บอร์ด สปสช. รับทราบ 7 ผลงานกองทุนสิทธิบัตรทอง ปี 65 เตรียมเสนอ ครม. และรัฐสภา เผยมีคนมาใช้สิทธิบัตรทองผู้ป่วยใน-นอกเกือบ 170 ล้านครั้ง ขณะที่ สปสช.ยังพัฒนาสิทธิประโยชน์มอบให้ประชาชนต่อเนื่อง มุ่งเน้นการบริการอย่างมีคุณภาพ และเท่าเทียม
ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2566 โดยมี รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมแทน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข (สธ.) ที่ขอลาประชุมเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งประธานบอร์ด สปสช.
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รับทราบผลงานการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2565 ที่นำเสนอโดย นางลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการ สปสช. และมอบหมายให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) และรัฐสภา ตามมาตรา 18 (12) แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ที่กำหนดให้บอร์ด สปสช. ต้องทำรายงานผลการดำเนินงานเสนอเป็นประจำทุกปีภายใน 6 เดือน นับตั้งแต่วันสิ้นปีงบประมาณ
นางลลิตยา กล่าวว่า การนำเสนอผลงานการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2565 ต่อ ครม. และรัฐสภา จะเป็นการเสนอผ่านรูปแบบวีทีอาร์ โดยมีประเด็นนำเสนอ 7 เรื่องที่เป็นผลการดำเนินงานหลักประกันสุขภาพให้กับประชาชน ประกอบด้วย 1. การร่วมจัดระบบบริการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 2. การขยายบริการและยกระดับบัตรทองให้ครอบคลุมทั่วประเทศ 3. นวัตกรรมบริการสุขภาพวิถีใหม่ (New Normal) 4. การเพิ่มสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งขาติ 5. การเข้าถึงบริการสุขภาพตามสิทธิประโยชน์ 6. ความพึงพอใจต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ 7. การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
นางลลิตยา กล่าวด้วยว่า สำหรับในปีงบประมาณที่ผ่านมา มีการจัดระบบบริการสุขภาพรูปแบบใหม่และเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับประชาชนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) หลากหลายรายการ อาทิ การมอบแว่นตาให้กับเด็กสายตาผิดปกติ ผ้าอ้อมสำเร็จรูปผู้ใหญ่ที่มีภาวะพึ่งพิงและผู้ที่มีปัญหากลั้นขับถ่าย เป็นต้น และยังรวมถึงมีนวัตกรรมทางการแพทย์ใหม่ๆ ที่เพิ่มเติมให้ด้วย ทั้งบริการผ่าตัดวันเดียวกลับ 65 รายการ และบริการผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็กอีก 15 รายการ
นอกจากนี้ ช่วงปีที่ผ่านมามีประชาชนสิทธิบัตรทองเข้ารับบริการสุขภาพแบบผู้ป่วยนอกในหน่วยบริการต่างๆ มากถึง 167 ล้านครั้ง หรือเฉลี่ย 3.5 ครั้ง/คน/ปี ขณะที่ผู้ป่วยใน มีผู้มารับบริการ 6.2 ล้านครั้ง
"สปสช.สนับสนุนการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมเพื่อบริการสุขภาพ พร้อมกับเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด รวมถึงเพิ่มความเข้มแข็งของระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ โดยเฉพาะเขตเมือง เพื่อให้ประชาชนรับบริการสาธารณสุขที่จำเป็นอย่างมีคุณภาพและเท่าเทียม" รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
1.สายด่วน สปสช. 1330
2.ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
• Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand
- 145 views