อยู่ในวงจรการใช้ยา
รายละเอียดของโครงการ RDU Hospital มี “คีย์เวิร์ด” สำคัญที่ใช้เป็นกรอบของการดำเนินงานคือ PLEASE
ตัว P คือ PTC (Pharmacy and Therapeutics Committee) หรือ คณะกรรมการเภสัชกรรมและการบําบัด ซึ่งต้องการสร้างเกณฑ์มาตรฐานการปฏิบัติงานตามกรอบองค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อเป็นตัวหลักนำไปสู่การใช้ยาอย่างสมเหตุผล
ตัว L คือ Label หรือฉลากยา เอกสารที่แปะบนซองยาที่ให้ข้อมูลอย่างเพียงพอแก่ผู้ใช้ ยกตัวอย่างเช่น ยา Antibiotics โรงพยาบาลบางแห่งเขียนว่ายาแก้อักเสบ สร้างความเข้าใจผิดว่าอาการอักเสบหรือติดเชื้อไวรัสก็กินยานี้ได้ ทำไมไม่เขียนว่ายาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย
“หรือแม้แต่ยาพาราเซตามอล ก็เขียนเป็นภาษาอังกฤษ ไม่เขียนเป็นภาษาไทย ทั้งๆ ที่มีคนไทยอีกจำนวนมากอ่านภาษาอังกฤษไม่ออก หรือยา Colchicine ก็มีผู้เสียชีวิตมาแล้ว เพราะฉลากไม่บอกว่าหากทานแล้วท้องร่วงให้หยุดทาน คนไข้ก็ทานเรื่อยๆ จนตาย” คืออันตรายที่คุณหมอพิสนธิ์แสดงความกังวล
สำหรับ ตัว E คือ Essential tools หรือเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับการใช้ยาอย่างสมเหตุผล เช่น ระบบที่เภสัชกรตรวจสอบการสั่งยาของแพทย์และท้วงติงได้ เพื่อป้องกันการสั่งยาไม่สมเหตุผล
ตัว A คือ Awareness การสร้างความตระหนักรู้แก่บุคคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย ตัว S คือ Specail population ว่าการใช้ยาในคนสูงอายุ เด็ก สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร และผู้ป่วยกลุ่มพิเศษดีพอแล้วหรือยัง และตัว E คือ Ethics หรือจริยธรรมในการสั่งใช้ยา
ด้าน ศ.นพ.ชัยรัตน์ ฉายากุล อาจารย์คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า แม้การใช้ยาอย่างไม่สมเหตุสมผลจะมีปัจจัยหลายด้าน แต่ที่สำคัญคือ “ผู้สั่งใช้ยา” หรือ แพทย์ จึงต้องเริ่มที่โรงเรียนแพทย์ว่าได้ผลิตแพทย์ที่มีการความสามารถในการสั่งยาหรือไม่
ทั้งนี้ คณะทำงานของคณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลมีข้อสรุปว่าจะทำ 2 เรื่องใหญ่ๆ ที่มีผลกระทบสูง คือ1.มีหลักสูตรกลางสำหรับการเรียนการสอนเรื่องการใช้ยาอย่างสมเหตุผล และเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยของผู้ป่วย (Patient Safety) 2.การสนับสนุนเรื่องการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลในโรงพยาบาลภาครัฐ ผ่านประสบการณ์คลินิก
“1 ใน 5 อันดับแรกของความผิดพลาดของแพทย์จบใหม่ทั่วโลกคือการใช้ยาไม่เหมาะสม พบว่าเป็นการสั่งแบบคาดเดากว่า 50%และ1 ใน 3 เขียนใบสั่งยาไม่ถูกต้อง 2 ใน 3 ไม่เคยให้ข้อมูลการใช้ยาแก่ผู้ป่วย” ศ.นพ.ชัยรัตน์ กล่าวถึงเหตุผลที่ต้องเริ่มผลักดันตั้งแต่นักศึกษาแพทย์
คุณหมอชัยรัตน์ เสนอว่า จำเป็นต้องสร้าง “หลักสูตรกลาง” ในการเรียนการสอนเรื่องยาเพื่อใช้กับโรงเรียนแพทย์ทุกแห่ง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการวางเนื้อหาการสอน
ขณะที่ ภญ.วิชชุนี พิตรากูล จากสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ.ให้มุมมองทั้งในส่วนของ สรพ. และในมุมของผู้ปฏิบัติ โดยในมุมมองของ สรพ.นั้น มีแนวคิดพื้นฐานเรื่อง Hospital accreditation จะเน้นกระบวนการเรียนรู้ด้วยตัวเองของโรงพยาบาล โดยที่ สรพ. เป็นตัวกระตุ้นให้เห็นถึงปัญหาและแนวทางแก้ไข เช่น เรื่องการใช้ยา ต้องออกมาจากข้างในของผู้ปฏิบัติงาน หรือแม้แต่ผู้บริหารว่ามีปัญหาอย่างไร ทำแล้วมีประโยชน์และอยากจะทำ ซึ่งจะทำให้เกิดความยั่งยืนในการขับเคลื่อนระบบงานมากกว่า
ส่วนมุมมองในฐานะผู้ปฏิบัตินั้น มองว่าปัจจัยที่จะทำให้ RDU ไม่สำเร็จ คือถูกสั่งให้ทำ เช่น ถูกสั่งให้ประเมินการใช้ยาในโรงพยาบาล ทั้งๆ ที่โรงพยาบาลนั้นอาจไม่มีปัญหาเลย รวมทั้งทำแล้วเภสัชกรอาจจะขัดแย้งกับหมอ เพราะเมื่อหมอสั่งยาแล้วเภสัชกรโต้แย้ง หมอจะรู้สึกว่าถูกตรวจสอบตลอดเวลา เป็นหลุมพรางความขัดแย้งในทางปฏิบัติ
“นอกจากนี้จำเป็นต้องมีการสร้างระบบหรือ Force Function จากฝ่ายนโยบาย เพราะจะให้เภสัชกรมานั่งตรวจใบสั่งยาเป็นรายกรณี เป็นเรื่องที่เหนื่อยมาก รวมทั้งต้อมีการตรวจสอบระบบอย่างต่อเนื่องด้วย” ภญ.วิชชุนี ระบุ
ด้าน ภญ.เนตรนภิส สุชนวนิช ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แจงข้อมูลค่าใช้จ่ายด้านยาที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จากปี 2545 ถึงปัจจุบัน ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว หรือ 40% ของงบประมาณสุขภาพโดยรวม ซึ่งสูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว 2-3 เท่า
ในส่วนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสวัสดิการข้าราชการ ตกอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง
เพราะค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยนอก เป็นค่ายากว่า 60% ผู้ป่วยใน 30% ส่วนสวัสดิการข้าราชการสูงถึง 85% เพราะฉะนั้นในมุมมองรัฐบาล หากต้องการตัดค่าใช้จ่ายก็คงต้องตัดเรื่องยาก่อน
“การใช้ยาอย่างสมเหตุผลส่วนใหญ่พูดในเชิงของโรงพยาบาล เช่น เรื่องใบสั่งยาและข้อบ่งชี้การใช้ยาต่างๆ แต่จริงๆ แล้วต้องเกี่ยวเนื่องไปถึงกระบวนการเลือกยา กระบวนการจัดซื้อ กระบวนการขนส่งด้วย” ภญ.เนตรนภิส กล่าวเสริมข้อเสนอแนะ
- 87 views