“สมศักดิ์” เปิดสัมมนาวันป้องกันการจมน้ำโลก ชม “ทีมผู้ก่อการดี” ช่วยเด็กไทยเสียชีวิตลดลงจากปีละ 1,500 คน เหลือ 615 คน ลั่น! ยังไม่พอใจ สั่งเดินหน้าลดให้ถึงเป้า 290 คน พร้อมดึงภาครัฐ-เอกชน ช่วยขับเคลื่อนเรื่องนี้
เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีเปิด เวทีสัมมนาสานพลังเครือข่ายป้องกันการจมน้ำประเทศไทย ในวันป้องกันการจมน้ำโลก (World Drowning Prevention Day: WDPD 2024) โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายกิตติกร โล่ห์สุนทร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายวิชัย ไชยมงคล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายกองตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค คุณมาร์ค แลนดรี ผู้แทนจากองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และผู้บริหารทุกภาคส่วน เข้าร่วม ที่เดอะพอร์ทอล บอลรูม อิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า องค์การสหประชาชาติ และสมัชชาอนามัยโลก เห็นพ้องต้องกันว่า การจมน้ำเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 โดยเฉพาะในเด็กอายุ 5 – 14 ปี จึงมีมติให้ประเทศสมาชิกทั่วโลก ดำเนินงานป้องกันการจมน้ำโดยเร่งด่วน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ประเทศไทย ได้ดำเนินงานเพื่อลดการเสียชีวิต จากการจมน้ำมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการใช้กลยุทธ์ผู้ก่อการดี หรือ มอร์-ริท เมคเกอร์ ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของจิตอาสาในชุมชน ช่วยส่งเสริมความรู้ให้กับสมาชิกในชุมชน ตั้งแต่สอนว่ายน้ำ ไปจนถึงการทำ CPR โดยทีมผู้ก่อการดี กลายเป็นที่รู้จักทั่วโลก และถือเป็นกำลังสำคัญ ที่ช่วยให้ประเทศไทย สามารถลดการเสียชีวิตของเด็กจากการจมน้ำ จากประมาณ 1,500 คน ในปี 2548 เหลือประมาณ 615 คน ในปีปัจจุบัน
“แม้ว่าจำนวนจะลดลงกว่าร้อยละ 60 แต่ตัวเลขนี้ยังคงสูงมาก เมื่อเทียบกับค่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 290 คนต่อปี ที่กำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ดังนั้น วันนี้ ผมจึงมีความยินดี ที่ได้มาพบปะทุกท่าน เพื่อขอบคุณที่ร่วมทำงานเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการจมน้ำ ตามสโลแกนวันป้องกันการจมน้ำโลก“จมน้ำง่ายกว่าที่คิด หนึ่งชีวิตไม่ควรสูญเสีย” โดยการมอบรางวัลการประเมิน ทีมผู้ก่อการดี ป้องกันการจมน้ำ จะเป็นขวัญกำลังใจให้กับทุกท่าน และขอบคุณที่ร่วมทำงานจิตอาสา เพื่อยกระดับการป้องกันการจมน้ำ ให้ได้ตามค่าเป้าหมาย เพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนต่อไป” นายสมศักดิ์ กล่าว
นอกจากนี้ นายสมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า วันนี้ เป็นวันที่สหประชาชาติ ประกาศเป็นวันป้องกันการจมน้ำโลก โดยสาเหตุที่ต้องประกาศวันนี้ เพราะช่วงนี้จะมีฝนตก น้ำหลาก ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันเด็กจมน้ำ จึงมีกิจกรรมรณรงค์เพื่อป้องกัน และเพิ่มความระมัดระวัง ซึ่งที่ผ่านมา ประเทศไทย ก็ได้ให้ความสำคัญเรื่องนี้ จากมีเด็กเสียชีวิต ปีละ 1,500 คน เหลือปีละ 615 คน แต่ตัวเลขก็ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ จึงต้องมีการขับเคลื่อนกันต่อ เพื่อให้ถึงเป้าหมาย 290 คน
