ปลัด สธ. ยืนยัน “กัญชา” เป็นสมุนไพร มีประโยชน์ทางการแพทย์ ด้านอธิบดีกรมการแพทย์ เผยงานวิจัยปี 66 เพื่อยืนยันข้อมูลประโยชน์จากกัญชาช่วยบำบัดผู้ป่วยได้จริง ทั้ง “โรคลมชัก-พาร์กินสัน- โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง-สะเก็ดเงิน-ผิวหนังอักเสบ- ผมร่วง- สิว” ขณะที่สถาบันบำบัดผู้ติดยาฯ ยังวิจัย CBD ลดปัญหาผู้เสพยามีอาการจิตเวช เสี่ยงก่อความรุนแรง และหวังใช้กลุ่มอาการถอนยาในอนาคต ด้าน รพ.นพรัตนฯเปิดแลปทดสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์กัญชา “หมอธงชัย” ย้ำไม่ได้แค่วิจัย ยังมอบหน่วยงานกำกับติดตามผลกระทบจากการใช้
เมื่อวันที่ 23 พ.ย.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยผู้บริหารกรมการแพทย์ และสถาบันเชี่ยวชาญของกรมการแพทย์ทั้งหมด ร่วมแถลงข่าวกัญชาทางการแพทย์รักษาโรคและเวชสำอางกระตุ้นเศรษฐกิจไทย
โดย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. กล่าวว่า กัญชาทางการแพทย์ เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล และกระทรวงสาธารณสุขในการพัฒนาระบบการแพทย์กับประชาชน ซึ่งช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กระทรวงฯ ได้พัฒนาความรู้เรื่องกัญชาต่อการรักษา ซึ่งดำเนินการตามหลักวิชาการเป็นหลัก โดยในประเทศไทยเรื่องนี้เป็นภูมิปัญญาที่มีมายาวนาน จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่รัฐบาลอนุญาตให้นำกัญชามาใช้ทางการแพทย์และวิจัยในปี 2562 โดยกำหนดในแผนบริการสุขภาพ (Service plan) สาขากัญชาทางการแพทย์ เพราะเห็นศักยภาพในการรักษาโรค ที่หลายโรคไม่สามารถรักษาในระบบเดิม
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ได้ดำเนินการครอบคลุมหน่วยบริการของกระทรวงสาธารณสุขกว่า 90% ในปีงบประมาณ 2565 ผู้ป่วยเข้าถึงยากัญชา มากขึ้นถึง 159.64% เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2564 และเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยประคับประคองกว่า 8,000 คน ส่วนการวิจัยมีกว่า 60 เรื่อง ครอบคลุมทั้งการปลูก การผลิต การใช้ และการวางระบบเพื่อคุ้มครองความปลอดภัย ส่งผลให้ปัจจุบันมียากัญชาถึง 10 รายการ ถูกคัดเลือกเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ สำหรับปี 2566 จะมุ่งเน้นให้ผู้ป่วยเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ที่มีคุณภาพและปลอดภัย ซึ่งกรมการแพทย์ได้จัดทำคำแนะนำในการใช้กัญชาทางการแพทย์เป็น 3 กลุ่ม คือ ได้ประโยชน์ น่าจะได้ประโยชน์ และอาจจะได้ประโยชน์
