คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบแผนเร่งรัดกำจัดโรคไข้มาลาเรีย 6 จังหวัดชายแดนไทย-เมียนมา เหตุพบป่วย สูงขึ้น ปี 66 พบแล้วเกือบ 3 พันราย คิดเป็น 98% ของผู้ป่วยทั้งประเทศ "ตาก" เจอสูงสุดถึงครึ่งหนึ่ง เพราะมีการข้ามแดนมาก เร่งใช้อาสาสมัครช่วยค้นหา จ่อศึกษาจัดหายาตัวใหม่ "ทาเฟโนควิน" มาใช้ กินวันเดียว จากยาตัวเดิมต้องกินให้ครบ 14 วัน
เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2566 ว่า ที่ประชุมเห็นชอบแผนการเร่งรัดกำจัดโรคไข้มาลาเรียในพื้นที่พบผู้ป่วยสูง 6 จังหวัด (ก.พ.-พ.ค. 2566) เนื่องจากสถานการณ์โรคไข้มาลาเรียในปี 2566 พบพื้นที่ที่มีผู้ป่วยสูงและเพิ่มขึ้น 6 จังหวัด ได้แก่ ตาก แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ พบผู้ป่วย 2,991 ราย คิดเป็น 98% ของผู้ป่วยทั้งประเทศ และ จ.ตาก พบผู้ป่วยสุงสุดคิดเป็น 50% ของผู้ป่วยใน 6 จังหวัด สาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเนื่องจากเมื่อพ้นช่วงโควิดแล้วมีการเดินทางข้ามแดนมากขึ้น ทำให้มีผู้ป่วยมากขึ้น
ทั้งนี้ ได้ให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดทั้ง 6 จังหวัด ตั้งคณะทำงานเร่งรัดกำจัดโรคไข้มาลาเรีย ส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสนับสนุนทรัพยากรการดำเนินการกำจัดโรคไข้มาลาเรีย เพื่อบรรลุเป้าหมายปลอดมาลาเรียในปี 2567 ซึ่งจะเน้นการเร่งหาผู้ป่วยและใช้กลไกอาสาสมัครเข้าไปติดตามดูแลผู้ป่วย ส่วนการลดผู้ป่วยตามแนวชายแดนโดยเฉพาะฝั่งประเทศเพื่อนบ้านก็จะอาศัยกลไกสาธารณสุขชายแดนในการแก้ปัญหา
"ที่เราต้องเร่งเข้าไปค้นหาผู้ป่วย เพราะว่าเมื่อมีผู้ป่วย 1 คน มีโอกาสกระจายในหมู่บ้าน จึงต้องใช้กลไกอาสาสมัคร ซึ่งเมื่อก่อนมีอาสาสมัครมาลาเรีย แต่ปัจจุบันลดระดับลงไปก็มีการหารือกันถึง อสม.ที่จะทำงานร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ โดยการตรวจมาลาเรียก็ดีขึ้นมาก ปัจจุบันเราใช้การตรวจแบบ Rapid Test ก็จะรู้ผลไว ขณะที่การจ่ายยาสามารถจ่ายยารักษาได้ในระดับพื้นที่ และพื้นที่ทั้ง 6 จังหวัดนี้ก็มีความคุ้นเคยในการจ่ายยาอยู่แล้ว" นพ.ธเรศกล่าว
นพ.ธเรศกล่าวว่า การรักษามาลาเรียยังได้ผลดี ซึ่งเชื้อมาลาเรียมี 2 ชนิดที่เราพบ คือ พลาสโมเดียม ไวแวกซ์ และพลาสโมเดีย ฟัลซิปารัม ซึ่งส่วนใหญ่เราจะพบเชื้อกลุ่มไวแวกซ์ ซึ่งมีอาการไม่รุนแรง มียารักษาอย่างไพรมาควินที่ต้องกินต่อเนื่อง 14 วัน ทำให้ต้องมีการติดตามการกินยาจนครบคอร์ส ที่ประชุมก็มีการพูดถึงยาตัวใหม่ คือ ทาเฟโนควิน (Tafenoquine) ที่มีประสิทธิภาพในการรักษา โดยกินเพียง 1 วัน จึงได้มอบให้กรมควบคุมโรคไปศึกษาถึงความเป็นไปได้ที่จะจัดซื้อยาตัวนี้เข้ามาใช้ เนื่องจากยานี้ไม่มีบริษัทที่นำเข้ามา ก็จะต้องมาศึกษาซึ่งไม่เพียงเฉพาะต้นทุนเท่านั้น แต่จะต้องดูความคุ้มค่าในเรื่องอื่นด้วย เช่น แม้ยาจะมีต้นทุนหรือราคาที่แพงกว่า แต่สามารถลดการกินยา ทำให้ผู้ป่วยกินยาได้ต่อเนื่องครบคอร์สทำให้ประสิทธิภาพประสิทธิผลการรักษาดีขึ้น ก็ต้องนำมาศึกษาทั้งหมด หากมีการจัดซื้อก็สามารถใช้ระบบการจัดซื้อและงบประมาณของกรมควบคุมโรคในการจัดซื้อได้ และจะมีการศึกษาเพื่อบรรจุเป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติต่อไป
- 533 views