กรมควบคุมโรคเปิดคลังข้อมูลสุขภาพ สธ.ปี 63 ตั้งแต่ 1 ม.ค.-30 ก.ย.63 พบเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีจมน้ำถึง 692 ราย ขณะที่ 12-18 ต.ค.63 เสียชีวิตจากการจมน้ำ 7 ราย ส่วนใหญ่พลัดตก ว่ายน้ำไม่เป็น ขาดทักษะเอาชีวิตรอด
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยแพร่ข้อมูลจากมรณบัตรในปี 2562 มีผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำสูงถึง 3,306 ราย เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 559 ราย ส่วนข้อมูลจากคลังข้อมูลสุขภาพ (Health Data Center) ของกระทรวงสาธารณสุข พบว่าในปี 2563 นี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม–30 กันยายน 2563 มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีประสบเหตุจมน้ำมากถึง 692 ราย (การจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี)
นอกจากนี้ ยังพบว่าในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้านี้ (12-18 ตุลาคม 2563) มีผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำรวม 7 ราย จากจังหวัดเชียงใหม่ 3 ราย, สระแก้ว 2 ราย, สตูล 1 ราย และลำปาง 1 ราย สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการพลัดตกน้ำ ว่ายน้ำไม่เป็น ขาดทักษะการเอาชีวิตรอดและการช่วยเหลือที่ถูกต้อง ขาดการจัดการแหล่งน้ำเสี่ยง เป็นต้น”
การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ คาดว่าในช่วงนี้มีโอกาสจะพบอุบัติเหตุจากการจมน้ำได้ เนื่องจากประเทศไทยยังมีฝนตกต่อเนื่องจากอิทธิพลของลมมรสุม ส่งผลให้กระแสน้ำพัดแรงขึ้นและอาจมีน้ำท่วมในหลายจังหวัด ซึ่งฝนที่ตกอย่างต่อเนื่องและมีน้ำท่วมขังหรือไหลเชี่ยวอาจทำให้สภาพพื้นดินเปลี่ยนไปจากเดิม รวมถึงขอบบ่อหรือสระน้ำที่ลื่นมากขึ้น อาจทำให้เสี่ยงพลัดตกน้ำหรือจมน้ำเสียชีวิตได้
กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำประชาชนระวังการจมน้ำในช่วงมรสุม โดยไม่ควรลงไปเล่นน้ำบริเวณที่มีน้ำท่วมขังหรือน้ำเชี่ยว โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก งดการเดินทางทางน้ำหรือกิจกรรมที่ไม่จำเป็น หากจำเป็นต้องเดินทางหรือทำกิจกรรมทางน้ำควรเตรียมอุปกรณ์ชูชีพให้พร้อม ควรสำรวจและเฝ้าระวังพื้นที่บริเวณบ้าน รอบบ้านและชุมชนที่เสี่ยงต่อการพลัดตกและจมน้ำ ทุกคนในชุมชนเฝ้าระวังและแจ้งเตือนประกาศเสียงตามสาย จัดการแหล่งน้ำให้ปลอดภัย สร้างรั้ว ติดป้ายคำเตือน ให้มีอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำไว้บริเวณแหล่งน้ำเสี่ยง
สำหรับประชาชนที่อยู่ในบริเวณน้ำท่วมหรือใกล้แหล่งน้ำไม่ควรดื่มของมึนเมา เพราะอาจเกิดการพลัดตกน้ำได้ ส่วนผู้ประกอบอาชีพทางน้ำควรเตรียมความพร้อมสุขภาพร่างกาย ไม่ควรอยู่ตามลำพังแม้ว่ายน้ำเป็น โดยเฉพาะเด็กและผู้ที่มีโรคประจำตัวควรมีคนดูแลใกล้ชิดเสมอ ที่สำคัญหากพบเห็นคนตกน้ำ ไม่ควรกระโดดลงไปช่วยเพราะอาจจมน้ำพร้อมกันได้ โดยขอให้ช่วยด้วยการใช้มาตรการ “ตะโกน โยน ยื่น” ดังนี้ ตะโกน คือเรียกให้ผู้ใหญ่มาช่วย และโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669 โยน คือโยนอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัว ช่วยคนตกน้ำเกาะจับพยุงตัว และยื่น คือยื่นอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวให้คนตกน้ำจับ เช่น ไม้ เสื้อ ผ้าขาวม้า ให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นมาจากน้ำ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
- 582 views