อ่านรายละเอียดข้อเรียกร้อง “ 37 นักวิชาการและภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด” ขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ส. พิจารณายกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับปลดกัญชาเสรี 22 พ.ย.นี้ พร้อมแจงเหตุผล 3 ข้อหลัก ย้ำ! แม้ยกเลิกประกาศสธ. แต่ไทยยังใช้กัญชาทางการแพทย์ได้เช่นเดิม แต่หากไม่ทำจะดำเนินการฟ้องศาลปกครองต่อไป
จากกรณีนักวิชาการและภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด ส่งจดหมายเปิดผนึกฉบับที่ 6 ถึง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ และประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด รวมถึงปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประธานคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด ขอเรียกร้องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดบรรจุวาระเพื่อพิจารณา เรื่อง การยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับปลดกัญชาเสรี และคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดกระทรวงสาธารณสุขเสนอเรื่อง ในการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ส. ในวันที่ 22 พ.ย. นี้
โดยรายละเอียดจดหมายเปิดผนึกดังกล่าว ระบุว่า เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดจากสภาวะสุญญากาศกัญชาเสรีที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางทั่วประเทศไทยในเวลานี้ ขณะที่การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ยังต้องใช้เวลาในการพิจารณาทั้งในสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา อีกระยะหนึ่ง การยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับปลดกัญชาเสรี จึงเป็นทางออกที่จำเป็นและเร่งด่วนอย่างยิ่ง เพื่อปิดสภาวะสุญญากาศกัญชาเสรีทันทีในระหว่างรอการพิจารณากฎหมายกัญชา
ด้วยเหตุนี้ ทางเครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด จึงขอเรียกร้องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดบรรจุวาระเพื่อพิจารณา เรื่อง การยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับปลดกัญชาเสรี และคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดกระทรวงสาธารณสุขเสนอเรื่อง ในการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ส. ในวันที่ 22 พ.ย.2565 นี้ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1.การแก้ปัญหาของกระทรวงสาธารณสุขหลังจากปลดกัญชาเสรีด้วยประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การกำหนดให้ควันและกลิ่นกัญชาเป็นเหตุรำคาญ และ การกำหนดให้กัญชาเป็นพืชควบคุม (ฉบับแรก ห้ามจำหน่ายกัญชาที่ไม่ได้รับอนุญาต และ ฉบับที่สอง ห้ามจำหน่ายดอกกัญชาที่ไม่ได้รับอนุญาต) เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุและไม่ได้ผล เนื่องจาก ไม่มีใครแจ้งจับผู้ที่สูบกัญชาว่าก่อเหตุรำคาญเลย และ กระทรวงสาธารณสุขไม่เคยมีการดำเนินการที่แสดงว่าต้องการบังคับใช้มาตรการห้ามจำหน่ายกัญชาที่ไม่ได้รับอนุญาตเลย เช่น กรณีดังที่เป็นข่าวว่ากระทรวงสาธารณสุขดึงจดหมายด่วนถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกลับในวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งวันหลังจากที่ส่งหนังสือออกไปแจ้งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจับกุมผู้ที่จำหน่ายกัญชาโดยไม่ได้รับอนุญาต มาตรการเหล่านี้จึงไม่ได้ผลทั้งในด้านการออกแบบมาตรการและการบังคับใช้มาตรการ การแก้ปัญหาที่ได้ผลจริงจึงต้องแก้ไขที่ต้นเหตุ คือ การยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับปลดกัญชา
2.การปลดกัญชาเสรีด้วยประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 เป็นความผิดพลาดทางนโยบายตั้งแต่ต้น ด้วยเหตุผล 4 ประการ คือ (i) การปลดกัญชาจากการเป็นยาเสพติดเป็นการกระทำผิดต่ออนุสัญญาว่าด้วยยาเสพติด ค.ศ. 1961 ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีโอกาสถูกลงโทษ (ii) การปลดกัญชาเสรีเกิดจากการอ้างว่าประมวลกฎหมายยาเสพติดมีเจตนาปลดกัญชาจากการเป็นยาเสพติด เพราะไม่มีคำว่า “กัญชา” ในประมวลกฎหมายยาเสพติด แต่กระทรวงสาธารณสุขกลับยังกำหนดให้ “เห็ดขี้ควาย” เป็นยาเสพติด แม้จะไม่มีคำว่าเห็ดขี้ควายในประมวลกฎหมายยาเสพติดเช่นกัน ดังนั้นการไม่มีคำว่ากัญชาในประมวลกฎหมายยาเสพติดจึงไม่ใช่เหตุผลสนับสนุนการปลดกัญชาจากการเป็นยาเสพติด (iii) หากกระทรวงสาธารณสุขยังไม่ปลดกัญชาด้วยประกาศกระทรวงสาธารณสุข แต่เสนอให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาปลดกัญชาด้วยกฎหมายกัญชา จะไม่เกิดสภาวะสุญญากาศกัญชาเสรีแบบในปัจจุบัน เพราะจะเกิดสภาวะกัญชาทางการแพทย์ภายใต้ประมวลกฎหมายยาเสพติดแทน ในระหว่างการพิจารณากฎหมายกัญชา
