กรมควบคุมโรค เผยข้อมูลวันที่ 1 ม.ค. - 31 ส.ค. 2565 พบว่า ประชากรทุกกลุ่มอายุเสียชีวิตจากจมน้ำ รวม 2,883 คน และพบว่าระหว่างปี 2555–2564 มีเด็กจมน้ำเสียชีวิต รวม 7,374 คน หรือ เฉลี่ยวันละ 2 คน เผยวิธีป้องกัน
กรมควบคุมโรค เผยแพร่ “พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์”ฉบับที่ ฉบับที่ 10/2566 ประจำสัปดาห์ที่ 11 (วันที่ 19 – 25 มีนาคม 2566)
เผยข้อมูล เด็กจมน้ำ
จากข้อมูลกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปี 2555-2564 พบคนไทยจมน้ำเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ จำนวน 35,915 คน หรือ เฉลี่ยวันละ 10 คน โดยระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 31 สิงหาคม 2565 พบว่าประชากรทุกกลุ่มอายุเสียชีวิตจากจมน้ำ รวม 2,883 คน และพบว่าระหว่างปี 2555–2564 มีเด็กจมน้ำเสียชีวิต รวม7,374 คน หรือ เฉลี่ยวันละ 2 คน คิดเป็นอัตราอัตราเสียชีวิต 5.0–8.6 ต่อประชากรแสนคน
จากข้อมูลข้างต้นพบว่า แม้แนวโน้มการจมน้ำของเด็กลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่กลับมาพบมากขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดโควิด 19 (ปี 2564 และ 2565) ขณะที่กลุ่มอายุอื่นมีแนวโน้มคงที่มาตลอด แต่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด 19 เช่นเดียวกัน ซึ่งจากผลการวิเคราะห์อัตราการเสียชีวิตในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี พบว่า เด็กอายุแรกเกิด - 4 ปี และอายุ 5-9 ปี มีอัตราการเสียชีวิตสูงสุด คิดเป็น 7.3 ต่อประชากรแสนคน รองลงมาได้แก่ กลุ่มอายุ 10–14 ปี มีอัตราการเสียชีวิต 4.7 ต่อประชากรแสนคน
ในปี 2566 ข้อมูลจากโปรแกรมตรวจสอบข่าวการระบาด ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 16 มีนาคม 2566 พบการรายงานเหตุการณ์จมน้ำเสียชีวิต จำนวน 4 เหตุการณ์ ในเดือนมกราคม ถึงมีนาคม ตามลำดับ เดือนมกราคม มี 3 เหตุการณ์ ที่ สงขลา นราธิวาส และกระบี พบผู้จมน้ำเสียชีวิต 2, 1, 2 ราย ล่าสุดเหตุการณ์ที่ 4 จ.อุบลราชธานี พบจมน้ำเสียชีวิตจำนวน 5 คน เกิดเหตุแพข้ามฟากแม่น้ำมูลล่ม เนื่องจากมีผู้โดยสารจำนวนมากทำให้แพรับน้ำหนักไม่ไหว
การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์ คาดว่าในช่วงนี้มีโอกาสพบการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุการตกน้ำ จมน้ำในกลุ่มเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปีมากขึ้น ประกอบกับระยะนี้เป็นช่วงที่เด็กปิดเทอมและอากาศร้อน เด็กอาจลงเล่นน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติหรือแหล่งน้ำที่ใช้ในเกษตรกรรมบริเวณใกล้เคียง รวมถึงแหล่งน้ำที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยว เช่น ทะเลน้ำตก สวนน้ำ ก็เป็นที่นิยมในช่วงฤดูร้อน จึงอาจมีความเสี่ยงเหตุการณ์เด็กตกน้ำหรือจมน้ำเพิ่มขึ้นได้
แนวทางป้องกัน การจมน้ำ
การป้องกันการเสียชีวิตจากการจมน้ำอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เช่น ผู้ปกครองควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดเน้นย้ำไม่ให้ไปเล่นน้ำกันตามลำพัง ไม่ให้เล่นในบริเวณห้ามเล่นน้ำ/แหล่งน้ำลึก/คลื่นลมแรง ควรสอนวิธีการว่ายน้ำเอาชีวิตรอดและการขอความช่วยเหลือ และให้ลงเล่นน้ำโดยสวมอุปกรณ์ป้องกัน เช่น เสื้อชูชีพ หรือห่วงยาง บุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่ ควรร่วมดำเนินการร่วมกับชุมชนในการสำรวจแหล่งน้ำเสี่ยง จัดการแหล่งน้ำให้ปลอดภัย เช่นการสร้างรั้วกั้น ป้ายเตือน เตรียมอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำไว้บริเวณแหล่งน้ำเสี่ยง และให้ความรู้เรื่องแหล่งน้ำเสี่ยง การป้องกัน และการปฏิบัติตัวเมื่อพบคนตกน้ำ/จมน้ำกับประชาชนทั่วไป รวมถึงเน้นย้ำโรงเรียนให้ความรู้เรื่องดังกล่าวกับนักเรียนอย่างต่อเนื่องตามบริบทพื้นที่ด้วยเช่นกัน
กรมควบคุมโรค ขอแนะนำประชาชนทั่วไปในกรณีพบเห็นคนตกน้ำ ไม่ควรกระโดดลงไปช่วยเพราะอาจจมน้ำพร้อมกันได้ ควรใช้มาตรการ “ตะโกน โยน ยื่น” คือ 1. “ตะโกน” เรียกขอความช่วยเหลือ และโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ เบอร์1669
2. “โยน” อุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวช่วยคนตกน้ำเกาะจับพยุงตัว เช่น ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า หรือวัสดุที่ลอยน้ำ และ 3. “ยื่น” อุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวให้คนตกน้ำจับ เช่น ไม้ เสื้อ ผ้าขาวม้า ให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นมาจากน้ำ สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422”
- 4829 views