เมื่อถามว่าจะขับเคลื่อนอย่างไรให้ถึงเป้าหมาย 290 คน นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ต้องมีการบูรณาการทุกภาคส่วน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข มีเครือข่ายจำนวนมาก ก็จะสามารถช่วยขับเคลื่อนเรื่องนี้ กับทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชนต่อไปได้
ด้านนพ.โอภาส กล่าวว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2557 - 2566) ประเทศไทยพบผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำ 36,503 คน หรือวันละกว่า 10 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี 6,693 คน ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้มุ่งเน้นดำเนินงานป้องกันการจมน้ำ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เนื่องจากเป็นกลุ่มที่เสียชีวิตเป็นอันดับ 1 และมีสาเหตุหลักจากการขาดทักษะการเอาชีวิตรอดและการช่วยเหลือคนตกน้ำ/จมน้ำ ที่ถูกต้อง
เมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา กรมควบคุมโรคได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพครูผู้สอนหลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด ให้กับเครือข่ายทีมผู้ก่อการดีและอาสาก่อการดีป้องกันการจมน้ำ เพิ่มอีก 30 จังหวัด เพื่อให้เด็กและประชาชนในชุมชนทั่วประเทศมีทักษะการเอาชีวิตรอดในน้ำอีกกว่า 1 แสนคน ภายในปี 2567 นี้
นพ.ธงชัย เสริมว่า การจัดกิจกรรมในปีนี้ ประกอบด้วย การสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การดำเนินงานฯ และมอบรางวัลให้แก่ทีมผู้ก่อการดีฯ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่เครือข่ายที่ดำเนินงานป้องกันการจมน้ำ ประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ทั้งภาคสาธารณสุข ภาคท้องถิ่น ภาคการศึกษา หน่วยงานภาคเอกชน นักวิชาการ จิตอาสา และทีมผู้ก่อการดีที่เข้ารับรางวัล รวมทั้งสิ้นประมาณ 500 คน
ขณะที่ ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สสส. ร่วมกับ กรมควบคุมโรค และภาคีเครือข่าย ดำเนินงานจัดการปัญหาในพื้นที่เสี่ยง ภายใต้โครงการสนับสนุนภาคีเครือข่ายในการดำเนินงานป้องกันการจมน้ำ ส่งเสริมบทบาททีมผู้ก่อการดี (MERIT MAKER) เสริมศักยภาพการทำงานในพื้นที่ พัฒนาศักยภาพครูผู้สอนหลักสูตรว่ายน้ำ มุ่งเน้นให้บุคลากรเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานภาคสาธารณสุข ภาคท้องถิ่น ภาคการศึกษา ภาคเอกชน มูลนิธิ จิตอาสา และประชาชนที่สนใจ นำองค์ความรู้ และทักษะที่ได้ไปสอนเด็ก
“ซึ่งปัญหาการจมน้ำในเด็ก มักเกิดในช่วงปิดเทอม จึงเร่งส่งเสริมการแก้ไขปัญหา เพราะเป็นเรื่องที่ป้องกันได้ โดยดำเนินงานต้องอาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วนช่วยทำให้แหล่งน้ำในชุมชนเป็นพื้นที่ปลอดภัย ส่งเสริมให้เด็กมีความรู้ที่จะประเมินความเสี่ยง ระวังเท่าทัน และสามารถปกป้องตัวเองจากการจมน้ำได้รวมถึงให้เกิดการขยายทีมผู้ก่อการดี (MERIT MAKER) ป้องกันการจมน้ำ ที่สามารถกระจายทำงานได้ดีในชุมชนต่าง ๆ เกิดความปลอดภัยในกลุ่มเด็ก และเยาวชน ตลอดจนประชาชนในพื้นที่” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว
- 232 views