“ที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่ติดภาพจำว่า กัญชา เป็นยาเสพติด แต่ไม่ได้คิดในอีกแง่มุม ซึ่งวันนี้ “กัญชาไม่ใช่ยาเสพติด” เป็นสมุนไพร มีประโยชน์ทางการแพทย์ และอื่นๆอีก ดังนั้น การที่ สธ.นำเรื่องกัญชามาสู่ประชาชน นอกเหนือการรักษา เรายังได้ความรู้ แต่แน่นอนว่า ไม่มีอะไรที่สมบูรณ์ มีประโยชน์ 100% เพราะหากใช้ไม่เหมาะสม ไม่ถูกก็อาจเกิดโทษได้ ดังนั้น ต้องมีความรู้ เดิมเมื่อเป็นยาเสพติด ความรู้หายไป แต่สิ่งอะไรไม่สำคัญเท่าความรู้ ตรงนี้เป็นโอกาสในการนำกัญชามาใช้ความรู้ ส่วนที่เป็นโทษ ต้องกำกับควบคุมให้เกิดโทษน้อยที่สุด ใช้ประโยชน์มากที่สุด บางครั้งเราถูกตั้งคำถามว่า กัญชาต้องเป็นยาเสพติด ซึ่ง สธ.ยืนยันกัญชามีประโยชน์หลายประการ ทั้งสุขภาพ และการพัฒนาทางเศรษฐกิจ” ปลัด สธ. กล่าว
นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ในปี 2566 กรมการแพทย์ในฐานะกรมวิชาการ จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาศึกษา ค้นคว้าและวิจัยองค์ความรู้เกี่ยวกับกัญชาทางการแพทย์ที่สอดคล้องกับภารกิจศูนย์ความเป็นเลิศและเชี่ยวชาญเฉพาะทาง โดยมุ่งเน้นเรื่องประสิทธิผลและความปลอดภัย ซึ่งผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ได้ประโยชน์ในการรักษาโรค เนื่องจากมีหลักฐานทางวิชาการที่มีคุณภาพสนับสนุนชัดเจน ได้แก่ ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด โรคลมชักที่รักษายาก และโรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษา ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งภาวะเบื่ออาหารในผู้ป่วย AIDS ที่มีน้ำหนักตัวน้อย และการเพิ่มคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง
อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวอีกว่า กรมการแพทย์มีหน่วยงาน สถาบันเชี่ยวชาญต่างๆ ทำการศึกษาวิจัยกัญชาจำนวนมาก ทั้งโรคลมชัก ทั้งดูแลผู้ป่วยมะเร็งแบบประคับประคอง โรคสะเก็ดเงิน และอื่นๆอีกมาก เรามุ่งเน้นการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อความมั่นคงทางยาของประเทศไทย เพราะไม่มีบริษัทยารายใดมาวิจัยเรื่องนี้ เนื่องจากเมื่อสกัด CBD ออกมา ไม่มีลิขสิทธิ์ จึงเป็นหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานวิจัยของประเทศต้องศึกษาเรื่องนี้
“นอกจากการศึกษาวิจัย เรามีข้อมูลการติดตามผลกระทบการใช้กัญชาเช่นกัน ซึ่งก็พบว่า บางส่วนมีอาการแพ้ ปวดศีรษะ แต่ไม่ได้รุนแรงจนเสียชีวิต จริงๆช่วงปี 2562 ที่มีการน้ำมันกัญชาแรกๆ คนใช้ก็มีผลกระทบ มีอาการมึนเมา เนื่องจากใช้ไม่ถูกวิธี เพราะผู้ใช้ยังไม่มีความรู้มากนัก หลังจากนั้นเราให้ความรู้เพิ่มขึ้น ปัญหาก็เริ่มลดลง ที่สำคัญยังมอบให้หน่วยงานในกำกับติดตามผลกระทบจากการใช้ด้วยเช่นกัน” นพ.ธงชัย กล่าว
***เปิดรายละเอียดการศึกษาสารสกัดกัญชา CBD เพื่อการบำบัดรักษาผู้ป่วย
00 ผลการศึกษากัญชา CBD สูงรักษาผู้ป่วยเด็กโรคลมชัก
นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า สถาบันประสาทวิทยา ได้ร่วมกับสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ทำการศึกษาวิจัยผู้ป่วยเด็กโรคลมชักรักษายาก เนื่องจากเด็กบางคนมีอาการชัก 50-100 ครั้งต่อวัน และมีการใช้ยาหลายอย่าง แต่ไม่สามารถหยุดชักได้ เบื้องต้นทีมวิจัยได้ศึกษาโดยใช้สารสกัดกัญชา CBD สูง ซึ่งพบว่า 100% ที่เข้ามาด้วยอาการชักรักษายาก มี 14% หยุดชักได้เลย จากนั้นได้ขยายต่อเนื่องในการนำมาใช้ได้จริง โดยความร่วมมือกับสมาคมกุมารประสาทวิทยา(ประเทศไทย) เพื่อร่วมกันผลักดันการรักษานี้ให้เข้าสู่สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และเข้าสู่การบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพรบัญชี 3 เมื่อวันที่ 14 พ.ค.2564 ร่วมกับการศึกษาย้อนหลังผลการใช้สารสกัดกัญชา CBD สูงในการรักษาโรคลมชักรักษายากในเด็ก โดยผลเบื้องต้นพบว่า ผู้ป่วย 14 ราย หยุดชักได้ 14% ลดชักมากกว่า 50% เมื่อได้ผลดีในอนาคตจะผลักดันเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพรบัญชี 3 ต่อไป
00 วิจัยโรคพาร์กินสัน หวังให้ผู้สูงอายุคุณภาพชีวิตดีขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาในกลุ่มผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ซึ่งขณะนี้ไทยกำลังเข้าสู่สูงอายุ จะพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น โดยจะมีความทุกข์ทรมานด้านการเคลื่อนไหว ทางจิตใจ ที่ผ่านมามียาลดการเกร็ง แต่ให้ยาสักพักจะมีอาการดื้อยา ไม่ได้ผล จึงมีการใช้สารสกัดกัญชา CBD สูง ในการลดการเกร็ง ซึ่งสถาบันประสาทวิทยากำลังดำเนินการวิจัยอยู่ โดยเบื้องต้นมีการศึกษาขนาดเล็ก ผู้เข้าร่วมวิจัย 21 คน ใช้สารสกัดกัญชา CBD สูง เป็นเวลา 6 สัปดาห์ พบว่า คุณภาพชีวิตดีขึ้น
00 ศึกษาวิจัยสารสกัดกัญชาช่วยผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง
ยังมี “โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง หรืออักเสบ (MS) ได้ผ่านการวิจัยมาแล้ว และกำลังเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพรบัญชี 1 ทั้งนี้ ผู้ป่วยจะมีอาการเกร็ง และเจ็บ ที่ผ่านมาเราให้ยา THC ต่อ CBD 1 ต่อ 1 ซึ่งตีพิมพ์วารสารวิชาการไปแล้วว่า มีประโยชน์ ช่วยลดอาการเจ็บ ลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ ผ่านการวิจัยจากสถาบันประสาทวิทยา
00 แจงกรณีการบรรจุบัญชียาหลักฯด้านสมุนไพรบัญชี 3 คือใช้ในการวิจัย หากปรับบัญชี 1 จะใช้ได้ทุกคน
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีข้อแตกต่างของการผลักดันเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพรบัญชี 1 และ 3 แตกต่างอย่างไร นพ.นพ.ธนินทร์ กล่าวว่า สำหรับบัญชี 3 คือ ยังอยู่ในการวิจัยภาพกว้าง และสามารถใช้โดยผู้เชี่ยวชาญ ถ้าปรับมาบัญชี 1 จะใช้ได้ทุกคน