และ (iv) มติคณะกรรมการ ป.ป.ส. วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2565 กำหนดให้บังคับใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับปลดกัญชาเมื่อพ้น 120 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีกฎหมายกัญชาออกมาควบคุมก่อนที่จะปลดกัญชาเสรี และให้เลื่อนเวลาออกไปได้หากยังไม่มีกฎหมายกัญชาออกมา แต่กระทรวงสาธารณสุขยังคงเดินหน้าให้มีการบังคับใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับปลดกัญชาทั้งๆที่ยังไม่มีกฎหมายกัญชาบังคับใช้ ถือเป็นการฝ่าฝืนมติคณะกรรมการ ป.ป.ส.วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2565 จึงเห็นได้ว่าประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับปลดกัญชาขาดความชอบธรรมและเป็นความผิดพลาดทางนโยบาย ทำให้เกิดการแพร่หลายของกัญชาเพื่อนันทนาการและมีเยาวชนเข้ามาใช้กัญชาให้เห็นได้มากมายทั่วประเทศไทย การยกเลิกประกาศฉบับนี้จึงเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่งและจะเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นทาง
3.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมีอำนาจในการกำหนดเพิ่มเติม เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกรายชื่อยาเสพติดให้โทษได้ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ป.ป.ส. ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 29 วรรคสอง โดยไม่ต้องแก้กฎหมายใดๆ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายนี้มาแล้วถึงสามครั้ง อีกทั้งรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์ทางสื่อสาธารณะว่าแท้จริงต้องการชะลอการบังคับใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับปลดกัญชา เพียงแต่คณะกรรมการ ป.ป.ส. ไม่เรียกประชุมเท่านั้น (ดู https://www.youtube.com/watch?v=5VYQx3y-WMQ นาทีที่ 17) ดังนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ป.ป.ส.) สามารถที่จะยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับปลดกัญชาได้ ซึ่งจะทำให้สภาวะสุญญากาศกัญชาเสรีจะยุติลงทันที ในระหว่างรอการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา และจะทำให้สภามีเวลาในการพิจารณากฎหมายกัญชาได้อย่างรอบคอบต่อไป
หากมีการยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับปลดกัญชา ประเทศไทยจะกลับไปเป็นกัญชาทางการแพทย์ภายใต้ประมวลกฎหมายยาเสพติดดังเดิม ผู้ป่วยที่ต้องใช้กัญชาทางการแพทย์จะยังคงได้รับการรักษาเช่นเดิม หากกระทรวงสาธารณสุขและคณะกรรมการ ป.ป.ส. ไม่มีการดำเนินการในเรื่องนี้ ผู้ฟ้องศาลปกครองเพื่อให้ตัดสินยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับปลดกัญชานี้คงจะต้องดำเนินการต่อไป และ/หรือ ในอนาคตอาจมีประชาชนหรือองค์กรใดดำเนินการฟ้อง ม.157 ทั้งสองหน่วยงานนี้ว่าละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากปรากฏเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า การปลดกัญชาเสรีด้วยประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่คณะกรรมการ ป.ป.ส.มีมติเห็นชอบด้วย ก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อประชาชนมากมาย จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
โดยเครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชนที่ร่วมลงนามในจดหมายเปิดผนึกครั้งนี้มีด้วยกันทั้งหมด 37 คน นำโดย นพ.ชาตรี บานชื่น อดีตกรรมการแพทยสภา อดีตอธิบดีกรมสุขภาพจิต และอดีตอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข นายนิยม เติมศรีสุข อดีตเลขาธิการ ป.ป.ส.และอดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรม นายเพิ่มพงศ์ เขาวลิต อดีตเลขาธิการ ป.ป.ส. ดร.วิโรจน์ สุ่มใหญ่ ที่ปรึกษาคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ สหประชาชาติ นางทิชา ณ นคร ผอ.ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนภิเศษ ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล นักวิทยาศสตร์ Centre for Addiction and Mental Health, Canada เป็นต้น
(ข่าวเกี่ยวข้อง : “อนุทิน” ซัดพรรคร่วมรัฐบาล ขวาง พ.ร.บ.กัญชาฯ หากไม่ทันเลือกตั้งจะนำกลับหาเสียงอีกครั้ง)
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 617 views