00 ผู้ป่วยมะเร็งประคับประคองคุณภาพชีวิตดีขึ้น 58%
นพ.สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวนยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้มี 2 ส่วน คือ 1.การดูแลผู้ป่วยมะเร็งแบบประคับประคอง 2.การใช้รักษาตัวโรคมะเร็ง โดยการดูแลผู้ป่วยมะเร็งแบบประคับประคอง มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วย ลดอาการไม่พึงประสงค์ระหว่างการรักษา เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ไม่ได้มุ่งผลการรักษาต่อก้อนมะเร็งโดยตรง ซึ่งสถาบันมะเร็งมีคลินิกกัญชาทางการแพทย์แบบบูรณาการ เป็นการดูแลร่วมกันระหว่างแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทย ข้อมูลปี 2563-2565 ผู้รับบริการรายใหม่แผนปัจจุบัน 433 ราย ผู้รับบริการรายใหม่แผนไทย 52 ราย จำนวนติดตามการรักษา 821 ครั้ง และจำนวนการให้คำปรึกษา 1,441 ครั้ง ซึ่งมีการติดตามข้อมูลสถิติต่างๆ ดังนี้
“ส่วนใหญ่มาด้วยอาการมะเร็งศีรษะและลำคอเป็นส่วนใหญ่ และที่มาเป็นระยะท้ายๆ ถึง 70% ซึ่งมีอาการไม่พึงประสงค์มาก ซึ่งอาการหลักๆ คือ ปวด นอนไม่หลับ คนไข้กลุ่มนี้ส่วนหนึ่งรักษาจากแผนปัจจุบันมาแล้ว แต่ผลอาจไม่ดีขึ้น จึงมาที่คลินิกแห่งนี้ จากการติดตามพบว่า 58% คุณภาพชีวิตดีขึ้น” นพ.สกานต์ กล่าว
00 ผลศึกษากัญชาต่อเซลล์มะเร็งในหนู พบมีสัญญาณดีกรณีมะเร็งเต้านม
ส่วนการรักษาต่อโรคมะเร็ง ยังอยู่ในกระบวนการศึกษาวิจัยทางการแพทย์ เริ่มจากหลอดทดลอง นำเซลล์มะเร็งหลายสิบชนิดมาเลี้ยงในหลอดทดลอง และนำสารสกัดกัญชามาทดลองว่ายับยั้งถึงไหน โดยพบว่ายับยั้งได้ดีในเซลล์มะเร็ง 3 ชนิด คือ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งท่อน้ำดี และมะเร็งเต้านม ซึ่งเราก็นำมาศึกษาต่อในหนูทดลอง โดยการนำเซลล์ไปปลูกถ่ายในหนู และทำการทดลองตามมาตรฐาน ทั้งกลุ่มยาหลอก เทียบกับยาเคมีบำบัดในปัจจุบัน และเทียบกับกัญชาในขนาดต่ำ ขนาดกลาง และขนาดสูง ว่ามีผลอย่างไร
“ผลที่ได้คือ สารสกัดกัญชาสามารถลดการเพิ่มของจำนวนเซลล์มะเร็ง และเพิ่มการตายแบบ Apoptosis หรือการตายไม่อันตรายต่อตัวคน ซึ่งได้ผลดีต่อเซลล์มะเร็งเต้านม และไม่มีผลข้างเคียงต่อาหาร น้ำหนักตัว หรือเลือด ตรงนี้เป็นก้าวสำคัญที่หลังจากนี้ จะสามารถแปลงขนาดยาไปสู่การทดลองวิจัยทางคลินิก หรือในมนุษย์ต่อไป แต่ยังต้องผ่านหลายเฟสจึงจะออกมาเป็นยาได้ แต่ทุกอย่างเป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์” ผอ.สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าว
00 สบยช.วิจัย CBD ลดปัญหาติดยาบ้าและมีอาการทางจิตจนเสี่ยงก่อความรุนแรง
นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี(สบยช.) กล่าวว่า ปัญหาเรื่องคนไข้ติดยาเสพติดและมีอาการทางจิตเวช เป็นปัญหาที่ก่อความรุนแรงได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันคนไข้ยาเสพติดระดับประเทศจะมี 3 กลุ่มใหญ่ๆคือ 1.ผู้ใช้ผู้เสพ ใช้ไม่สม่ำเสมอ ซึ่งมีอาการไม่รุนแรง สามารถดูแลรักษาได้ 2.ผู้ติด มีประมาณ 25% ซึ่งกลุ่มนี้มีภาวะติดยา ต้องใช้ยาตลอดและมีความเสี่ยงเกิดอาการจิตเวช และอาจเกิดความรุนแรงได้ ซึ่งพบว่า 15-20% มีโรคร่วมทางจิตเวชและมีพฤติกรรมเสี่ยงความรุนแรง กลุ่มนี้ต้องรักษาในสถานพยาบาล และ3.ผู้ติดรุนแรงเรื้อรัง จะมีอาการยุ่งยากซับซ้อน
นพ.สรายุทธ์ กล่าวอีกว่า จากสถิติความชุกการใช้ยาเสพติด ยังพบมากคือ ยาบ้า ซึ่งสบยช. มีการศึกษาวิจัยนำสารสกัด CBD มาใช้ในการบำบัดรักษาและลดอันตรายในผู้ป่วยยาบ้า ที่มีอาการทางจิต และมีพฤติกรรมเสี่ยงก่อความรุนแรง (SMI-V) โดยเป็นการวิจัยนำสารสกัด CBD ชนิดหยอดใต้ลิ้น มาใช้ร่วมกับยาต้านอาการทางจิตเวช เพื่อช่วยลดอาการทางจิตและลพพฤติกรรมเสี่ยงก่อความรุนแรง โดยเราแบ่งการทดลอง 2 กลุ่ม คือ กลุ่มใช้ยาจิตเวชร่วมกับสารสกัดกัญชา และกลุ่มที่ใช้ยาจิตเวชร่วมกับยาหลอก โดยเราจะวัดผลการรักษา ทั้งอาการทางเจิตเวช ระหว่างรักษา อาการอยากยาระหว่างรักษา พฤติกรรมเสี่ยงก่อความรุนแรง และการเสพซ้ำ ซึ่งเราก็ต้องมีการติดตามต่อไป โดยเราหวังว่า การวิจัยครั้งนี้จะช่วยลดปัญหาที่คนไข้ที่ติดยาบ้าและมีอาการทางจิตเวชที่เสี่ยงก่อความรุนแรงต่อไปในอนาคต
00 วิจัยกัญชาหวังลดอาการถอนยา อยากยาในอนาคต
นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาสารสกัดกัญชาเปรียบเทียบกับยาทดแทน (Methylphenidate) เพื่อลดอาการถอนยา และอาการอยากยา โดยแบ่งการทดลองเป็น 2 กลุ่มเพื่อเปรียบเทียบกันเรื่องอาการถอนยา อาการอยากยา และติดตามต่อไปในเรื่องการไปเสพซ้ำ ซึ่งหากได้ผลแล้วจะนำไปวิจัยต่อยอดในการนำสารสกัดกัญชา CBD มาใช้ทดแทนเมทแอมเฟตามีนตามแนวทางลดอันตรายจากการใช้ยา
00 เผยสาเหตุใช้ CBD ช่วยผู้ป่วยยาเสพติด พร้อมแจกแนวทางการใช้กัญชาทางการแพทย์ รพ.ทุกระดับ
นพ.สรายุทธ์ กล่าวอีกว่า สาเหตุที่นำมาใช้ในเรื่องผู้ป่วยยาเสพติด เพราะเห็นฤทธิ์ CBD ซึ่งไม่ใช่ยาเสพติด แต่ช่วยผ่อนคลาย ซึ่งคนไข้ใช้ยาบ้าจะมีอาการทางระบบประสาท ก็หวังว่าจะช่วยลดอาการได้ อย่างไรก็ตาม การใช้ตรงนี้ต้องมีผู้เชี่ยวชาญแนะนำการใช้ตามหลักอย่างถูกต้อง ซึ่งกรมการแพทย์ได้จัดทำแนวทางการใช้กัญชาทางการแพทย์ และมีการแจกในรพ.ทุกระดับ ไปจนถึงรพ.สต.และประชาชนสามารถมารับคำปรึกษาได้
00 สถาบันโรคผิวหนังชูศึกษา CBD สู่ 4 โรคผิวหนัง “สะเก็ดเงิน-ผิวหนังอักเสบ-ผมร่วง-สิว”
พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กล่าวว่า สาร CBD มีสรรพคุณเด่น 3 ด้าน คือ 1. ฤทธิ์ต้านสารอนุมูลอิสระ (antioxidant) 2. ฤทธิ์ต้านการอักเสบ (anti-inflammation) และ 3. ปรับสมดุลภูมิคุ้มกัน (Immunomodulatory effects ) ซึ่งสถาบันฯ กำหนดการรักษา 2 ด้าน คือ รักษาโรคผิวหนัง และเวชสำอาง โดยการรักษาโรคผิวหนัง มีการศึกษาวิจัยอยู่ 4 โรค คือ โรคสะเก็ดเงิน โรคผิวหนังอักเสบ ผมร่วง โดยเฉพาะผมร่วงเป็นวง และสิว ซึ่งเกี่ยวกับการอักเสบค่อนข้างเยอะ โดยขณะนี้กำลังศึกษาวิจัย คาดว่าน่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปีครึ่ง เนื่องจากวิจัยในฐานะแพทย์แผนปัจจุบัน จึงใช้ขั้นตอนมาก
00 ชูวิจัยกัญชาสู่เวชสำอางต้นแบบ 18 สูตรตำรับ ใช้นาโนเข้าช่วย
นอกจากนี้ ในเรื่องของเวชสำอางนั้น ทางสถาบันโรคผิวหนัง ได้ค้นคว้าวิจัยสูตรเวชสำอางต้นแบบมาแล้ว 18 สูตรตำรับในระยะเวลา 2-3 ปี ซึ่งมีการพัฒนาปรับระดับการใช้เทคโนโลยีให้สูงขึ้น ซึ่งเราเห็นฤทธิ์ต้านการอักเสบ (anti-inflammation) ที่ได้ผลและใช้โดสค่อนข้างน้อย นอกจากนี้ ยังมีการใช้นาโนเทคโนโลยี (Nanoencapsulation) เข้ามาช่วยในการละลายความคงตัวของตำรับพร้อมที่จะถ่ายทอดให้ภาคเอกชน คือ บริษัท สยามเวลเนส เอมารา จัดจำหน่ายในอุตสาหกรรมเวชสำอางขนาดใหญ่ และ บมจ.สยามเวลเนสกรุ๊ป เจ้าของธุรกิจสปาแอนด์เวลเนส Let's relax ซึ่งเป็นสปาระดับสูงที่มีสาขามากที่สุดในประเทศไทย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ยกระดับไปสู่ Medical and Wellness Service ครบวงจร
00 รพ.นพรัตนฯ ชูห้องปฏิบัติการทดสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์กัญชา
นพ.เกรียงไกร นามไธสง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กล่าวว่า โรงพยาบาลได้เปิด "ศูนย์ห้องปฏิบัติการทดสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์กัญชา" ซึ่งผ่านการรับรองคุณภาพมาตรฐานห้องปฏิบัติการพิษวิทยา โดยสภาเทคนิคการแพทย์ เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2565 และเข้าร่วมทดสอบระหว่างห้องปฏิบัติการ (Inter-laboratory Comparison) สำนักยาและวัตถุเสพติด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ปัจจุบันมีเครื่องตรวจวิเคราะห์คุณภาพผลิตภัณฑ์กัญชา ได้แก่ High Performance Liquid Chromatography (HPLC) สามารถตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญในน้ำมันกัญชา (Potency) 11 ชนิด และ เครื่องมือที่ใช้ตรวจวิเคราะห์ GC-MS/MS (SHIMADZU) สามารถตรวจวิเคราะห์หาสาร Terpenes ในน้ำมันกัญชา 28 ชนิด ปัจจุบันผู้ใช้บริการตรวจ Potency และ Terpene ได้แก่ สถาปันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตว์การแพทย์ และโรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 2315 views